ตัวแทนเกษตรกรทั่วประเทศ ร้องเรียนขอความเป็นธรรมครั้งสุดท้าย วอนนายกรัฐมนตรี อย่าลดโควตาโรงไฟฟ้าชุมชน ขอทางรอดให้เกษตรกรไทยยุคโควิด -19

เมื่อวันที่ 27 ม.ค.64 ศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพลังงานไทยลดโลกร้อน และ พล.อ.อนันตร์ บุญรำไพ ประธานชมรมรักเมืองไทย ในนามกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรเพื่อโรงไฟฟ้าชุมชน แถลงข่าว โครงการ "โรงไฟฟ้าชุมชน: วอนนายกทบทวน : ทางเลือกทางรอด เกษตรกร" ภายหลังจากมอบหมายให้ นายธนา กล้าเขตการ กรรมการวิสาหกิจชุมชนฯ และตัวแทนเกษตรกร เดินทางเข้ายื่นหนังสือข้อเรียกร้อง ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่าน นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รมว.กระทรวงพลังงาน และอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อคัดค้านวิธีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน และการลดโควตาโรงไฟฟ้าชุมชน จาก 600 เมกะวัตต์ เหลือ 150 เมกะวัตต์ โดยกระทรวงพลังงานนำเสนอให้มีการเปิดประมูลแทนการจับสลาก

ศ.ดร.สุนทร ระบุว่า นอกจากกระทรวงพลังงานจะเสนอให้มีการลดโควตาจาก 600 เมกะวัตต์ เป็น 150 เมกะวัตต์ แล้วยังเสนอให้มีการประมูล เพื่อเปิดทาง กลุ่มทุนเดิมๆ เข้ามาใช้กระบวนการอันไม่ชอบอีกด้วย ควรใช้วิธีการจับสลากซึ่งโปร่งใสทุกฝ่ายรับได้ ต่อไปในอนาคตจะมีการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ควรมีการเตรียมความพร้อมเรื่องโรงไฟฟ้า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นทางออกที่ดี กระทรวงพลังงานควรมีวิสัยทัศน์ให้กว้างไกล

...

ด้าน พล.อ.อนันตร์ บุญรำไพ ประธานชมรมรักเมืองไทย อยากขอคืนความยุติธรรมให้กับเกษตรกร ข้อร้องเรียนให้ นายกรัฐมนตรี พิจารณาโควตาและวิธีการคัดเลือกโรงไฟฟ้าชุมชน เกษตรกร 80% ของพลเมืองไทย ประมาณ 40 ล้าน เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ส่วนใหญ่ยากจน สวัสดิการต่างๆ ก็แทบไม่มี ใช้วิธีการจับฉลากทั้ง 2 เฟส ที่ผ่านมาเรียบร้อยพิสูจน์ได้ โปร่งใส ทุกฝ่ายรับได้ พอมาถึงโครงการนี้กลับจะใช้วิธีการประมูลซ่อนรูปแฝงเพื่อให้กลุ่มทุนเดิมเข้ามาแบบผูกขาด การวางรากฐานและหลักประกันชีวิตให้ลูกหลานเกษตรกร 25 ปี

"รัฐบาลเองก็มีปัญหาจากการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ มวลชนต่อต้านเพราะกลัวมลพิษ โรงไฟฟ้าชุมชนจึงเป็นความหวังของเราต่างดีใจที่มีโครงการนี้เกิดขึ้น พวกเราจะมีโอกาสได้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าชุมชน ฝันที่เป็นจริงพวกเกษรตรกร ผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมกระทรวงพลังงานและหน่วยงานราชการที่คุมนโยบายพลังงานประเทศ จึงพยายามเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อให้เกิดปัญหา ควรมีวิสัยทัศน์กว้าง เป็นธรรม และสนองเจตนารมณ์ นายกรัฐมนตรี ตั้งใจให้โครงการนี้เป็นสวัสดิการของเกษตรกรที่มีมากกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ ของประเทศ จึงวางรากฐานหลักประกันให้รุ่นลูกรุ่นหลานถึง 25 ปี อย่าลดโควตาจาก 600 เมกะวัตต์ เป็น 150 เมกะวัตต์ อย่าใช้วิธีการประมูล เพราะจะทำให้พวกนายทุนเข้ามาผูกขาด ควรใช้วิธีการจับสลากซึ่งโปร่งใส คนไม่ได้ก็ไม่เสียใจ ยุติธรรม เสมอภาค"พล.อ.อนันตร์กล่าว