• "วัคซีนโควิด" เป็นอีกหนึ่งทางรอดของหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย คาดหวังว่าจะฝ่าวิกฤติโควิดไปได้ โดยวัคซีนลอตแรก 2 ล้านโดสจากจีน กำลังมาถึงไทยในไม่ช้า ฉีดให้กลุ่มเสี่ยงเป็นอันดับแรก

  • ขณะที่รัฐบาลไทย ยังเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีน แต่จะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. และไม่ปิดกั้นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถจัดหาซื้อวัคซีน มาฉีดให้ประชาชน โดยใช้งบส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับแผนของรัฐบาล

  • ท่ามกลางเสียงสนับสนุน พร้อมกับข้อเสนอแนะของบางฝ่าย และการออกมาคัดค้านในมุมมองของอีกหลายคน เกรงว่าจะเป็นการเอื้อต่อการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพไม่เท่ากันในด้านงบประมาณ น่าจะเป็นอีกโจทย์ที่รัฐบาลควรออกระเบียบ กฎเกณฑ์ให้ชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้ 

โควิดระบาดไปทั่ว ความเหลื่อมล้ำชัดเจนระหว่างท้องถิ่น

“บรรณ แก้วฉ่ำ” นักวิชาการด้านการกระจายอำนาจ ในฐานะอนุกรรมาธิการและเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวกับ ”ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ว่า ต้องเข้าใจในเรื่องท้องถิ่นที่สาระของความเป็นท้องถิ่นของแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน แต่ปัญหาการระบาดของโควิดได้ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างท้องถิ่น จนเกิดความเหลื่อมล้ำสูงมาก เนื่องจากท้องถิ่นบางแห่งรายได้มาก และอีกหลายแห่งรายได้น้อย แม้หลายภาคส่วนพยายามทำให้มีรายได้เท่ากัน โดยการแบ่งปัน แต่ภาพรวมการรักษาโรคไม่ได้เกิดเฉพาะในท้องถิ่น ดังนั้นสามารถทำในภาพรวมได้ ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดซื้อ "วัคซีนโควิด"

...

อีกทั้งงบประมาณส่วนท้องถิ่นที่รัฐจัดสรรให้น้อย หากดูทั่วประเทศแล้วน้อยมาก แม้พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจฯ กำหนดให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่ท้องถิ่น โดยพยายามให้ถึง 35% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2549 แต่จนถึงปีงบประมาณปัจจุบันก็ยังจัดสรรให้ท้องถิ่นเพียง 29.5% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล ซึ่งน้อยมาก

และการที่รัฐบาลกู้เงินนำไปใช้จ่ายเพิ่มเติม ในการแก้ปัญหาโควิดโดยตรง โดยหลักแล้วน่าจะนำเงินเหล่านี้ไปแบ่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมาไม่มีการคำนวณจัดสรรให้เพิ่มเติม แม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง สามารถจัดบริการสาธารณะได้ แต่เมื่อโควิดระบาดไปทั่วท้องถิ่น จึงไม่ควรปล่อยให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้แตกต่างกัน

“หมู่บ้านหนึ่งอยู่ในอีกส่วนท้องถิ่น ห่างกันไม่ถึงร้อยเมตร กับอีกหมู่บ้านได้รับการฉีดวัคซีน แต่บางหมู่บ้านที่อยู่อีกส่วนท้องถิ่น ไม่ได้ฉีด มันต่างกันมาก แม้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถทำได้ในการจัดหาวัคซีน แต่รายได้แตกต่างกันจึงไม่สามารถทำได้ หรือกรณีเงินเยียวยา แม้รัฐบาลแจกทุกหลังคาเรือน แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถทำได้ เพราะมีอำนาจในการดูคนในพื้นที่ได้เช่นกัน”

มีเงิน ซื้อวัคซีนโควิดไม่ได้ ติดแก้ระเบียบจัดซื้อกับตปท.

ในประเด็นที่เกรงกันว่าการจัดซื้อวัคซีนโควิดของส่วนท้องถิ่น จะเป็นการหาเสียงเลือกตั้งนั้น ต้องยอมรับการเป็นผู้แทนประชาชน ไม่พ้นการหาเสียง ยิ่งใกล้เลือกตั้งเทศบาล จึงปฏิเสธไม่ได้ แต่วิธีการและขั้นตอนต่างๆ การมีงบอย่างเดียวและจะจัดซื้อวัคซีนทำไม่ได้ ต้องมีผู้มีความรู้ด้านการแพทย์ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งมีไม่เหมือนกัน บางแห่งมีและไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขการแพทย์ อีกทั้งการปฏิบัติในการจัดซื้อไม่มีระเบียบรองรับ

“พูดได้ว่ามีเงินแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะทำได้ มันอยู่ที่วิธีปฏิบัติและวิธีการจัดซื้อกับต่างประเทศ ยังมีปัญหา แม้มีอำนาจตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติทำไม่ได้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยต้องเร่งออกระเบียบในเรื่องนี้ โดยต้องมองในแง่ดีว่าท้องถิ่นหวังดีต่อคนในพื้นที่”

หรือแม้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง มีเจตนาต้องการหาเสียง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ แต่ก็ถือว่าเป็นการกระตุ้นให้ส่วนกลางได้เร่งออกระเบียบมารองรับให้สามารถทำได้ ทั้งๆ ที่การจัดซื้อวัคซีนทั้งหมดฉีดให้กับคนในประเทศ ควรดำเนินการโดยรัฐบาล.

ผู้เขียน : ปูรณิมา