การสุ่มตรวจค้นหาผู้ป่วยโควิด จนพบว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าไทยมีการระบาดอย่างรุนแรง เป็นความหวังของผู้อยู่รอดยังไม่เจ็บป่วย ต้องการให้รีบตรวจหาคนในพื้นที่ให้ครบถ้วนโดยเร็ว ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป จะมีการแพร่กระจายไปมากกว่านี้ โดยกลุ่มคนที่ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว จะแพร่ให้คนอื่นอีกเป็นจำนวนมาก และคนที่ติดไม่รู้ตัว ก็มีการแพร่เชื้ออีกต่อไป นั่นคือสิ่งน่ากลัว!!!

"ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" เกาะติดสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อโควิดในไทย ได้กระจายไปทั่ว แม้รัฐพยายามจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุม แต่ไม่ได้เป็นบทสรุปว่าดีพอหรือเอาอยู่ได้หรือไม่ ทางด้าน "รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า แนวโน้มมาตรการต่างๆ ในไทย เป็นไปในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลหลายประการ คาดว่าจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงไปจนกว่าจะสิ้นเดือน ม.ค. และหากเป็นเช่นนั้น ให้ทำใจเผื่อไว้ว่า แม้จะปฏิบัติกันตามแนวทางที่มีอย่างเต็มที่ จะทำได้เพียงยันกระแสการระบาดได้ระดับหนึ่ง เปรียบเหมือนน้ำท่วมทะลักเข้าพื้นที่ แต่มาตรการต่างๆ เปรียบเหมือนกำแพงและเครื่องสูบน้ำนั้นมีไม่เพียงพอ จะทำให้ในพื้นที่มีน้ำขังอยู่มากบ้างน้อยบ้างตามแต่จะจัดการกันไป

...

“หวังเพียงไม่ท่วมหนักจนจมน้ำหายใจไม่ออก การรับมือการระบาดซ้ำครั้งนี้ต่างจากรอบที่แล้ว เพราะไม่ได้สั่งการให้ดำเนินการ แต่ใช้ลักษณะยุทธวิธีน่ารักแบบเทเลทับบี้ รณรงค์ให้ทำ และเกลี่ยความรับผิดชอบให้แต่ละพื้นที่ไปจัดการกันเอง”

หากวิเคราะห์ในแง่ดี จากแนวทางการกระจายอำนาจการจัดการไปสู่ระดับจังหวัด หากทำอย่างเต็มรูปแบบ ไม่มายกเลิกกันแบบต่อหน้าต่อตาก็จะดี แต่ละจังหวัดทั้งหน่วยงานในพื้นที่และประชาชนจะได้มีอิสระในการปกป้องถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองอย่างเต็มที่ แต่อุปสรรคใหญ่ที่เรากำลังจะเจอในไม่ช้า และบางแห่งกำลังเผชิญในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรในพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันมาก ทำให้เกิดการขาดแคลนทั้งเรื่องคน เงิน อุปกรณ์ต่างๆ จนหลายแห่งที่ระบาดหนัก จำเป็นต้องเปิดขอรับบริจาค หรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ ในสังคม จึงจำเป็นอย่างที่ต้องดูแลตัวเองและครอบครัวให้ดี อย่างน้อยที่สุด อย่าให้ติดเชื้อหรือป่วย เพราะจะทำให้เสี่ยงทั้งต่อตัวเองที่จะได้รับการดูแลได้ไม่ทั่วถึงแล้ว ยังเป็นภาระแก่ระบบต่างๆ ในสังคม

ก่อนหน้านั้นเมื่อสองสัปดาห์ก่อน เคยเสนอให้เลือกทำล็อกดาวน์รายภูมิภาคในระยะสั้น เพื่อให้จัดการศึกนี้ไม่ให้ลุกลาม แต่ขณะนี้ย้อนเวลากลับไปไม่ได้แล้ว การระบาดกระจายไปทั่ว และยากที่จะตรวจหาคนติดเชื้อได้ครบถ้วนทุกพื้นที่ เพราะมีติดเชื้อแฝงไปทั่วในชุมชนต่างๆ ทั้งกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มคนทั่วไป อีกทั้งระบบการตรวจของประเทศมีศักยภาพที่จำกัด หากจะจัดการตอนนี้จำเป็นต้องเข้มข้นอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศให้ทันเวลาทอง

นอกจากนี้ ด้วยมาตรการควบคุมพื้นที่เสี่ยงที่เรากำลังทำอยู่นั้น ยังมีข้อจำกัดเพราะไม่สามารถจำกัดการเดินทางของคนได้ และไม่สามารถลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อหรือติดเชื้อได้อย่างเต็มที่ จึงมีความเป็นไปได้มากทีเดียวว่า แม้จะพยายามอย่างเต็มที่แล้ว ผลลัพธ์ของการศึกครั้งนี้จะไม่เหมือนระลอกแรก หากดูจากประสบการณ์ของต่างประเทศที่เคยระบาดซ้ำกันมาแล้ว คาดว่าปลายเดือนมี.ค. อาจกดการระบาดลงมาได้ โดยจะมีผลลัพธ์ใน 2 ลักษณะ คือหนึ่งมีจำนวนการติดเชื้อต่อวันอยู่ในระดับหลักสิบหรือหลักหน่วย และสองมีจำนวนการติดเชื้อต่อวันยังอยู่ระดับหลักร้อย 

"ไม่ว่าจะเป็นไปในแบบที่หนึ่งหรือแบบที่สอง การป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดคงยังต้องมีต่อไปเรื่อยๆ และอาจยาวไปถึงกลางปี 2565 เพราะวัคซีนยังไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมในปีนี้"

ขณะที่โครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ยังคงเป็นไปในรูปแบบเดิม โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าขายหรือบริการหรือท่องเที่ยวให้เน้นเรื่องความปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อหรือติดเชื้อ การระบาดซ้ำในระลอกถัดมาย่อมมีโอกาสสูง เนื่องจากยังมีการติดเชื้อภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้หากระดับการติดเชื้อต่อวัน อยู่ในระดับหลักสิบหรือหลักหน่วย อาจมีโอกาสระบาดซ้ำเป็นระลอกสามภายในปีนี้ได้ แต่หากเป็นหลักร้อย โอกาสระบาดซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้ง อาจเกิดขึ้นได้หากรัฐตัดสินใจดำเนินมาตรการที่เข้มข้นเคร่งครัดกว่าปัจจุบันได้ทันเวลา โอกาสเปลี่ยนฉากก็ยังมี

ส่วนสถานการณ์การระบาดรุนแรงหรือไม่รุนแรง อยู่ที่จำนวนการติดเชื้อภายในประเทศที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน โดยต้องไม่แยกว่าเป็นเชื้อชาติใดในประเทศ ดังนั้นหากมีติดเชื้อในประเทศทั้งคนไทย ทั้งแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไทย ต้องเอามารวมกันให้เห็นตัวเลขให้ชัดเจน ไม่บิดเบือน

...

"จำนวนการตรวจในแต่ละวัน และอัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อ มักถูกเล่นแร่แปรธาตุได้ง่าย เช่นไม่อยากให้เห็นว่าระบาดรุนแรง กลัวเสียหน้า เลยตรวจน้อยๆ จะได้เจอน้อยๆ ดังนั้นจึงต้องดูจำนวนการตรวจในแต่ละวันให้ดี"

ในขณะที่อัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อนั้น หากยิ่งสูง แปลว่ายิ่งน่ากลัว เพราะโอกาสเจอคนติดเชื้อในพื้นที่นั้นมีจำนวนมาก รวมถึงจำนวนการตาย และอัตราการตาย เป็นตัวบ่งบอกถึงความรุนแรงของโรค และมีส่วนสัมพันธ์กับภาระของระบบสุขภาพ หากตายมากหรืออัตราตายมากก็อาจมาจากการรับมือไม่ไหว เพราะขาดคน เงิน ยา อุปกรณ์ ฯลฯ

“ธรรมชาติของการระบาดซ้ำนั้น มันไม่เลือกที่รักมักที่ชัง กระจายไปถ้วนทั่ว ทั้งกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะบ่อน ปาร์ตี้ ผับบาร์ สนามมวย หรืออื่นๆ แต่ยังรวมไปถึงคนอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ใช้ชีวิตประจำวันอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ หากไม่ป้องกันก็มีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ด้วย เราจึงไม่แปลกใจที่ปัจจุบันไทยเรามีระบาดรุนแรงกระจายไปทั่ว จึงมีทั้งกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มทั่วไปจากการใช้ชีวิตประจำวัน สืบหาต้นตอสาเหตุการติดเชื้อไม่ได้”

...

 

สำหรับแนวทางที่จะต่อสู้ยับยั้งการระบาดซ้ำได้ จึงต้องทำร่วมกันในการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ โดยรณรงค์ให้ทุกคนป้องกันตัวด้วยการใส่หน้ากาก อยู่ห่างๆ ล้างมือบ่อยๆ และการตัดปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อด้วยมาตรการอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ไม่ให้เกิดการเดินทางโดยไม่จำเป็น อยู่กันนิ่งๆ จะใช้คำว่าล็อกดาวน์ หรือไม่ก็แล้วแต่ใจอยาก แต่ต้องไม่ให้เคลื่อนที่ไปมาระหว่างกัน

นอกจากนี้ ต้องตะลุยตรวจคัดกรองโรคให้มากที่สุด ทุกคนในพื้นที่ที่มีเคส เพื่อให้สามารถระบุได้ว่าใครติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว รวมถึงรณรงค์ให้คนสังเกตอาการถ้าไม่สบายหรือมีประวัติเสี่ยงก็ให้รีบมาตรวจ และนำส่งผู้ติดเชื้อไปสู่กระบวนการดูแลรักษา เพื่อตัดวงจรการระบาด

ส่วนการไปสุ่มตรวจ และพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แปลว่า สถานการณ์ระบาดจริงมีความรุนแรง จึงอยู่เฉยไม่ได้แล้ว ต้องรีบตะลุยตรวจหาคนในพื้นที่ให้ครบถ้วนโดยเร็ว ก่อนที่มันจะเกิดการแพร่กระจายไปมากกว่านี้ เพราะคนที่ยังไม่ได้ตรวจอาจมีอีกมากที่ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว และจะแพร่ให้คนอื่นได้อีกมาก ตามหลักคิดทางระบาดวิทยา เพื่อเอามาใช้ในการควบคุมโรค เพราะของเดิมที่เชื่อหรือที่ทำมาตลอดนั้นมันไม่ดีพอ ไม่มีประสิทธิภาพพอ คนติดเชื้อในชุมชนหรือที่ต่างๆ จึงติดกันงอมแงม

"หากเปิดใจยอมรับความจริง เราจะได้เรียนรู้ และพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในสังคม และพร้อมรับมือกับวิกฤติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต".