- เข้าสู่ปีใหม่ 2564 คนไทยจำนวนมากอยู่ในภาวะวิตกกังวลจากการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อโควิดในประเทศ ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อหลักร้อยต่อวัน มฤตยูตัวร้ายก่อให้เกิดการเจ็บป่วย และล้มตาย คร่าชีวิตมนุษย์โลกในขณะนี้ไปแล้ว เฉียด 2 ล้านศพ
- วิธีป้องกันทำได้ด้วยตนเอง ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมืออย่างสม่ำเสมอด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล และไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น งดทำกิจกรรมในพื้นที่เสี่ยง และพยายามไม่เดินทางออกไปพื้นที่ภายนอกโดยไม่จำเป็น
- เป็นสิ่งที่น่ากลัวเมื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าการระบาดของโควิดครั้งนี้ ใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน จะมีผู้ติดเชื้อ 23,635-33,088 คน ในจำนวนนี้มีอาการรุนแรง 3,546-4,964 คน และมีผู้ป่วยต้องเข้าไอซียู 1,182-1,655 คน ตาย 237-331 ศพ
“รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ อ้างอิงงานวิจัยจากประเทศจีน มีการคาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ "โควิด" ในประเทศไทย อาจมีมากถึง 18,000 คน โดยระบุว่า ภายใต้สถานการณ์ภัยพิบัติซ้ำซ้อนที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เปรียบเสมือนเราอยู่ในทะเลที่กำลังเผชิญกับพายุลูกเดียวกัน แต่อยู่เรือคนละลำ พายุลูกนี้เป็นภัยพิบัติซ้ำซ้อนระหว่างโควิดและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งจะคงอยู่กับเราตลอดไป
...
“ท่านนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บัญชาการกองเรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะกัปตันเรือ 77 ลำ ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการนำเรือแต่ละลำ เข้าเทียบท่าอย่างปลอดภัย กัปตันเรือทุกคน และเรือทุกลำ มีความเปราะบางแตกต่างกัน มีความสามารถต่างกัน มีอุปกรณ์ กำลังคน กำลังเครื่องมือ กำลังทรัพย์ต่างกัน มีความล่อแหลมต่างกัน มีพื้นที่รับผิดชอบต่างกัน มีผู้โดยสารที่เป็นประชากรต่างกัน มีผู้ติดเชื้อต่างกัน แต่มีภัยคุกคามเหมือนกัน
ดังนั้นกัปตันเรือ จึงต้องมีคู่มือในการจัดการภัยพิบัติซ้ำซ้อน เพื่อใช้เป็นพื้นฐานร่วมกัน ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน และที่สำคัญได้รับการยอมรับ และเกิดความร่วมมือจากภาคประชาชน ไม่เช่นนั้นเราจะตกเหวกันทั้งประเทศ”
หลัก 10 ประการ คู่มือจัดการภัยพิบัติซ้ำซ้อน เมื่อโควิดคุกคาม
สำหรับคู่มือจัดการภัยพิบัติซ้ำซ้อน ภายใต้สถานการณ์โควิด เริ่มจากหลักที่ 1 ผู้นำต้องเป็นต้นแบบของความตระหนักในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Diaster Risk Reduction) หรือ DRR เนื่องจากสถานการณ์อาจมีความสลับซับซ้อน ลุกลามใหญ่โต การตัดสินใจด้วยความรอบคอบ โดยผู้เชี่ยวชาญด้าน DRR และด้านเชื้อโรคที่ระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
นอกจากนี้ผู้นำต้องมีแผนการจัดการความเสี่ยง และแผนการจัดการในภาวะฉุกเฉินในการป้องกันความสูญเสีย และความเสียหาย ต่อบุคลากรด้านสาธารณสุข โรงพยาบาล เสบียง เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ เป็นลำดับแรก พร้อมทั้งรักษา และฟื้นฟูสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งไฟฟ้า ประปา และการคมนาคม ที่จะนำไปสู่การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด
รวมถึงแผนการจัดการความเสี่ยง ต้องระบุความต้องการของกลุ่มเปราะบางต่างๆ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ลี้ภัย และผู้ที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยติดเชื้อโควิด โดยแยกตามเพศ อายุ ความเจ็บป่วยเรื้อรัง และต้องมีการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานด้านการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ทหาร และหน่วยบริการฉุกเฉินทางการแพทย์ มีการเตรียมการด้านบุคลากร และการเงินรองรับในการจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย และเจลล้างมือ โดยหลักการนี้ต้องอยู่ในแผนจัดการความเสี่ยงของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งภาคเอกชน มูลนิธิต่างๆ
...
ส่วนหลักที่ 2 การบูรณาการแผนการจัดการความเสี่ยง ให้สอดคล้องกับกรอบการทำงาน “เซนได” ซึ่งเป็นโมเดลจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยมีชุมชนเป็นฐานการจัดการภัยรวม ผ่านการถ่ายทอดประสบการณ์จริง การเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์โควิด เป็นกรณีศึกษาในการเตรียมความพร้อมในการรับมือและการฝึกซ้อม พร้อมให้ข้อแนะนำกับบุคลากรโรงพยาบาล และหน่วยงานด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น
“มีการทบทวน ปรับปรุงการสื่อสารความเสี่ยง ระบบการแจ้งเตือน และอพยพ ภายใต้สถานการณ์ภัยพิบัติซ้ำซ้อน ให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน จากนั้นต้องจัดแคมเปญสร้างความตระหนักร่วมกัน ภายใต้ความโปร่งใสในการจัดการทุกขั้นตอน ตอบสนองความต้องการและการช่วยเหลือ สร้างความร่วมมือของคนรุ่นหนุ่มสาว โดยช่องทางการสื่อสารสมัยใหม่ โดยคนรุ่นนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการจัดการต่อไปในอนาคต”
เตรียมพร้อมจัดหาน้ำสะอาด สกัดการแพร่เชื้อโควิดไปสู่ชุมชน
...
หลักที่ 3 อีกสิ่งสำคัญต้องเตรียมความพร้อมในช่วงการระบาดของโควิด ในการจัดหาน้ำสะอาดให้ถูกสุขพลานามัย เพราะโดยทั่วไปการเกิดภัยพิบัติมักจะทำให้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะเรื่องของน้ำกิน น้ำใช้ จะต้องป้องกันสิ่งปนเปื้อนแหล่งน้ำ การจัดการน้ำเสียจากกลุ่มเปราะบางต่างๆ โดยต้องมีการติดตาม ตรวจสอบคุณภาพน้ำเสียไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อโควิดไปสู่ชุมชนโดยรอบ โดยควบคุมและสั่งการด้วยระบบอัจฉริยะ (Smart system) เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม
ในส่วนคู่มือ หลักที่ 4 ลดความเสี่ยงบุคลากรจากภัยคุกคามโควิด ต้องผ่านการอบรม สร้างกลยุทธ์ ข้อแนะนำความรู้เกี่ยวกับโควิด สนับสนุนอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย และเจลล้างมือ รวมถึงตรวจเช็กร่างกายบุคลากรทุกวันที่ปฏิบัติภารกิจ และการเข้าสู่การกักกันตนเองในกรณีมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการบริหารจัดการ เคลื่อนย้ายบุคลากร และอุปกรณ์
มาสู่หลักที่ 5 ลดความเสี่ยงบุคลากรด้านสาธารณสุข เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ จากภัยคุมคามอื่นๆ โดยหลีกเลี่ยงการใช้โรงพยาบาล หรือสถานประกอบการด้านสาธารณสุข เป็นศูนย์อพยพ เพื่อป้องกันความสูญเสียบุคลากรด้านสาธารณสุข และความเสียหายต่ออุปกรณ์ เวชภัณฑ์ต่างๆ จากภัยคุกคามอื่นๆ
หลักที่ 6 การป้องกันผู้อพยพจากการติดเชื้อโควิด ต้องทบทวน ปรับปรุงศูนย์อพยพรองรับมาตรการทิ้งระยะห่าง โดยคัดแยกผู้อพยพ ผู้ติดเชื้อ ผู้ที่ต้องกักตัวออกจากกัน โดยเลือกใช้ศูนย์อพยพหลายชั้น เพื่อลดความแออัด และลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ พร้อมกำหนดแผนการอพยพ และการดูแลกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะ มีการจัดหาน้ำสะอาด รวมทั้งสำรองเสบียง เวชภัณฑ์ มีการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐาน และรณรงค์การบริจาคด้วยเงินสดแทนสิ่งของ
...
กำจัดต้นตอแพร่เชื้อ สื่อสารข้อมูลก่อนล็อกดาวน์ ป้องกันคนแตกตื่น
ขณะที่การป้องกันผู้ป่วยโควิด จากภัยคุกคามอื่นๆ ตามหลักที่ 7 นั้น ต้องมีมาตรการลดความเสี่ยง และควรเข้าใจแนวปฏิบัติขั้นพื้นฐานในการลดความเสี่ยงจากผลกระทบโควิด โดยกำจัดที่ต้นตอ ตัดเส้นทางการแพร่เชื้อ ป้องกันกลุ่มเปราะบาง รวมถึงมีแผนป้องกัน และแผนการอพยพผู้ป่วยไปยังสถานที่กักตัว เตรียมการติดต่อสื่อสาร การเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ต่างๆ
หลักที่ 8 การกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับพื้นที่ล็อกดาวน์ ต้องสื่อสารข้อมูลเตือนภัยล่วงหน้า ก่อนมีการล็อกดาวน์ เพื่อป้องกันการเดินทาง และการแตกตื่นของประชาชน โดยวางแผนฉุกเฉินในการอพยพ กรณีมีการล็อกดาวน์ เพื่อลดความเสี่ยง และป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งต้องประสานท้องถิ่นด้านสถานที่อพยพ เส้นทางการอพยพก่อนการล็อกดาวน์
นอกจากนี้ต้องมีการสำรองเงินฉุกเฉินการจัดการโควิด ตามหลักที่ 9 เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางเศรษฐกิจ และตอบสนองภารกิจเร่งด่วนจำเป็น ให้เกิดความคล่องตัวในการใช้จ่ายของบุคลากร รวมถึงส่งเสริมให้มีการใช้เงินดิจิตอลในการใช้จ่าย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด
ส่วนหลักที่ 10 เป็นความร่วมมือระดับนานาชาติ และภูมิภาค มีการกำหนดวันเวลาที่ชัดเจนในการแถลงข้อมูลต่อชาวโลก เพื่อสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน สามารถร้องขอข้อมูลที่จำเป็นจากหน่วยงานนานาชาติ หรือในกรณีจำเป็น อาจต้องเตรียมการ และอำนวยความสะดวกต่อผู้แทนหน่วยงานนานาชาติ อาจมีการตั้งศูนย์ฯภูมิภาคในพื้นที่ โดยสร้างความร่วมมือในการสร้างแผนที่เสี่ยงภัยฯภูมิภาค และกำหนดมาตรการความช่วยเหลือแก่ประเทศผู้มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง.
ผู้เขียน : ปูรณิมา