สวนดุสิตโพล เผยปี 2020 คนไทยวิตกกังวลเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ต้องดูแลเป็นพิเศษป้องกันตัวเองจากโควิด ทั้งเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “การดูแลสุขภาพของคนไทยในปี 2020” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,135 คน โดยพบว่า คนไทยหันมาดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น ร้อยละ 68.10 จากสถานการณ์ต่างๆ ในปี 2020 ทำให้คนไทยวิตกกังวลเรื่องสุขภาพมากขึ้น ร้อยละ 67.75 มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ร้อยละ 59.38

ส่วนสิ่งที่ดูแลสุขภาพของตนเองเป็นพิเศษ คือ การป้องกันตัวเองจาก "โควิด-19" ร้อยละ 89.48 รองลงมาคือ อาหารการกิน และการออกกำลังกาย โดยสิ่งที่สนใจอยากรู้เพิ่มเติม คือ เทคนิคในการดูแลสุขภาพตนเอง ร้อยละ 71.98

น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า คนไทยหันมาสนใจดูแลตนเองเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องการมีสุขภาพดี รักษาร่างกายให้อยู่กับตนเองได้อย่างมีคุณภาพ ไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น เพราะการที่คนไทยอยู่ในสถานการณ์บ้านเมืองที่เคร่งเครียด เศรษฐกิจไม่ดี โควิด-19 ก็ยังระบาด รวมถึงฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่หนาแน่น การฝากความหวังไว้กับรัฐบาลในการแก้ปัญหาก็หวังได้ไม่มากนัก ทำให้คนไทยต้องหันมาดูแลตนเองมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อให้ตนเองมีสุขภาพที่ดี และผ่านปี 2020 ไปให้ได้

...


ผศ.ดร.ดวงเนตร ธรรมกุล อาจารย์ประจำวิชาสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุ การดูแลสุขภาพของคนไทยในปี 2020 พบว่า มีการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น จากการเกิดสถานการณ์พ้องของโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาด จึงทำให้คนไทยสนใจดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ เกิดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นมิติที่ดีที่คนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพ เน้นการส่งเสริมสุขภาพร่างกาย ทั้งเรื่องของการรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นการใช้อาหารให้เป็นยา รวมถึงเพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกายในวิถีชีวิต สอดคล้องกับนโยบายของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่ใส่ใจสุขภาพคนไทยใน 5 มิติ (5 อ.) ได้แก่ อาหาร อากาศ ออกกำลังกาย อารมณ์ และอุจจาระ

ทั้งนี้ หากเพิ่ม อ.6 เรื่องของ “ออมทรัพย์” คงทำให้การมีอายุยืนขึ้นของคนไทย เกิดความสมดุล เกิดความสุขในครอบครัว สังคม และชุมชน ดังนั้นการดูแลสุขภาพของคนไทยจะสร้างความแข็งแรงของคนไทยไปพร้อมกับอายุที่ยืนยาวขึ้น ลดภาระการดูแลสุขภาพของประชากรสูงวัยในครอบครัวลง ด้วยสุขภาพที่ดีขึ้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพในการดูแลสุขภาพตนเองต่อไป.