ถกหาทางออก วิกฤติฝุ่นพิษ PM 2.5 พุ่งเกินมาตรฐานในพื้นที่ กทม. สาเหตุหลัก สู่แนวคิดการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ในรายการถามตรงๆ กับจอมขวัญ
วันที่ 15 ธันวาคม 2563 ในรายการถามตรงๆ กับจอมขวัญ ได้พูดคุยเกี่ยวกับวิกฤติฝุ่นพิษ PM 2.5 พุ่งเกินมาตรฐานในพื้นที่ กทม. โดยได้พูดคุยกับ อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า ความกดอากาศสูงจากจีน พัดเข้ามาแล้วอ่อนกำลังลงทำให้อากาศจมตัวลอยขึ้นไม่ได้ ซึ่งเกิดขึ้นทุกปี เป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่สิ่งที่แก้ไขได้คือ แหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งในพื้นที่ กทม. ได้มีการวางแผนแก้ปัญหาต่างๆ ออกมาแล้ว แต่ส่วนตัวมองว่ายังไม่มีอะไรดีขึ้นกว่าเดิมมากนัก เพราะสาเหตุหลักมาจากรถเครื่องยนต์ดีเซล
โดยรถยนต์ทั้งหมดใน กทม. มีประมาณ 10.9 ล้านคัน เป็นรถเครื่องยนต์ดีเซล ประมาณ 2.8 ล้านคัน นอกจากนี้ยังเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ ประมาณ 1.5 แสนคัน สิ่งที่ตามมาคือการจราจรติดขัดจากการก่อสร้างถนนต่างๆ และสิ่งต่อมาที่ต้องเฝ้าระวังคือ โรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่รอบกทม. ซึ่งควันที่ถูกปล่อยออกมาเป็น PM 2.5
ศ.ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ นักวิชาการและโฆษกศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เปิดเผยว่า สาเหตุหลักของ ฝุ่น PM 2.5 ใน กทม. ได้แก่ 1. ไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซล 2. การเผาในที่โล่งแจ้ง 3. ปัจจัยเสริมคือ มลพิษข้ามพรมแดน และอุตสาหกรรมใกล้เคียง
ในส่วนของฝุ่นควันที่มาจากการก่อสร้าง ความน่ากังวลใจจะน้อยกว่า เนื่องจากสารพิษที่อยู่ใน PM 2.5 ต่างกัน ยกตัวอย่าง บางครั้งค่าฝุ่น PM 2.5 สูงมาก แต่สารก่อมะเร็งอาจจะไม่มาก และบางครั้งค่าฝุ่น PM 2.5 อาจจะไม่สูงมาก แต่สารก่อมะเร็งมากก็ได้ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีแอปพลิเคชันใดแจ้งเตือนในส่วนนี้ได้
...
สำหรับมาตรการป้องกันและช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. ยกตัวอย่างในพื้นที่ก่อสร้าง ส่วนมากจะเป็นฝุ่นขนาดใหญ่ สิ่งที่ช่วยได้คือ การฉีดสเปรย์น้ำ หรือใช้ผ้าคลุม อีกสิ่งคือ รถยนต์ที่ใช้ในการก่อสร้างจะเป็นเครื่องยนต์ดีเซล แนะนำให้กำหนดเวลาในการวิ่งให้ชัดเจน และสิ่งที่สำคัญในการป้องกันก็คือ ประชาชนต้องดูแลตัวเอง
ศ.ดร. ศิวัช เปิดเผยถึงความร่วมมือในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 กับประเทศเพื่อนบ้านว่า ในภูมิภาคอาเซียน ประเทศที่มีกฎหมายอากาศสะอาด ได้แก่ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย และวานนี้ (14 ธ.ค.63) ตนได้จัดเสวนาเกี่ยวกับเรื่องฝุ่น PM 2.5 โดยเชิญตัวแทนพรรคการเมืองใหญ่มาร่วมเสวนาอย่างจริงจัง ซึ่งทุกคนมีความคิดเห็นตรงกันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องนำไปผลักดันต่อในรัฐสภา ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือ ประเทศไทยจะต้องมีกฎหมายอากาศสะอาดก่อน และสิ่งที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนจะต้องเป็นกฎหมายอากาศสะอาดระดับอาเซียน จะจำกัดเฉพาะในประเทศไทยไม่ได้.