กระทรวงแรงงาน ขับเคลื่อนงาน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 2545 พร้อมสร้างความเข้าใจ เพื่อการปฏิบัติงานชัดเจนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.63 ณ ห้องบอลรูม 2 ชั้น 3 โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน
โดย นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเป็นประธานเปิดโครงการดังกล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีบทบาทในการพัฒนากำลังแรงงานให้มีศักยภาพ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้การพัฒนากำลังแรงงานในสถานประกอบกิจการที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้น หน่วยงานภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถดำเนินการพัฒนากำลังแรงงานได้อย่างทั่วถึง จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบกิจการได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ เป็นจำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่าย ในการฝึกอบรมรวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายธวัช กล่าวต่อว่า ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีเป้าหมายในการดำเนินการ ตามกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 4 ล้านคน ซึ่งจำนวนพนักงานที่ได้รับการฝึกอบรมฝีมือแรงงานจากสถานประกอบกิจการ ที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบหลักสูตรตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีศักยภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีระบบบริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) อำนวยความสะดวกให้สถานประกอบกิจการ ในการยื่นคำขอเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ ซึ่งปัจจุบัน กพร.ได้พัฒนาการให้บริการ โดยสถานประกอบกิจการสามารถจัดพิมพ์หนังสือรับรองหลักสูตรได้ด้วยตนเอง
...
"สำหรับสถานประกอบกิจการ ที่อยู่ในข่ายบังคับต้องยื่นแบบแสดงการส่งเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ประจำปี พ.ศ.2563 ภายใน 31 มีนาคม 2564 โดยปี พ.ศ.2563 ได้ลดสัดส่วนจำนวนลูกจ้างที่จัดให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงาน จากร้อยละ 50 เหลือเพียงร้อยละ 10 โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 มีจำนวนสถานประกอบกิจการที่เป็นเป้าหมายจำนวน 14,704 แห่ง ดังนั้นเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะต้องมีความพร้อมในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความชัดเจนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน" อธิบดี กพร.กล่าว