ในคํ่าคืนที่ฝนพรํา...ในขณะที่เราทานข้าวเย็นอย่างมีความสุขในบ้านหรือในร้านที่สุขสบาย ลมหายใจแห่งเมืองก็ขับเคลื่อนไปด้วยแรงกำลังของคนที่ทำงานที่หลายคนปฏิเสธหรือไม่แม้แต่จะรู้ว่ามีอยู่...เจ้าหน้าที่เก็บขยะ เจ้าหน้าที่ที่เปิดปิดประตูระบายน้ำ เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการสูบน้ำออกจากคูคลองเพื่อไม่ให้น้ำท่วมเมือง คนงานที่ป้อนถ่านหินเข้าโรงไฟฟ้า เพื่อให้เรามีไฟฟ้าชาร์จโทรศัพท์
วิศวกรที่เฝ้าระบบผลิตน้ำประปา นักอุตุฯที่เฝ้าดูเรดาร์ฝนเพื่อเตือนภัย เจ้าหน้าที่ชลประทานที่เฝ้าดูระดับน้ำในเขื่อน และภาวนาให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเพื่อที่จะเพียงพอต่อเกษตรกรในหน้าแล้งที่จะมาถึง ฯลฯ
“อิทัปปัจจยตา” ทุกสิ่งในโลกล้วนอิงอาศัยกัน...จริงอยู่ ว่าเราเสียภาษี แม้ผมจะเสียภาษีกว่าครึ่งล้านต่อปี ผมยังไม่กล้าเรียกร้อง ความทุ่มเทของคนเหล่านั้นว่าเป็นบริการที่ผมพึงได้รับโดยชอบธรรม
คำถามสำคัญคือ แล้วเราล่ะ ได้ทำอะไรเพื่อส่วนรวมบ้าง...ไม่ต้องออกไปปลูกป่า ปักชำป่าชายเลน หรือเก็บขยะก็ได้ แค่ไม่เพิ่มภาระให้คนที่ทำงานบริการเพื่อสังคมเหล่านั้น...ใช้น้ำใช้ไฟอย่างประหยัด แยกขยะและทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง ทำความเข้าใจว่าเรานั้นคือผู้รับที่ควรจะสำนึกในความโชคดีของเรา
...ที่เรายังมี “ลมหายใจแห่งเมือง” ที่ทำให้เรามีความสุขหลับนอนได้อย่างสบาย เพราะเรามักจะไม่ใส่ใจว่าเรากำลัง “หายใจ” อยู่ และเรา ก็ไม่รู้ว่า “ลมหายใจของเรานั้น” มีความจำกัด
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ บอกอีกว่า ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯการแก้แบบเร่งด่วน ถ้าเร่งด่วนเรามองภาพสำคัญว่า ต้องสนับสนุน กทม.ในการทำโครงสร้างพื้นฐานด้านป้องกันน้ำท่วมให้ครบ กระนั้นแล้วคนก็ยังบ่นอุบว่ามีอุโมงค์ยักษ์แล้วทำไมน้ำยังท่วม
...
ฉายภาพรวมให้ได้รู้กันเป็นความจริงที่ต้องยอมรับ “กทม.” เป็น “แอ่งกระทะ” ในอดีตการสูบน้ำบาดาลทำให้บางพื้นที่ต่ำ เช่น รามคำแหง หัวหมาก เวลาฝนตกลงมาก็ทำให้น้ำขัง...รอการระบาย
ปกติแล้วการที่จะระบายน้ำได้ดีที่สุด ฝนตกลงมา ลงหลังคาบ้าน น้ำลงถนน...ลงท่อระบายน้ำ ลงคลอง หรือลงท่อที่ใหญ่กว่า บางทีก็เรียกว่าอุโมงค์ อาจจะไม่ยักษ์นักอย่างเช่นพระราม 4 ก็มีอยู่...ไหลรวมไปจ่อกันที่ประตูระบายน้ำ “แม่น้ำเจ้าพระยา” เพื่อรอการสูบออก นั่นคือกระบวนการไหลตามแรงโน้มถ่วงไปเรื่อยๆ
ในทางกลับกัน ถ้าบ้านเราอยู่ในพื้นที่ต่ำ ฝนตกลงมาน้ำจะไหลออกอย่างปกติไม่ได้แน่นอน น้ำฝนตกลงมาแล้วก็ต้องสูบออกไปนอกบ้าน กทม.ก็เหมือนกัน...จะมีจุดที่ต่ำ บางจุดไม่ต่ำมากก็สามารถที่จะไหลได้ในระบบคลองปกติ แต่ต่ำมากๆจะให้น้ำไประบายออกก็ต้องทำอุโมงค์อยู่ข้างใต้จุดที่ต่ำที่สุด แล้วก็ไปจ่อรอสูบออก
แผนที่วางไว้ทำอุโมงค์ 9 แห่ง ตอนนี้เสร็จแล้ว 7 แห่ง ทีนี้นำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า...มี “อุโมงค์ยักษ์” แล้วทำไม? น้ำยังท่วมอยู่ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ อธิบายว่า เวลาเราขับรถเราขับเกิน 220 ได้ไหม ถ้ารถเรามีเกจ์สูงสุดอยู่ที่
220 กม.ต่อชั่วโมง ก็คงไม่ได้แน่นอน กทม.ฝนตกลงมาในพื้นที่กะละมังแอ่ง ปั๊มน้ำสูบได้ในปริมาณน้ำฝน 60 มม. ต่อ ชม.
“ถ้ามีน้ำเทลงมามากกว่านี้ก็สูบไม่ทัน ฉะนั้น เวลาฝนตกน้ำท่วมสิ่งที่ประชาชนต้องรู้ เข้าใจก่อนคือ...ข้อจำกัดที่ระบบรับได้ หากฝนตกต่ำกว่าแล้วน้ำท่วมก็สมควรด่า กทม.”
ตรงกันข้ามหากฝนตกมากกว่า 60 มม. ต่อ ชม. แล้วน้ำท่วมควรให้กำลังใจ เช่นที่ผ่านมาฝนตกหนักมากกว่าเป็นระดับ 100 มม.ต่อ ชม. เจ้าหน้าที่ต้องทำงานหนักมากเต็มที่อยู่แล้ว แต่ที่ทำไม่ได้ก็เพราะข้อจำกัดที่มี
คราวนี้ก็ขยับต่อไปถึงอีก 2 เครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหา “ถังเก็บน้ำใต้ดินขนาดใหญ่” แบบญี่ปุ่น กทม.ก็มีแต่ไม่ใหญ่เท่าต่างประเทศเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-10 เมตร เท่าที่รู้มีอยู่ที่บางเขน ใครเคยมีประสบการณ์ย่านนี้ฝนตกทีไรท่วมทุกที แต่ตั้งแต่มีถังน้ำก็ไม่ท่วมอีกเลย คนไม่น้อยอาจจะไม่รู้...
“นิสัยคนไทยอะไรที่เราเดือดร้อนเราจะโวย สบายๆผ่านๆไปไม่รู้ว่ามีใครทำอะไรให้เรา ทั้งๆที่เขาทำไปแล้วเขาคิดแก้ปัญหากันไปแล้ว ถ้ามีถังแบบนี้อีกหลายที่ก็จะแก้ปัญหาน้ำท่วมเพิ่มขีดจำกัดการรับน้ำได้มากยิ่งขึ้น”
ส่งต่อไปถึงแนวคิด “คนชั้นกลาง” ช่วยตัวเองผ่านเครื่องมือสำคัญระดับบ้าน หมู่บ้านจัดสรร คอนโดฯ...เวลาฝนตกลงมา หรือกระทั่งใช้น้ำทุกบ้านก็จะปล่อยน้ำออกมาสู่ท่อระบายน้ำ กทม. ถ้ามีพื้นที่ 100 ไร่ พื้นที่รับน้ำมโหฬารมาก คิดดูว่าถ้าแต่ละแห่งมีพื้นที่รับน้ำ รองน้ำฝนเก็บไว้ใช้...ปริมาณหลังละหลายลูกบาศก์เมตรได้เลย
ใครมีพื้นที่อะไรตรงไหนก็ขอให้ช่วยกันซับ เก็บน้ำฝนที่ตกลงมาเอาไว้ เพิ่มกติกาเข้าไปว่าต้องมีพื้นที่เก็บน้ำเท่าไหร่ มี...ถังเก็บน้ำใต้ดิน หรือ...บ้านแต่ละหลังต้องมีถังเก็บน้ำเอาไว้ตามเปอร์เซ็นต์พื้นที่หลังคาบ้าน
“ช่วยกันคนละไม้ละมือ...ลดปัญหาน้ำท่วม กทม. สุดท้ายแล้ว เราคนกรุงฯจะไม่ได้มาบ่นอย่างเดียว แต่จะเป็นคนสนับสนุน ร่วมแรง รวมพลัง เพื่อที่จะไม่ให้น้ำท่วม กทม. ได้ด้วย”
...
ทุกวันนี้...อาจจะไม่มีแนวทาง ถึงอยากจะช่วยก็ไม่รู้ว่าจะต้องอย่างไร ไม่เข้าใจ พอน้ำท่วมก็ทำได้แค่ด่า...อุโมงค์ยักษ์มีแล้วยังท่วม แล้วก็ต้องไม่ลืมปัญหาสำคัญคือ “ขยะ” อุดตันท่อระบายน้ำ สร้างปัญหาให้เครื่องสูบน้ำ
นับรวมไปถึงไซต์งานก่อสร้าง ระบบไฟฟ้า การประปา รถไฟฟ้าอาจพลาดไปโดนระบบท่อระบายน้ำ ทำให้น้ำไหลระบายไม่เต็มระบบก็สร้างปัญหาแทรกเสริมขึ้นมาได้เช่นกัน ต้องช่วยกันดูแลไม่ให้เกิดผลเสียในภาพรวม
เชื่อมโยงประเด็นต่อมา “บ้านริมคลอง” สมัยเก่าก่อนในอดีตไม่ได้ มีไว้เพื่อระบายน้ำเป็นหลัก พอเราถมที่น้ำไม่มีที่ไปก็ไหลลงคลอง แต่คลองไม่สามารถรับน้ำได้เยอะขนาดนี้ หากต้องพร่องน้ำเร่งด่วนรอรับน้ำคงสูบไม่ได้มากเพราะถ้าสูบมากตลิ่งก็จะพัง บ้านริมคลองพัง...ทุกคนก็พัง เลยไม่กล้าที่จะพร่องน้ำมาก จนกว่าจะเปลี่ยนตลิ่งใหม่
คลองธรรมชาติลาดชันหน้าตัดแบบคางหมู รับน้ำได้ไม่มากเท่าคลองแบบสี่เหลี่ยม แนวใหม่ชีตไพล์แผ่นซีเมนต์ ถ้าเป็นแบบนี้พร่องน้ำออกได้มากเท่าที่ต้องการตลิ่งไม่พัง รอรับน้ำจากพายุหรือฝนตกกระหน่ำได้ดียิ่งขึ้น
“ต้องยอมรับความจริง...ทุกวันนี้ทำไม่ได้เพราะมีบ้านรุกล้ำคลองอยู่ แม้กระทั่งขุดลอกก็ยังลำบาก พูดกันตรงๆบ้านรุกลำคลองก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้น้ำท่วม กทม. กระนั้นแล้วผู้คนริมคลองก็คือลมหายใจแห่งเมือง เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง ทำงานบริการด้านต่างๆที่เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่มีความสำคัญเช่นกัน”
...
ที่ผ่านมา การปรับเปลี่ยนรูปแบบบ้านริมคลองทำได้ดีแล้วบริเวณคลองลาดพร้าว คลองบางบัว น้ำระบายสะดวก คลองสะอาด มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้มาก...การทรานส์ฟอร์มในภาพรวมดีขึ้นๆเป็นเช่นนี้
“อุโมงค์ยักษ์” ในทางวิศวกรรมเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร ก็ใหญ่อยู่แล้วก็สร้างยาก แต่คงไม่ใหญ่เท่าคลองที่กว้าง 40 เมตร ในระบบการระบายน้ำอุโมงค์มีความจำเป็นเพราะช่วยดึงน้ำจากที่ต่ำได้ ยิ่งเกิดปัญหาไฟดับจะใช้งานไม่ได้ ด้วยเวลาฝนตกหนักๆลมแรงมากๆ ต้นไม้ กิ่งไม้หักไปพาดสายไฟ ไฟดับ...ส่งผลถึงอุโมงค์
พอ กทม.ไปตัดต้นไม้ก็โดนด่า ปัญหาก็พันกันไปหมด ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้เป็นหนึ่งในหลายๆส่วนของ “เจ้าพระยาเดลต้า 2040” เป็นที่ที่ให้มาคุยกันทั้งทางด้านเทคนิค ทั้งฟากฝั่งประชาชน สื่อมวลชนทั่วไป ไม่ได้มุ่งเป้าหวังว่าสำเร็จเมื่อไหร่ แต่จะไปเรื่อยๆ...เป็นโมเดลใหม่ ซึ่งปกติแล้วมี 3 แบบ การพัฒนาแบบมีกฎเกณฑ์ก็ทำตามกันไป
อีกแบบก็เป็นกฎเกณฑ์อันเดียวนี่แหละแต่จะปรับไปไถๆไปของเราเป็นแบบนี้ ซึ่งคนกำหนดกฎเกณฑ์ก็อึดอัด...คนที่ถูกกำหนดบังคับให้ทำก็อึดอัดกันทั้งคู่ แต่พออันที่สาม “ทรานส์ฟอร์ม” สามารถจะเปลี่ยนรูปได้คล้ายๆกฎหมายมหาชนแทนที่จะมีรูปแบบเฉพาะเจาะจงที่แพงแต่จะเน้นคุยกันแล้วค่อยๆ
ปรับเปลี่ยนพัฒนากันไป
ดังนั้น ที่เสนอในการแก้ปัญหา “น้ำท่วม” จะมีทั้งสามแบบ พุ่งเป้าให้ ทุกๆคนเห็นร่วมกันทุกมิติ แล้วก็มาปรับเปลี่ยน ร่วมกันแก้ คลี่คลายปัญหาใหญ่ๆ ที่มีความซับซ้อนมากๆร่วมกัน
“น้ำท่วม กทม.”...“น้ำรอการระบาย” ปัญหาซ้ำๆซากๆนี้ คาดหวังกันว่าจะดีขึ้นแน่นอน.
...