เลขาฯ กช. เผยสารสาสน์ราชพฤกษ์ ปลด ผอ.เก่าที่หย่อนยานออก ตั้งใหม่ ผอ. ดีกรีปริญญาเอก พร้อมเพิ่มกล้องวงจรปิด เสริมคุณภาพอาหารกลางวัน ทำผู้ปกครองเบาใจ เหลือเด็กลาออกแค่ 6 จากที่แจ้งไว้กว่า 40 คน

วันที่ 5 ต.ค. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดแถลงข่าวความคืบหน้าการจัดการแก้ปัญหาความรุนแรงในเด็กจากเหตุการณ์ครูพี่เลี้ยงกระทำเด็กชั้นอนุบาลในโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์

โดย นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริง ลงพื้นที่โรงเรียน พร้อมรายงานให้ผู้บริหารทราบรายวัน ข้อมูลล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 5 ต.ค. มีนักเรียนแจ้งขอลาออกและขอคืนเงินค่าเล่าเรียน จำนวน 6 คน โดย 2 คน เป็นเด็กที่อยู่ในห้องเรียนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากเดิมเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ได้รับแจ้งว่ามีนักเรียนจะขอลาออก 40 คน

ทั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะว่าขณะนี้โรงเรียน มีการปรับปรุงตามข้อเสนอของผู้ปกครอง เช่น ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่ม ซึ่งใน 1-2 วันนี้ ผู้ปกครองสามารถไปชมได้ที่โรงอาหาร รวมถึงมีการปรับปรุงคุณภาพอาหารกลางวันให้ถูกหลักโภชนาการ และแจ้งเมนูล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ทางเว็บไซต์โรงเรียน อีกทั้งจัดห้องดูแลสุขภาพจิต ที่มีนักจิตวิทยาประจำการ และเปิดห้องรับเรื่องร้องทุกข์

ล่าสุด ผู้รับใบอนุญาตได้ถอดถอน นางนันทิภา ยงค์กมล ผอ.โรงเรียนคนเก่าออก เนื่องจากหย่อนยานในการปฏิบัติหน้าที่ และแต่งตั้ง นางรัตนาภรณ์ มูรี่ ผอ.คนใหม่ ซึ่งมีดีกรีปริญญาเอก และใบประกอบผู้บริหารสถานศึกษา ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.เป็นต้นไป โดย สช.ได้แนะนำให้โรงเรียนตั้งรองผอ.อีก 3 คน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้ นายอรรถพล กล่าวอีกว่า เรื่องข้อร้องเรียนค่าธรรมเนียมการศึกษา เบื้องต้น ตรวจสอบไม่พบว่ามีการเก็บเกินจากอัตราที่กำหนด เนื่องจากโรงเรียนมีทั้งหมด 130 ห้อง ในจำนวนนี้มี 45 ห้องที่รับเงินอุดหนุนจาก สช. ส่วนห้องที่เหลือสามารถเก็บได้ลอยตัว สำหรับจำนวนนักเรียนต่อห้องไม่พบว่ามีการรับเกินจำนวน เนื่องจากห้องเรียนที่กำหนดจำนวนนักเรียนไม่เกิน 25 คนต่อห้องเป็นห้องเรียนอิงลิชโปรแกรม ส่วนห้องเรียนไบลิงกัวสามารถรับได้ไม่เกิน 40 คน

...

“เรื่องใบประกอบวิชาชีพครู จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบครูผู้สอนมีใบประกอบวิชาชีพครูทุกคน ส่วนครูต่างชาติ 76 คนมีหนังสืออนุญาตประกอบวิชาชีพจากคุรุสภา แต่มี 51 คนที่โรงเรียนอยู่ระหว่างทำสัญญาจ้าง แต่ยังไม่จ่ายเงินเดือน โดยให้ทำหน้าที่สังเกตการณ์ก่อนระหว่างรอเอกสารการประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้อง เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้ถือวีซ่านักท่องเที่ยว ที่โรงเรียนจ้างมาทดแทนครูต่างชาติที่เข้ามาไม่ได้ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตามปัญหาพี่เลี้ยงเด็ก หรือที่เรียกกันครูพี่เลี้ยง โดยระเบียบต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่งจากนี้ สช.จะร่วมมือกับ ดย.จัดอบรมเพื่อพัฒนาพี่เลี้ยงเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยจะมีการยกร่างหลักสูตรอบรมร่วมกัน”

ขณะที่ พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ทีมสหวิชาชีพได้เข้าไปดูแลเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว 7 ราย และวันที่ 7 ต.ค.จะเข้าไปดูแลเพิ่มอีก 35 ราย จากนั้นจะทยอยดูแลเด็กชั้นปฐมวัยทั้งหมดประมาณ 900 คน โดยได้รับความร่วมมือจากทีมแพทย์ นักจิตวิทยา จากโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าฯ โรงพยาบาลศรีธัญญา ศูนย์สุขภาพจิตที่ 4 ปทุมธานี และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เป็นห่วงมากกับพ่อแม่ที่ดูแลเด็กปฐมวัย ที่กังวลว่าลูกตัวเองจะได้รับความรุนแรงจากครูเหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ จึงเปิดคลิปเหตุการณ์ให้ลูกดู รวมถึงบางคนยังจำลองสถานการณ์ เช่น บางคนเอาถุงดำไปคลุมลูก แล้วถามเคยโดนอย่างนี้หรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เนื่องจากจะส่งผลต่อจิตใจเด็กในระยะยาว ฉะนั้นแนะนำให้พูดคุยด้วยคำถามง่ายๆ หรือหากยังตอบไม่ได้ ก็ให้แสดงบทบาทสมมติและเกมละเล่นสอบถาม

ด้าน พ.ต.อ.สถิตพร บุณยรัตพันธุ์ ผกก.สภ.ชัยพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะนี้มีการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว 30 คดี มีผู้ต้องหา 30 คน รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว 8 คน และอยู่ระหว่างติดตามและออกหมายเรียก 4 คน รวมถึงได้รับความร่วมมือจากสำนักงานอัยการสูงสุดส่งทีมมาสอบปากคำเด็กแล้ว นอกจากนี้ ทางคุรุสภาได้มาแจ้งความร้องทุกข์เอาผิดครูและผู้บริหารโรงเรียน

ส่วน นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า อัยการได้ทำงานร่วมกับทีมพนักงานสอบสวน ในการสอบปากคำเด็กและผู้ปกครอง 41 ปาก คดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน อัยการไม่สามารถก้าวล่วงได้ แต่ให้ความมั่นใจว่าเราจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด ดูเป็นสำนวนๆ ไป เช่น คดีทำร้ายร่างกายและจิตใจเด็ก ทารุณกรรมเด็ก กักขังหน่วงเหนี่ยวเด็ก และกระบวนการประกอบวิชาชีพที่ไม่มีใบอนุญาต เป็นต้น เพราะเรื่องการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก เป็นเรื่องที่สังคมยอมรับไม่ได้

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดี ดย. กล่าวว่า ภายในเดือนนี้ พม.จะร่วมมือกับภาคเครือข่าย ประกาศเจตนารมณ์สังคมไทยไม่ใช่ความรุนแรงต่อเด็ก รวมถึงจะจะเร่งจัดอบรมพี่เลี้ยงเด็ก ให้ความรู้ความเข้าใจในการดูแลเด็ก รวมถึงเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ปกครองเด็กและเยาวชนในสถาบันต่างๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองในโรงเรียนดังกล่าว สามารถขอรับคำปรึกษาและประเมินสภาพจิตใจ ได้ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี เบอร์โทรศัพท์ 0-2582-1299