ถล่มยับ "ครูจุ๋ม" ทำร้ายนักเรียน กระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ ขาดจิตสำนึก ทำคนส่วนใหญ่ ห่วงลูกหลานถูกครูทำโทษ ทั้งด่า ตี หยิก ดุ ย้ำผู้บริหารโรงเรียนต้องสอดส่องดูให้มากกว่านี้
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสํารวจความคิดเห็นของประชาชนทางออนไลน์ จํานวน 1,896 คน จากเหตุการณ์สะเทือนใจ กรณี "ครูจุ๋ม" ครูพี่เลี้ยงทำร้ายร่างกายนักเรียนชั้นอนุบาล โดยพบว่าส่วนใหญ่ 78.90% ไม่เคยมีประสบการณ์ความรุนแรงในชั้นเรียน ซึ่งเกิดจากครู ส่วน 21.10% เคยโดนตีด้วยไม้บรรทัด ไม้เรียว แปรงลบกระดาน, หยิกที่แขน ขา ท้อง ดึงหู กระชากเสื้อ, ถูกตะคอก ขู่ เสียงดัง พูดจาหยาบคาย, ขว้างปาสิ่งของใส่ เช่น แปรงลบกระดาน สมุด หนังสือ, ขังในห้อง ให้อยู่ในที่มืด และ ใช้หนังยางดีด เป็นต้น
ขณะที่ความคิดเห็นที่มีต่อข่าว “ครู” ทำร้ายนักเรียน พบว่าอันดับ 1 เป็นการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง 84.36% อันดับ 2 ไม่มีจรรยาบรรณความเป็นครู ขาดจิตสำนึก 83.41% อันดับ 3 รู้สึกหดหู่ สลดใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 79.71% อันดับ 4 โรงเรียนขาดการดูแลเอาใจใส่ ปล่อยปละละเลย 74.59% และอันดับ 5 กระทรวงศึกษาธิการ ควรมีมาตรการป้องกันอย่างเร่งด่วน 73.64%
ส่วนสาเหตุที่ “ครู” มักจะมีข่าวลักษณะนี้บ่อยมากขึ้น อันดับ 1 ครูขาดจิตสำนึก ไม่มีจิตวิญญาณความเป็นครู 86.77% อันดับ 2 การสอบคัดเลือกครูไม่สามารถคัดกรองครูดีได้จริง 73.33% อันดับ 3 โรงเรียนไม่เข้มงวด 63.28% อันดับ 4 สภาพสังคม เศรษฐกิจเปลี่ยนไป ทำให้ครูเกิดความเครียด 49.73% และอันดับ 5 ปัญหาครอบครัว/เรื่องส่วนตัว 47.18%
นอกจากนี้สิ่งที่ผู้ปกครองเป็นห่วงบุตรหลานมากที่สุด อันดับ 1 การทำโทษของครู(ตี/หยิก/ดุ/ด่า) 80.54% อันดับ 2 การเรียน 62.41% อันดับ 3 เพื่อนแกล้ง 54.08% อันดับ 4 อาหารการกิน 43.11% และอันดับ 5 การเดินทาง (รถรับส่ง/รถสาธารณะ) 40.46%
...
สำหรับวิธีป้องกันแก้ไข เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก พบว่าอันดับ 1 ผู้บริหารโรงเรียนต้องสอดส่องดูแลและเอาใจใส่มากขึ้น 79.80% อันดับ 2 มีระบบการคัดเลือกครูที่ดี มีมาตรฐาน คัดคนดี มีใจรัก 77.32% อันดับ 3 ต้องควบคุม ดูแลทั้งพฤติกรรมของครูและเด็ก 72.31% อันดับ 4 ผู้ปกครองต้องคอยสังเกต ซักถาม ดูแลบุตรหลานใกล้ชิด 68.46% และอันดับ 5 มีมาตรการและบทลงโทษที่รุนแรง 60.76%
ด้าน น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้น ประชาชนมองว่า “ครู” ขาดจิตวิญญาณความเป็นครู ซึ่งเป็นสิ่งที่ครู ทุกคนควรจะต้องมี โดยผู้บริหารกระทรวงศึกษาฯ และผู้บริหารโรงเรียนควรเร่งดําเนินการตรวจสอบ แก้ไข และหามาตรการป้องกัน ทั้งนี้ รัฐบาลเองก็ควรให้ความสําคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้น ใช้โอกาสนี้ในการแก้ปัญหาของครูทั้งระบบ ไม่เช่นนั้นจากปัญหาความรุนแรงในชั้นเรียน อาจเป็นเสียงดังที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การทํางานของรัฐบาลได้เช่นกัน
ดร.สิทธิพร เอี่ยมเสน คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า หากมองจากตัวเลข “ความรุนแรงในชั้นเรียน” ซึ่งเกิดจากครู 21.10% ที่เคยมีประสบการณ์ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการตีด้วยไม้บรรทัด ไม้เรียว การหยิก หรืออื่นๆ นับว่าน่ากลัวมาก แม้ว่า 21.10% อาจมองว่าเพียงแค่ประมาณ 1 ใน 5 แต่หากมองถึงสิ่งนี้เกิดจากครู มันน่าจะเป็นศูนย์ เพราะคนที่เป็นครู มีหน้าที่ที่ต้องดูแลเอาใจใส่ ให้ความเมตตาเด็ก
“สิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้น แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง การตีหรือหยิก เพื่อการอบรมสั่งสอน ลงโทษเพื่อให้หลาบจํา ไม่ให้ทําในสิ่งที่ไม่ถูกต้องอีก มีการอธิบายความผิดให้เข้าใจ นักเรียนยอมรับความผิดและยอมรับการลงโทษนั้นๆ สิ่งนี้อาจไม่ถือว่าเป็นความรุนแรงที่เกิดจากครู และกรณีครูจุ๋ม จะเรียกว่าเป็นครูก็ไม่ถูก เนื่องจากไม่ได้จบปริญญาตรีครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ เป็นการกระทําที่ถือว่าผิด ถ้าเป็นข้าราชการก็คือการทําผิดวินัยเลยทีเดียว”.