พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปลายปี 62-มิ.ย.63 พื้นที่กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะเกิดขึ้นเฉลี่ย 9,717 ตันต่อวัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกับปีที่ผ่านมา 847 ตันต่อวัน หรือ8% (เดิม 10,564 ตันต่อวัน) เนื่องจากการประกอบกิจการต่างๆรวมถึงธุรกิจการท่องเที่ยวหยุดชะงัก อย่างไรก็ดีการส่งเสริมการทำงานที่บ้านส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารแบบดีลิเวอรีที่มากขึ้น โดยช่วงเดือนเมษายน2563 สัดส่วนของขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็น 36.94% หรือคิดเป็น 3,453 ตันต่อวัน

จากขยะทั้งหมด 9,347 ตันต่อวัน ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนพลาสติกในภาวะปกติเมื่อปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วน 20.03%
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า หลังจากมีมาตรการผ่อนปรน โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สัดส่วนขยะที่ทำมาจากพลาสติกลดลงเหลือ 20.93% จากปริมาณขยะทั้งหมด 9,194โดยแบ่งเป็นพลาสติกที่ใช้ประโยชน์ได้ 22% และใช้ประโยชน์ไม่ได้ 78% และช่วงเดือนมิถุนายน สัดส่วนขยะพลาสติกลดลงเหลือ 19.64% จากปริมาณขยะทั้งหมด 9,286 ตันต่อวัน โดยแบ่งเป็นพลาสติกที่ใช้ประโยชน์ได้ 21% และใช้ประโยชน์ไม่ได้ 79% ทั้งนี้ กทม.ได้ดำเนินการลดการใช้พลาสติกอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นที่หน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดลด ละ เลิกการใช้โฟมและพลาสติกอย่างจริงจัง ตั้งแต่การจัดประชุมให้ใช้แก้วน้ำส่วนตัว ลดใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติกและโฟม รณรงค์ใช้ถุงผ้าและกล่องบรรจุอาหารแทนการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม ร้านค้า ร้านอาหารในหน่วยงานงดใช้โฟมบรรจุอาหาร งดจ่ายถุงพลาสติกใส่ยาให้ผู้ป่วยกลับบ้านในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร และศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์นมโรงเรียนจากถุงนมซึ่งทำมาจากพลาสติกมาเป็นกล่องนมยูเอชทีและสำนักงานเขตทุกเขตได้จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในชุมชน สถานศึกษา และสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง

...

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครมีมาตรการรณรงค์ทิ้งขยะแยกประเภท โดยตั้งถังรองรับมูลฝอยในที่สาธารณะ 2 ประเภทได้แก่ ถังสีเหลืองสำหรับทิ้งขยะรีไซเคิลถังสีน้ำเงินสำหรับทิ้งขยะทั่วไป และได้ปรับปรุงรถเก็บขนมูลฝอยให้มีช่องแยกสำหรับเก็บขยะแยกประเภทไปพร้อมกับการเก็บขยะทั่วไป โดยมีช่องสำหรับใส่ขยะเพิ่มอีก 2 ประเภท บริเวณหลังคนขับรถ ได้แก่ช่องสีเหลืองสำหรับใส่ขยะรีไซเคิล ช่องสีส้มสำหรับใส่ขยะอันตราย ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครขอความร่วมมือประชาชนลด ละ เลิกการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ช้อน มีดส้อมพลาสติกถุงพลาสติก เลือกใช้ภาชนะที่ใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ และช่วยกันลดปริมาณขยะโดยคัดแยกขยะที่รีไซเคิลขายหรือบริจาคใส่ถุงมัดปากด้วยเชือกสีเหลืองให้แน่น วางข้างถังขยะ เพื่อให้พนักงานเก็บใส่ช่องสีเหลืองหรือถุงที่เตรียมไว้ และแยกขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ กระป๋องสเปรย์ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ยาหรือเครื่องสำอางหมดอายุ ใส่ถุงสีส้มหรือถุงสีอื่นและผูกด้วยเชือกสีส้มให้แน่น วางข้างถังขยะเพื่อให้พนักงานเก็บใส่ช่องสีส้มหรือถุงขยะอันตรายที่เตรียมไว้ และนำไปกำจัดด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป.