เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่โรงแรมโฟร์วิงส์ นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกแนว สายทางและรูปแบบทางขึ้น-ลงที่เหมาะสม) โครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางด่วนบางนา-อาจณรงค์ (S1) ว่า จากการศึกษาแนว สายทางที่มีทั้งหมด 3 แนวสายทาง พบว่าแนว สายทางที่ 3 ได้คะแนนรวมสูงสุดและมีความเหมาะสม เนื่องจากค่าก่อสร้างไม่สูง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่ำ และพื้นที่การเวนคืนน้อย โดยแนวสายทางเริ่มต้นที่บริเวณประตูทางเข้า-ออกท่าเรือกรุงเทพ Terminal3 เลยทางเข้าสำนักงานเขตคลองเตย ก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจรไปกลับ อยู่ด้านบนและไปตามแนวถนนอาจณงค์ เมื่อผ่านประตูทางเข้า-ออกท่าเรือกรุงเทพ Terminal1, 2 จะมีทางขึ้นสำหรับรถบรรทุกจาก Terminal1, 2 เข้าใช้ทางพิเศษได้ เมื่อถึง กม.1+248 จะข้ามถนนเลียบทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ และจะแยกเป็นขาทางเชื่อม (Ramp) เข้าเชื่อมกับทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ประกอบด้วยขาทางเชื่อมไปทางพิเศษบูรพาวิถี และขาทางเชื่อมไปทางพิเศษฉลองรัช ระยะทางจากจุดเริ่มต้นถึงจุดทางแยกทางเชื่อม 1,284 เมตร
สำหรับรูปแบบทางขึ้น-ลง มีทั้งหมด 8 ทางเลือก โดยคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่ 6 มีความเหมาะสมที่สุดโดยทางเชื่อม Terminal1, 2 ออกแบบเป็นช่องทางเฉพาะสำหรับรถบรรทุกที่ออกจาก Terminal1, 2 จะใช้ช่องทางเฉพาะขึ้นทางพิเศษได้โดยไม่ตัดกระแสจราจรบนถนนอาจณรงค์เชื่อมต่อไปยังทางพิเศษฉลองรัช และจัดจราจรทิศทางเดียวบนถนนอาจณรงค์ของ ปตท. และ Terminal3 ออกแบบเป็น Interchange และวงเวียน โดยรถที่ออกจาก Terminal3 สามารถใช้ Interchange เข้า Terminal3 ได้โดยตรงหรือไปเชื่อมต่อกับวงเวียนได้ ทั้งนี้จะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งเดือน พ.ย. และเดือน ธ.ค. และสรุปเสนอการท่าเรือฯ เพื่อรายงานที่ประชุมบอร์ดการท่าเรือฯ พิจารณาต่อไป.
...