กสศ.โชว์พลังขับเคลื่อนประเทศ ด้วยการพัฒนาอาชีพ ผ่านใช้ชุมชนเป็นฐานราก พร้อมฟังกลุ่มเป้าหมายทั้งคนพิการ ผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ ผู้ต้องขัง เพื่อเปลี่ยนแนวคิดเชิงลบสู่การเพิ่มคุณภาพชีวิต
วันที่ 1 ก.ย. ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการบทเรียนการพัฒนาทักษะอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน พร้อมฟังเรื่องราวจริงจากกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ชุมชนเป็นฐานขับเคลื่อนจนเกิดอาชีพ และรายได้ที่ยั่งยืน นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ให้ชาวบ้านและชุมชน โดยมีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งงานจัดขึ้นที่ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว เมื่อวันที่ 28-29 ส.ค.ที่ผ่านมา
...
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า สำหรับคนชายขอบ คนในชุมชนถือเป็นกลุ่มคนสำคัญของประเทศที่จะมาร่วมคลายล็อก คลายปัญหาของประเทศ โดยพัฒนาวัตถุดิบที่มีในชุมชนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพหลากหลาย ทั้งนี้เรามีความเชื่ออยู่ 3 สิ่ง คือ 1.เชื่อว่าชุมชนเป็นฐานสำคัญ เป็นแหล่งเรียนรู้หล่อหลอม สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเชื่อมโยง ส่งต่อคนจากรุ่นสู่รุ่น ในขณะที่ กสศ.เข้าไปสนับสนุนงบประมาณแม้จะไม่มาก แต่ก็เป็นการให้โอกาสกับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ แม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้ต้องขัง ฯลฯ ที่สำคัญการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ 2.เชื่อว่าสินค้าเหล่านี้เป็นสัมมาอาชีวะ ที่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาต่อยอดผสมผสานให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ และ 3.เป็นการคืนศักดิ์ศรีของคนในชุมชนที่สามารถสร้างองค์ความรู้ กำหนดชะตาชีวิตตนเองและชุมชนได้เองจากทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่แล้ว
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ปี 2563 มีผู้ยื่นข้อเสนอโครงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐานมากว่า 700 โครงการ ผ่านการคัดเลือกจริง 130 กว่าโครงการ ซึ่งหลังจากการดำเนินการแล้วจะมีการถอดบทเรียนองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการที่ไม่ได้รับการคัดเลือกนั้นต่างล้วนมีข้อดีทั้งนั้น ขออย่าเพิ่งถอดใจ เพราะการให้ทุนสนับสนุนโครงการเหล่านี้นับเป็นหัวใจของ กสศ. ดังนั้นเราจะดำเนินโครงการต่อเนื่องในปีต่อๆ ไปพร้อมหางบประมาณมาสนับสนุนมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ตรงจุดและเกิดประสิทธิภาพคุ้มค่า
"เรายืนยันเดินหน้าโครงการต่อไปเรื่อยๆ เพราะเป็นการสร้างโอกาสให้คนชายขอบ คนจน คนพิการ คนสูงอายุในชุมชน มีอาชีพ ซึ่งเป็นการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม เป็นการเปิดโอกาสและเติมเต็มคุณภาพชีวิตของมนุษย์อย่างมหาศาลจากภูผาสู่มหานที ถ้าไม่ส่งเสริมอาชีพปัญหาสังคมจะสูงขึ้น ทั้งการขโมย ความเครียด ซึมเศร้า โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่จะสูงมากขึ้นจากเดิมที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว" ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
นางทิพวดี ยศโสทร สตรีชาวม้งบ้านคอดยาว อ.ภูซาง จ.พะเยา ตัวแทนกลุ่มเป้าหมาย กศน. ภูซาง จ.พะเยา (ภาคเหนือ) กล่าวว่า บ้านคอดยาว จัดเป็นพื้นที่สีแดงทำให้ภาพลักษณ์ไม่ค่อยดี และไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งนี้ ตนเป็นคนน่านมาเป็นสะใภ้ที่บ้านคอดยาว ได้สัมผัสว่า คนในชุมชนต่างคนต่างอยู่ ต่างทำมาหากิน ไม่ค่อยสนใจทำกิจกรรมร่วมกัน จะพบปะกันก็ต่อเมื่อมีการเรียกประชุมเท่านั้น คนในพื้นที่มีการศึกษาเพียง ป.6 และ ม.3 เสียส่วนใหญ่ เพราะค่านิยมว่า การศึกษาสูงไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผู้หญิงต้องแต่งงานมีครอบครัว กระทั่งได้รวมกลุ่มเล่นกีฬาวอลเลย์บอล พอแข่งขันชนะก็ถูกเลือกให้เป็นประธานกลุ่มแม่บ้าน และเริ่มพูดคุยถึงการหารายได้เสริมจากการทำเกษตร จึงร่วมกับสมาชิกที่เล่นกีฬาด้วยกันประมาณ 5 คน หารายได้จากสิ่งที่ชุมชนมีคือผ้าเขียนเทียน ซึ่งเดิมเขียนด้วยมือ แต่ปัจจุบันใช้แม่พิมพ์ทำให้เอกลักษณ์เดิมหายไป จึงอยากอนุรักษ์ไว้เป็นจุดขายของชุมชน แต่ปัญหาคือไม่มีความรู้ทักษะฝีมือ และขาดการสนับสนุนงบประมาณ จึงไม่สามารถเดินหน้าต่อได้
...
"กระทั่งมี กศน.เข้ามาให้ความรู้ด้านอาชีพ และ กสศ. เปิดโครงการนี้พอดีจึงได้ทำโครงการอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้กลุ่มเป้าหมายได้รับประโยชน์ อาทิ ผู้พิการ ผู้ว่างงาน กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ฯลฯ ทั้งนี้ปัจจุบันมีการพัฒนามาเรื่อยๆ โดยนำจุดเด่นมารวมกันเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และเปิดตลาดออนไลน์ ขยายฐานลูกค้าโดยไม่ต้องมีหน้าร้าน ปัจจุบันได้รับความสนใจจากทั้งคนไทย คนต่างชาติ และที่สำคัญเกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชนมากขึ้น และมีมุมมองเรื่องการศึกษาใหม่มากขึ้น" นางทิพวดี กล่าว
ขณะ นายธีระธาดา รสเจริญ ตัวแทนกลุ่มเป้าหมายของสถานพินิจนครศรีธรรมราช (ภาคใต้) กล่าวว่า ตนเคยเป็นเด็กที่เรียนดี แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นอยากมีชีวิตเป็นของตัวเอง ก็เริ่มเกเร หนีพ่อแม่ไปเที่ยว โดดเรียน และติดยาเสพติดอย่างหนักจนถูกให้ออกจากโรงเรียน และพอเรียนจบ ม.3 ก็บอกพ่อว่า ไม่ขอเรียนต่อ จะขอทำงาน แต่พ่อต่อรองพบกันครึ่งทาง คือ ขอให้เรียน กศน.แทน ซึ่งก็รับปากไปจากนั้นทั้งเรียน กศน.และทำงานไปด้วย เมื่อมีเงินแล้ว และยังคบเพื่อนกลุ่มเดิม ติดยาหนักขึ้น และถูกจับ ต้องส่งตัวไปอยู่สถานพินิจ ระหว่างรอส่งตัวก็คิดว่าชีวิตคงจบสิ้นไปเพียงเท่านี้ แต่ระหว่างที่อยู่ภายในสถานพินิจมีการเรียน มีการฝึกอาชีพหลายโครงการ ด้วยพื้นฐานที่เรียนดีอยู่แล้วจึงพัฒนาได้เร็วกว่าคนอื่นๆ และเคยออกไปแข่งขันเห็นโลกภายนอกอีกครั้งในเวลาสั้นๆ แต่ก็ทำให้ตนคิดถึงการมีอิสรภาพอีกครั้ง และพอมีโครงการฝึกช่างกระเบื้อง ซึ่งเป็นงานที่ตนไม่ชอบและต่อต้าน มีการหนีเรียน ไม่เปิดรับ จนเกิดปัญหาโดยรวมกับเพื่อนๆ ทำให้ครูเรียกไปคุยแนะนำให้เห็นข้อดีต่างๆ จึงเริ่มเปิดใจและสามารถทำได้ดี มีความสุขกับงานนี้จนลืมไปว่าเคยไม่ชอบ เมื่อได้รับการปล่อยตัวจึงคิดกลับไปเรียนต่อ แต่ก็กังวลว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป จะไหวหรือไม่ กลายเป็นการสบประมาทตัวเอง แต่เมื่อคิดถึงโครงการช่างกระเบื้องขนาดเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบยังทำได้ดี ดังนั้นการเรียนซึ่งเราเคยทำได้ดีมาก่อนครั้งนี้ทำไมจะเริ่มต้นใหม่ไม่ได้
...
“ผมขอฝากเยาวชนว่าถ้าคิดว่าเป็นเพราะเพื่อน สังคม สิ่งแวดล้อม เป็นมูลเหตุให้เราหลงผิด ส่วนหนึ่งก็อาจจะใช่ แต่สุดท้ายสิ่งที่มีผลต่อตัวเรา มีผลต่อการดำเนินชีวิต ต่อการยืนและการเดินไปข้างหน้าของเรา จริงๆ ขึ้นอยู่กับใจของเรา ถ้าใจเราบอกว่าไม่ก็คือไม่ เอาก็คือเอา ดังนั้นจงยืนให้เป็น เดินอย่างมีสติ ก้าวต่อไปอย่างมีสติ และขอบคุณสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ขอบคุณโอกาสจาก กสศ. ที่ทำให้ผมได้เรียนในโครงการนี้ และนำมาต่อยอด ถ้าไม่มีโครงการดีๆ ที่มอบโอกาสให้กับผม ก็คงไม่มีตัวผมในวันนี้” นายธีระธาดา กล่าว.