- เกิดคำถามมากมายจากสังคม ไทยมีความจำเป็นซื้อเรือดำน้ำหรือไม่? ขณะที่ประเทศชาติกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากพิษโควิด ธุรกิจทยอยเจ๊งปิดกิจการ คนตกงานจำนวนมาก อาจมากถึง 8-10 ล้านคน จากการคาดการณ์ของหลายฝ่าย และควรนำเงิน 2.5 หมื่นล้านบาทค่าเรือดำน้ำ ไปสร้างงาน ฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจะดีกว่า
- ในแง่ลักษณะทางภูมิศาสตร์น่านน้ำไทย ฝ่ายที่คัดค้านมองว่าเรือดำน้ำเหมาะสำหรับทะเลน้ำลึกที่ไม่ใช่ทะเลอ่าวไทย และปัจจุบันไทยไม่ได้มีข้อพิพาททางทะเลกับประเทศใดๆ ขณะที่กองทัพเรือมองความจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ เปรียบเสมือนกองกำลังใต้น้ำที่จะสร้างความน่าเกรงขาม เนื่องจากความขัดแย้งในทะเลยังคงมีอยู่ และไม่มีใครยืนยันได้ว่าสถานการณ์จะไม่บานปลายไปถึงขั้นการใช้กำลัง
- ในอดีตไทยเคยมีเรือดำน้ำ 4 ลำ สร้างโดยญี่ปุ่น หลังกองทัพของไทยได้รับการอนุมัติงบ 18 ล้าน ในการจัดซื้อเรือดำน้ำ โดยเริ่มเข้าประจำการในปี 2481 ก่อนปลดระวางในปี 2494 หรือใช้งานเกือบ 13 ปี และประเทศเพื่อนบ้านของไทยในอาเซียนที่มีเรือดำน้ำ ประกอบด้วยเวียดนาม 6 ลำ อินโดนีเซีย 5 ลำ สิงคโปร์ 4 ลำ มาเลเซีย 2 ลำ และเมียนมา 1 ลำ
...
อ่าวไทยตื้น เพื่อนบ้านไม่ใช่ข้าศึก ไม่จำเป็นซื้อเรือดำน้ำ
ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ พูดคุยกับศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการด้านความมั่นคง ได้ยืนยันชัดเจนไทยไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องจัดซื้อ "เรือดำน้ำ" และหากพิจารณาลักษณะทางภูมิศาสตร์น่านน้ำในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน การปกป้องทางผิวน้ำ ด้วยการใช้เรือหรือเครื่องบินลาดตระเวนน่าจะเหมาะสมมากกว่าการใช้เรือดำน้ำ และการที่กองทัพเรืออ้างว่าจะนำเรือดำน้ำไปใช้ในภารกิจในทะเลจีนใต้ เป็นความคิดเกินความเป็นจริง เพราะข้อพิพาททะเลจีนใต้ไม่เกี่ยวกับไทย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มี "เรือดำน้ำ" อยู่แล้ว ซึ่งเผชิญกับปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ ขณะที่บางประเทศมีความจำเป็นด้านภูมิศาสตร์ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม แต่ไทยไม่มีความจำเป็นในแง่นี้
“แผนการจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ เตรียมการมานานนับสิบปี และเมื่อปี 2558 คณะกรรมการคัดเลือกเรือดำน้ำของกองทัพเรือ มีมติ 14 เสียง จากกรรมการทั้งหมด 17 คน เลือกเรือดำน้ำจีนจำนวน 3 ลำ โดยใช้งบประมาณจัดซื้อ 3.6 หมื่นล้านบาท ทั้งๆ ที่ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียน มีเรือบรรทุกเครื่องบิน มีฝูงบินประจำส่วนกองทัพเรือ หากหยุดโครงการนี้สักระยะหนึ่ง ไม่เชื่อว่าจะเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นยังไม่มีความจำเป็นต้องซื้อเรือดำน้ำ เพราะอ่าวไทยตื้น เพื่อนบ้านไม่ใช่ข้าศึก การออกมาพูดว่ากลัวการปิดอ่าว คิดว่าเป็นจินตนาการที่ไทยเคยเจอในสมัยรัชกาลที่ 5”
หลังรัฐประหาร กองทัพไทย ซื้อยุทโธปกรณ์เป็นหลัก
ศ.ดร.สุรชาติ ตั้งข้อสังเกตว่า หลังรัฐประหารปี 2557 เห็นได้ชัดกระทรวงกลาโหมใช้งบประมาณจัดซื้อยุทโธปกรณ์เป็นหลักและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยุทโธปกรณ์จำนวนมากมาจากจีน เป็นการสะท้อนภาพ “ลัทธิอาวุธนิยม” และ “วัฒนธรรมอาวุธ” คือ การนำเอายุทโธปกรณ์ใหม่เข้าประจำการ ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าการพัฒนาทางทหารของไทยมีความหมายเพียงการซื้ออาวุธสมรรถนะสูงเท่านั้น จากรายการจัดซื้อในช่วงที่ผ่านมา ทั้งเรือดำน้ำ รถถัง รถหุ้มเกราะล้อยาง และเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการทางยุทธศาสตร์ของประเทศได้ทั้งหมด เพราะแนวโน้มของสงครามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง หรือโอกาสเกิดสงครามกับเพื่อนบ้าน มีความเป็นไปได้น้อยลงมาก
...
ส่วนการแถลงของกองทัพเรือ ไม่ใช่การชี้แจงหรือชักชวนให้สังคมสนับสนุนการจัดซื้อเรือดำน้ำ หากแต่ทำเพื่อประกาศศักดา ความเป็นใหญ่ของทหารว่าทำอะไรก็ได้ อย่ามาค้าน เสมือนการประกาศสงครามกับพรรคฝ่ายค้าน กลายเป็นเวทีตอบโต้ทางการเมือง ส่งผลต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตย และอาจกลับกลายเข้าสู่วงจรรัฐประหารอีกครั้ง เนื่องจากผู้นำทหารไม่ยอมรับระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะการถูกตรวจสอบการซื้ออาวุธโดยกระบวนการรัฐสภาและจากสังคม โดยไม่ใส่ใจว่าผู้คนในสังคมไทยกำลังเผชิญสถานการณ์โควิด ต้องการความช่วยเหลือเรื่องสวัสดิการจากภาครัฐ ทำให้ไม่มีใครอยากได้เรือดำน้ำ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาประเทศชาติได้ในยามเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ
“งบประมาณกองทัพมาจากภาษีของประชาชน แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ หลังการรัฐประหาร 2557 มีแต่เรื่องฉาวโฉ่ ไม่มีความโปร่งใส แม้จะมีเสียงคัดค้านและให้ชะลอโครงการอย่างไร ก็จะเดินหน้าจัดซื้อเรือดำน้ำมูลค่ามหาศาล พร้อมข้ออ้างภัยคุกคามทางทะเลที่ไม่มีความชัดเจน และยังทำร้ายจิตใจประชาชนส่วนใหญ่ที่กำลังเผชิญความยากจนและหิวโหย ยิ่งเพิ่มเชื้อไฟในการต่อต้านรัฐบาลมากยิ่งขึ้น และถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูปกองทัพ เป็นวาระสำคัญทางการเมืองในอนาคต”.
...
ผู้เขียน : ปูรณิมา