ท่ามกลางเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยในการจัดซื้อเรือดำน้ำ เนื่องจากขณะนี้ไทยกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ในห้วงเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด ขณะที่กองทัพเรือไทย ยังคงยืนยันความจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ เพื่อความมั่นคงผลประโยชน์ในทะเล แม้ว่าสงครามจะยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม
แนวความคิดของกองทัพเรือไทย ในการจัดหา "เรือดำน้ำ" มีมาตั้งแต่ปี 2453 แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณ จึงไม่สามารถจัดหาเรือดำน้ำมาได้ ต่อมาภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปลายปี 2477 สภาผู้แทนราษฎร ได้อนุมัติพ.ร.บ.บำรุงกำลังทหารเรือ พ.ศ.2478 ในการจัดหาเรือดำนำ้ งบประมาณ 18 ล้านบาท และกองทัพเรือได้เรียกประกวดราคาสร้างเรือดำน้ำในปี 2478 โดยบริษัทมิตซูบิชิ โชยีไกชา จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เสนอราคาต่ำที่สุด จึงได้รับเลือกในการว่าจ้าง
กระทั่งปี 2481 ไทยได้มีเรือดำน้ำ 4 ลำ เป็นชาติแรกในอาเซียน ได้แก่ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล ซึ่งเป็นชื่อพระราชทาน นอกจากนี้มีการกำหนดให้วันที่ 4 ก.ย. ของทุกปีเป็น “วันเรือดำน้ำ” เนื่องจากเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2480 ทางญี่ปุ่นสามารถสร้างเรือหลวงมัจฉาณุ และเรือหลวงวิรุณ จนประสบความสำเร็จ 2 ลำแรก ถือเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ราชนาวีไทยมีเรือดำน้ำเป็นครั้งแรก ส่วนเรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2481
...
เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ มีบทบาทสำคัญในช่วงเหตุการณ์รบทางเรือ “ยุทธนาวีเกาะช้าง” กรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างไทยและฝรั่งเศส เมื่อปี 2484 โดยกองทัพเรือไทยได้ใช้เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ตระเวนข่มขวัญฝรั่งเศสในทะเลอ่าวไทย จนต้องรีบถอนกำลังกลับไปกรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ในขณะนั้น นอกจากนี้ยังลับส่งสายลับขบวนการเสรีไทย
ต่อมาในปี 2494 เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้ปลดประจำการ ภายหลังรับใช้ชาติมากว่า 13 ปี เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่ หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ และโรงงานของไทย ไม่สามารถผลิตแบตเตอรี่สำหรับใช้ประจำเรือได้ และเกิดเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2494 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในกองทัพเรือ มีคำสั่งยุบหมวดเรือดำน้ำ และนำเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ มาจอดบริเวณท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช ต่อมามีการขายให้กับบริษัทปูนซีเมนต์ไทย เพื่อทำการศึกษา และคงเหลือแต่หอบังคับการ อาวุธปืน และกล้องส่อง นำมาจัดสร้างสะพานเรือจำลอง จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ หน้าโรงเรียนนายเรือ และป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ
...
เมื่อสงครามโลก ครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี 2492 กองทัพเรือได้เสนอโครงการ 5 ปี ต่อรัฐบาล ในการจัดหาเรือดำน้ำอีก 8 ลำ ในระหว่างปี 2493-2494 แต่ไม่ได้รับอนุมัติและต้องเลิกล้มไป เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ และไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์ ซึ่งได้มีการกำหนดขอบเขตการปฏิบัติงานของกองทัพเรือไทย ทำให้การจัดหาเรือดำน้ำต้องชะงักไป
ความพยายามของกองทัพเรือไทย ยังมีอย่างต่อเนื่องที่จะเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ กลับเข้าประจำการอีกครั้งหนึ่งเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บทางทะเลตั้งแต่ปี 2528 จนเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2560 รัฐบาล คสช.ได้มีมติเห็นชอบจัดซื้อเรือดำน้ำ หยวนคลาส เอส 26 ที จำนวน 1 ลำ วงเงิน 1.35 หมื่นล้านบาท โดยไม่มีการแถลงข่าว อ้างว่าเป็นเอกสารลับที่สุด ในโหมดงานด้านความมั่นคง ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมาย กระทั่งปีงบประมาณ 2563 จะขอจัดซื้ออีก 2 ลำต่อเนื่องมาจากปี 2560 แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด จึงโอนงบประมาณคืน และจะใช้จ่ายงวดแรกในปีงบประมาณ 2564 และไปจบงวดสุดท้ายในปี 2570.
ภาพจาก : สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ