ในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายนของทุกปี มักเป็นเดือนที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมี “พายุหมุนเขตร้อน” เคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน 1–2 ลูก ส่งผลกระทบในหลายภูมิภาค อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ถนนหลายสายถูกตัดขาดไม่สามารถสัญจรผ่านได้ชั่วคราว
และผลกระทบนี้ยังยาวมาถึง “กรุงเทพฯและปริมณฑล” ที่เป็นพื้นที่รองรับน้ำเวลาน้ำท่วมไหลหลากจาก “น้ำเหนือ” ไหลบ่าลงมาสู่พื้นที่นี้เข้ามาสมทบ “น้ำฝนพื้นที่” และ “น้ำทะเลหนุน” ตามฤดูกาล กลายเป็น ปรากฏการณ์ “น้ำท่วมขังรอการระบาย” โดยเฉพาะกรุงเทพฯชั้นใน ย่านเศรษฐกิจ
ทว่า...“หน่วยงานผู้รับผิดชอบโดยตรง” ก็พยายามชี้แจงเหตุ “ภัยพิบัติธรรมชาติยากคาดเดา” แต่ก็มีการระดมสรรพกำลังออกปฏิบัติการแก้ไขปัญหา อย่างเต็มกำลัง แต่เพราะปริมาณน้ำฝนมากเกินไป และมีปัญหาขยะอยู่มาก ทำให้ระบบระบายน้ำไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ แต่สุดท้ายก็ยังเกิด “น้ำรอระบาย” เช่นเดิม
...
ปัญหานี้อาจสะท้อนถึงความไม่พร้อมรับมือกับภาวะน้ำท่วมขัง ส่งสัญญาณสะเทือนถึงความน่าเชื่อมั่นของการบริหารจัดการน้ำ กทม. ที่กลายเป็นความเคยชินของชีวิตคนเมืองกันไปแล้ว
ในการบริหารระบายน้ำ ศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯมีความหลากหลายของปัญหาต่างกันออกไป เรื่องน้ำท่วมนี้มีปัญหา “พื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน” ที่เกิดจาก “ธรรมชาติ” ทั้งจาก “น้ำฝน” มีปริมาณตกผิดปกติ อีกทั้ง “เป็นที่ราบลุ่ม” ทำให้น้ำระบายตามธรรมชาติได้ช้า
ต้องใช้ระบบสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ แต่ก็มาเผชิญกับปัญหา “ขยะขนาดใหญ่กีดขวางทางน้ำ” ทั้งในระบบท่อระบายน้ำ และระบบคลอง ที่เข้าสู่ระบบสูบน้ำออกทะเล ทำให้ต้องมีการล้างท่อระบายเปิดทางน้ำไหล ขุดลอกคูคลอง และเก็บขยะที่ติดหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำทุกวัน เพื่อเตรียมพร้อมรับฤดูฝนในปีนี้
ปัญหาต่อมา...“ขยะของแข็งขนาดเล็ก” ก็เล็ดลอดระบบดักขยะเข้าไปยังระบบสูบน้ำอีก ทำให้เครื่องสูบน้ำเสียหาย อีกทั้ง “ระบบไฟฟ้า” มักเกิดขัดข้อง ระบบสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ไม่ได้ จนเกิดปัญหาน้ำท่วมขังตามมา ดังนั้น ในฤดูฝนนี้ได้ขอความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ประจำสถานีสูบน้ำหลัก
เพื่อแก้ไขปัญหากรณีไฟฟ้าขัดข้อง หรือติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองกรณีเหตุฉุกเฉินในสถานีสูบน้ำหลัก ส่วนระบบอุโมงค์ระบายน้ำกรุงเทพฯ ได้มีการออกแบบให้การไฟฟ้านครหลวงจ่ายไฟฟ้าให้สถานีสูบน้ำไม่น้อยกว่า 2 แหล่งจ่าย เพื่อลดปัญหาไฟฟ้าที่อาจเกิดความขัดข้องขึ้น...
ตอนนี้มีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 195 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คืออุโมงค์ระบายน้ำประชาราษฎร์สาย 2 มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 30 ลบ.ม/วินาที อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา สามารถระบายน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที
อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาระบายน้ำ 45 ลบ.ม/วินาที อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ระบายน้ำ 60 ลบ.ม/วินาที
“ส่วนน้ำท่วมถนนสายหลัก เช่น ถนนวิภาวดีรังสิต ศรีนครินทร์ พระราม 2 เป็นส่วนรับผิดชอบของกรมทางหลวง ในส่วน กทม.ไม่สามารถเข้าไปจัดการใดๆ ได้ แม้เข้าเก็บขยะอุดตันท่อระบายน้ำตามถนนสายหลัก ก็ต้องขออนุญาตหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วยซ้ำ” ศักดิ์ชัยว่า
...
แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมขัง “ประชาชน” ก็มักเข้าใจว่า เป็นความรับผิดชอบของ กทม. ทำให้เกิดกระแสตำหนิการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กันอยู่บ่อยๆ ตลอดมา...
ในส่วน...“การก่อสร้างสาธารณูปโภคกีดขวางทางน้ำ” ทั้งงานก่อสร้างรถไฟฟ้า งานก่อสร้างในบางพื้นที่มีความจำเป็นต้องรื้อย้ายระบบระบายน้ำออกชั่วคราว เพื่อให้ใช้งานได้ประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ลดลง ทำให้มีเศษวัสดุจากการก่อสร้างเข้าไปอุดตันระบบระบายน้ำ
ที่ผ่านมาได้มีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเปลี่ยนแปลงทางระบายน้ำจะต้องมีระบบบายพาสน้ำ สามารถระบายน้ำได้ไม่น้อยกว่าของเดิม ติดตั้งระบบสูบน้ำชั่วคราว และตรวจสอบทำความสะอาดระบบระบายน้ำในบริเวณพื้นที่การก่อสร้างอยู่เสมอ
ถัดออกมา...“กรุงเทพฯฝั่งตะวันตก” โดยเฉพาะ “พื้นที่ฝั่งธนบุรี” ก็เผชิญปัญหา “น้ำทะเลหนุนสูง” เข้าท่วมสิ่งปลูกสร้างชาวบ้านอยู่ประจำ ทั้งยังมีปัญหา “ทะเลกัดเซาะชายฝั่ง” ในเขตบางขุนเทียน มีพื้นที่ความยาวชายฝั่ง 4.7 กิโลเมตร ส่วนความลึกถูกน้ำทะเลกลืนกินหายไป 1 กิโลเมตร มีพื้นที่หายทั้งหมด 5 ตารางกิโลเมตร
เคยมีการเสนอแก้ปัญหานี้ด้วยการ “ถมทะเล” ในการดักตะกอนดิน และยึดเกาะหน้าดินบริเวณชายฝั่ง ทำให้เกิดเป็นแผ่นดินงอกขึ้น หรือนำขนดินจากการขุดงานก่อสร้างโครงขนาดใหญ่ของ กทม.มาถมเพิ่มเติมพื้นที่ชายฝั่ง ที่เป็นการปรับพื้นที่จุดน้ำทะเลกัดเซาะให้กลับคืนมา และพัฒนาสภาพพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป
...
แต่ก็มี “การคัดค้านโครงการ” เพราะเกรงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเสียหาย สุดท้ายก็ได้นำเอา “ไม้ไผ่” มาปักชะลอคลื่นป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแทน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ไม่เกิน 3–4 ปีเท่านั้น
ส่วนพื้นที่ “กรุงเทพฯฝั่งตะวันออก” กลับไม่กลัวน้ำท่วม เพราะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมปลูกข้าวนาปรังปีละ 3 ครั้ง ทั้งยังต้องการน้ำมากด้วยซ้ำ แต่โชคดีในปี 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลงพื้นที่เขตหนองจอก รับทราบปัญหานี้ให้งบประมาณ 90 ล้านบาท ในการปรับปรุงคลอง 95 แห่ง เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ
ประเด็นสำคัญ...“กรุงเทพฯ” แม้มีความหลากหลายของปัญหาแตกต่างกันไป แต่ทุกพื้นที่ต้องเจอปัญหา “น้ำเน่าเสีย” ตามในคลอง 1,161 แห่ง และคู ลำราง ลำกระโดง 521 แห่ง มีลักษณะเป็นโครงข่ายเชื่อมต่อกัน สำหรับคลองที่อยู่ในพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพฯทั้ง 8 แห่ง พบว่าคุณภาพน้ำในคลองมีค่าความสกปรกสูง
สาเหตุมาจาก...1.คลองในกรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นโครงข่ายเชื่อมต่อกัน ทำให้น้ำเสียที่ไหลลงคลองนอกพื้นที่บริการไหลเข้ามาปะปนน้ำในคลองที่อยู่ในพื้นที่บริการ 2.ท่อรวบรวมน้ำเสียถูกก่อสร้างในคลองสายหลัก ส่งผลให้น้ำเสียไหลลงคลองสาขา เมื่อรวมกับคลองสายหลักแล้ว มีคุณภาพน้ำแย่ลงตามไปด้วย
และ 3.ไม่มีพื้นที่ริมคลองเพียงพอสำหรับก่อสร้างบ่อดักน้ำเสีย 4.มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างภายหลังการก่อสร้างท่อรวบรวมน้ำเสีย ทำการเจาะท่อน้ำเสียไหลลงสู่คลองโดยตรง 5.สถานประกอบการส่วนใหญ่ บำบัดน้ำเสียไม่ได้มาตรฐาน ก่อนปล่อยลงคลองสาธารณะ
ยอมรับว่า ในปี 2562 มีการผลิตน้ำเสียอยู่ 2.60 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน อ้างอิงจากข้อมูลการใช้น้ำของการประปานครหลวง และมีโรงควบคุมคุณภาพน้ำ 8 แห่ง สามารถรองรับการบำบัดน้ำเสีย 1.11 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 32 ของปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียในพื้นที่ต่างๆ อยู่เป็นประจำ
...
เบื้องต้นมีการผันน้ำดีจาก “แม่น้ำเจ้าพระยา” บริเวณตอนเหนือกรุงเทพฯ เข้ามาในพื้นที่ผ่านคลองสายหลัก เช่น คลองบางเขน คลองบางซื่อ เพื่อเจือจางน้ำเน่าเสียในพื้นที่กรุงเทพฯ และระบายกลับลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และกำลังก่อสร้างโรงควบคุมคุณภาพน้ำ 4 โครงการ คือ...
โครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี บำบัดน้ำเสียธนบุรี บำบัดน้ำเสียคลองเตย และบำบัดน้ำเสียบึงหนองบอน ถ้าเสร็จจะบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้น 705,000 ลบ.ม.ต่อวัน
ในอนาคต...ปี 2565 คาดว่าจะมีการผลิตน้ำเสีย 2.54 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน มีโครงการบำบัดน้ำเสีย 4 แห่ง บำบัดได้ 1.817 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2583 มีการผลิตน้ำเสีย 3.55 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ดังนั้น ตามแผนต้องก่อสร้างโรงควบคุมคุณภาพน้ำเพิ่ม 15 แห่ง บำบัดน้ำเสีย 3.407 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 96% ของน้ำเสียทั้งหมด
ฝากย้ำว่า กทม.ทุ่มเทรับภารกิจแก้ไข “ระบบน้ำ” ทั้งการสร้างเครื่องไม้... เครื่องมือขึ้นมาให้เพียงพอต่อการรับมืออยู่เสมอ แต่ทุกคนต้อง “งดทิ้งขยะ” ลงในคูคลอง และท่อระบายน้ำ มิให้เกิดการกีดขวางทางน้ำ และเกิดการเน่าเสียขึ้น
เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่ และมีการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป.