2 กมธ. รัฐสภาซักเดือด “เนตร นาคสุข” รอง อสส. ผู้สั่งไม่ฟ้องคดี “บอส-วรยุทธ” นาน 2 ชม. เจ้าตัวตอบไม่ตรงคำถาม แต่ยืนยันใช้ดุลพินิจตามหลักฐานที่ตำรวจส่งมา ด้านคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ตร. รับเจ้าของคดีเก็บหลักฐานไม่ครบ ส่วนการใช้ดุลพินิจไม่เห็นแย้งของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ไม่มีความบกพร่อง เสนอให้ดำเนินคดีต่อในข้อหาขับรถประมาทและเสพยาเสพติด รวมทั้งดำเนินคดีตาม ม.157 กับตำรวจผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ 14 นาย ยศสูงสุดระดับรอง ผบช. ขณะที่ “บิ๊กตู่” ทราบเรื่องบอกก็แค่ “โอเค” ระดับหนึ่ง

ยังเป็นกรณีที่สร้างความเคลือบแคลงใจในกระบวนการยุติธรรม ทั้งการใช้ดุลพินิจของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้องบอส-วรยุทธ อยู่วิทยา หลังขับรถสปอร์ตเฟอร์รารี่ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อเสียชีวิต ขณะขี่รถ จยย. เหตุเกิดบนถนนสุขุมวิท เมื่อวันที่ 3 ก.ย.55 รวมทั้งกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ไม่มีความเห็นแย้ง กระทั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจ-อัยการ ต้องตั้งชุดทำงานขึ้นมาตรวจสอบ รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน โดยคณะกรรมการชุดต่างๆที่ตั้งขึ้นมา เริ่มแถลงผลการตรวจสอบในเรื่องนี้ให้สังคมได้รับทราบบางส่วนแล้ว

...

“ศตวรรษ-จารุวัฒน์” แถลงผล

ความคืบหน้าที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 13 ส.ค. พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องบอส-วรยุทธ อยู่วิทยา ร่วมแถลงข่าวหลังผลการตรวจสอบเรื่องนี้เสร็จสิ้น ตามกรอบที่ ผบ.ตร.กำหนดไว้ 15 วัน พล.ต.อ.ศตวรรษกล่าวว่า ขณะนี้ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการชุดนี้ ดำเนินการเสร็จสิ้นตามกำหนดเวลาและตามที่มีคำสั่งให้สอบ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ว่ากรณีไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการเป็นการกระทำที่ชอบหรือไม่ อีกทั้งให้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทำคดีนี้ใหม่ โดยใช้พยานหลักฐานที่รวบรวมมาได้ใหม่และข้อสุดท้ายมีตำรวจ 11 นาย ที่เคยเกี่ยวข้องในคดีนี้ โดยระบุว่ามีกี่นายที่โดนลงโทษแล้ว และยังมีเจ้าหน้าที่รายใดที่ยังไม่โดนลงโทษ อีกทั้งบางนายยังได้รับแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่ง เป็นคำสั่งให้ตรวจสอบเพิ่มเติม 3 ประเด็น ที่ได้รับคำสั่งจากประเด็นที่เคยตั้งไว้ก่อนหน้านี้

เจ้าของคดีเก็บหลักฐานไม่ครบ

พล.ต.ท.จารุวัฒน์กล่าวว่า คดีนี้แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ 1.คดีที่อยู่ในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน 2.คำสั่งสอบสวนเพิ่มเติมจากพนักงานอัยการ และ 3.การทำความเห็นไม่แย้งพนักงานอัยการ ซึ่งคดีนี้มีความเชื่อมโยงกันมาโดยตลอด ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นมันเกิดมาจากเหตุ คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ก.ย.55 เวลา 05.30 น. พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาบอส-วรยุทธ มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ไม่หยุดให้ความช่วยเหลือ ไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ต้องหาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ดังนั้นสิ่งที่พบว่าเป็นความผิดของพนักงานสอบสวนในขณะนั้นคือ พนักงานสอบสวนไม่ส่งตัวผู้ต้องหาไปตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด ผิดตาม ป.วิ.อาญา ม.131 ไม่รวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วน อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา ต่อมาผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว มีหลักประกันเป็นเงินสด 5 แสนบาท กรณีดังกล่าวพนักงานสอบสวนก็ผิด เนื่องจากผู้ต้องหาเข้ามอบตัวไม่ใช่ผู้ถูกจับและไม่มีหมายจับตาม ป.วิ.อาญา ม.134 ต้องขอให้ศาลออกหมายขังทันที สอบสวนทันตแพทย์ผู้รักษาผู้ต้องหา พบพนักงานสอบสวนก็มีความบกพร่อง กรณีไม่ได้สอบสวนถึงประเด็นตัวยา amoxycillin 500 มิลลิกรัม อาจก่อให้เกิดสาร Benzoylecgonine และสาร Cocaethylene หรือไม่

“เพิ่มพูน ชิดชอบ” ไม่บกพร่อง

พล.ต.ท.จารุวัฒน์กล่าวต่ออีกว่า สำหรับผลการตรวจสอบความบกพร่องของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ไม่พบความบกพร่อง เนื่องจากการพิจารณาคำเห็นแย้งคำสั่งพนักงานอัยการ แย้งได้เฉพาะประเด็นข้อกฎหมาย กฎระเบียบ ว่าตามที่พนักงานอัยการกล่าวอ้างมาถูกต้องหรือไม่ โดยจะนำความในคำพิพากษาศาลฎีกา หรือความเห็นทางกฎหมายจากผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายประกอบการพิจารณาและพิจารณาจากข้อเท็จจริง พยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนที่อัยการส่งมาเท่านั้น และแย้งได้เฉพาะประเด็นที่สามารถกลับความเห็นของพนักงานอัยการได้ ไม่มีอำนาจสอบสวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมหรือหยิบยกพยานหลักฐานนอกสำนวนมาพิจารณาได้อีก เนื่องจากคดีนี้ถือว่าอำนาจการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อส่งสำนวนให้พนักงานอัยการตาม ป.วิ.อาญา ม.140

...

มีความเห็นไม่แย้งตรงกันถึง 4 ชั้น

“ในประเด็นสำคัญคือ ข้อเท็จจริงที่นำมา พิจารณาต้องประกอบด้วยพยานหลักฐานต่างๆเป็นประเด็นสำคัญสามารถหักล้างความเห็นไม่ฟ้องของพนักงานอัยการได้ ผู้ตรวจสำนวนพิจารณาในกองคดีอาญา มีผู้พิจารณาเสนอ 4 ระดับ ซึ่งผู้ตรวจสำนวนในแต่ละชั้น มีอิสระในการเห็นแย้งหรือไม่แย้งคำสั่งของอัยการ โดยชั้นนี้ผู้ตรวจสำนวนทุกคนมีความเห็นไม่แย้งตรงกัน ส่วน พล.ต.ท.เพิ่มพูน ผู้มีอำนาจในการพิจารณาทำความเห็นไปตาม ป.วิ.อาญา ม.145/1 ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ” พล.ต.ท.จารุวัฒน์กล่าว

เสนอให้ดำเนินคดีเสพโคเคน

พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ชี้แจงด้วยว่า ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงคณะกรรมการพบข้อบกพร่องหลายแห่ง จึงประมวลเรื่องเสนอ ผบ.ตร. พิจารณาดำเนินการในประเด็นต่อไปนี้ 1.ประเด็นที่ตรวจพบมีประเด็นใดบ้างที่ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลไปแล้ว กรณีบกพร่องที่ยังไม่ได้มีการชี้มูลหรือลงทัณฑ์ ทางคณะกรรมการจะพิจารณามีความเห็นเสนอ ผบ.ตร. เพื่อพิจารณาสั่งการดำเนินการทางวินัยและอาญา 2.คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม อาทิ รายงานการคำนวณความเร็วจากผู้เชี่ยวชาญมายืนยันความเร็ว ที่ 177 กม./ชม. และผู้เชี่ยวชาญอื่นก็ยืนยันที่ความเร็ว 126 กม./ชม. พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญแก่คดี ที่สามารถพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้ต้องหา เพื่อให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาตามกฎหมายได้ เห็นควรส่งพยานหลักฐานรายละเอียดข้อเท็จจริงไปยังอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาดำเนินการตาม ป.วิ.อาญา ม.147 และ 3.คณะกรรมการตรวจพบความบกพร่องในการดำเนินคดีเรื่องยาเสพติดให้โทษที่ยังสามารถดำเนินการต่อได้ ทั้งนี้ สอบปากคำเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญพบสารแปลกปลอมทั้ง 2 ชนิด เกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลง เมื่อได้รับโคเคนร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น การใช้ยาอะม็อกซิลีนไม่ทำให้เกิดสารแปลกปลอม เห็นควรให้พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีเสพยาเสพติดต่อไป

...

ขอออกหมายแดงใหม่ได้

“ส่วนกรณี พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น นวท. (สบ4) ชี้แจงกับคณะกรรมการชุดนี้แล้ว โดยทางคณะกรรมการมีการพิจารณาและเชื่อคำให้การของ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ เพราะเห็นว่าเป็นพยานหลักฐานที่มีความสำคัญต่อคดี ทั้งนี้ ผบ.ตร.จะส่งพยานหลักฐานให้อัยการไปดำเนินคดีใหม่ตาม ป.วิ.อาญา ม.147 ทำให้มีการรื้อคดีนี้ขึ้นมาทำใหม่ทั้งคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและเสพยาเสพติดประเภท 2 (โคเคน) ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี ซึ่งการขอถอนหมายแดงของตำรวจสากล หากมีการรื้อคดีใหม่สามารถขอหมายแดงใหม่ได้” พล.ต.ท.จารุวัฒน์กล่าว

ฟัน ม.157 ตำรวจเกี่ยวข้อง 14 นาย

พล.ต.ท.จารุวัฒน์เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้จากการ ตรวจสอบพบตำรวจที่มีส่วนกับการกระทำความผิด ตำแหน่งสูงสุด คือระดับรอง ผบช. แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นใคร เพราะตนไม่ใช่คณะกรรมการทางด้านวินัย อย่างไรก็ตาม ผกก.สน.ทองหล่อ ในขณะนั้นจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะอยู่ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน อย่างไรก็ตามผู้ที่เข้าข่ายจะต้องถูกสอบวินัยและดำเนินคดีตาม ป.อาญา ม.157 เป็นพนักงานสอบสวนชุดเก่า 11 นาย และชุดใหม่ 3 นาย ส่วนกระแสข่าว พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น ถูกกดดันมีคำสั่งจากตำรวจชั้นผู้ใหญ่ให้กลับคำให้การเรื่องความเร็วรถนั้น จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีใครกดดันให้กลับคำให้การ ก่อนหน้านี้ในการเรียกมาสอบก็ปล่อยให้เจ้าตัวอธิบายอย่างเต็มที่ ไม่มีความกดดันแต่อย่างใด และ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์เคยไปให้การในเรื่องวิธีคำนวณความเร็วมาแล้ว แต่พนักงานสอบสวนบอกว่าคดีหมดอายุความแล้ว

...

“เนตร–เพิ่มพูน” ชี้แจงพร้อมเพรียง

ก่อนหน้านี้ ที่รัฐสภา เวลา 09.30 น. มีการ ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร มีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐเป็นประธาน ร่วมกับคณะ กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชนและกองทุน มีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ร่วมกันเป็นประธานการประชุม เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกรณีอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีบอส-วรยุทธ มาชี้แจงต่อ กมธ.เป็นครั้งที่ 3 หลังจาก 2 ครั้งแรกผู้ถูกเชิญไม่มาตามนัด อาทิ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด นายสมัคร เชาวภานันท์ ทนายความของบอส-วรยุทธ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผบ.ตร. ปรากฏว่าครั้งนี้ นายเนตร นาคสุข ผู้ที่สั่งไม่ฟ้องคดีปรากฏตัวเป็นครั้งแรก ส่วนฝ่ายตำรวจที่ไม่เห็นแย้งคำสั่งอัยการคือ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ก็มาชี้แจงคดีนี้ด้วยตัวเอง รวมถึงนายสมัคร เชาวภานันท์ ทนายความคดี

กมธ.รุมซัก “เนตร” นาน 2 ชม.

บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างเข้มข้น กมธ.ทั้ง 2 คณะรุมซักถามนายเนตรหลายประเด็นใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง บางช่วงบางตอนนายเนตร ตอบไม่ตรงคำถาม จนถูกถามซ้ำๆด้วยคำถามค่อนข้างแรง เช่น คดีนี้มีการปั้นพยานขึ้นมาหรือไม่ นอกจากนี้นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลและ กมธ.การกฎหมาย ถามว่า รายงานความเห็นของคณะ กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ ส่วนนายสิระถามว่าพยานใหม่ เป็นพยานที่ช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือไม่ มีการวิ่งเต้นหรือมีผลประโยชน์อยู่ที่ใครหรือไม่
และนายเนตรยินดีให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินหรือไม่ เป็นต้น

ยืนยันใช้ดุลพินิจตามหลักฐาน

ด้านนายเนตรกล่าวต่อที่ประชุมว่ายื่นลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 ส.ค.จริง เพราะเป็นคนสั่งคดีนี้ และสังคมกดดันสถาบันอัยการ เพื่อความสบายใจของทุกคน จึงขอลาออกเพื่อรักษาภาพลักษณ์องค์กร ที่ตนทำหน้าที่รับราชการเป็นอัยการอยู่ในองค์กรนี้มา 40 ปี ส่วนการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดี สั่งตามที่พนักงานสอบสวนรวบรวมมาทั้งหมด ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องไม่ได้สั่งนอกสำนวน มีเอกสารหลักฐานระบุความเห็นในการสั่งไม่ฟ้องคดีไว้ชัดเจน เหตุผลที่สั่งไม่ฟ้องบอส-วรยุทธ เพราะพิจารณาสำนวนเดิมที่มีการสั่งคดีไว้อย่างไร ครั้งแรกอัยการมีการสั่งฟ้องตามความเห็นของ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น นวท. (สบ 4) ที่บันทึกความเร็วที่ 177 กม./ชม. แต่เมื่อสอบพยานใหม่ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์เปลี่ยนคำให้การว่า ความเร็วเหลือแค่ 79 กม./ชม. ถือว่าไม่เกินกฎหมายกำหนด

ถือเป็นเหตุสุดวิสัยจึงไม่ฟ้อง

“ประกอบกับมีพยานอื่นมาสนับสนุน จากผู้เชี่ยวชาญ อาทิ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ผู้เชี่ยวชาญจาก ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ยืนยันว่าความเร็วแค่เพียง 76 กม./ชม. ไม่ถึง 80 กม./ชม. และมีพยาน 2 ปาก ที่ได้จากการสอบสวน คือ พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร และนายจารุชาติ มาดทอง ให้การว่า ความเร็วของนายวรยุทธ ไม่ถึง 80 กม./ชม. และตำรวจผู้ตายเปลี่ยนเลนกะทันหันจากซ้ายสุดมาขวาสุด เมื่อพยานให้การอย่างนี้ ความเร็วของรถนายวรยุทธ ไม่เกิน 80 กม./ชม. ถือเป็นเหตุสุดวิสัย หลักฐานที่ปรากฏในสำนวนไม่พอฟ้องฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผมจึงสั่งไม่ฟ้องและเสนอไปยัง ผบ.ตร.ให้ความเห็นชอบ” นายเนตรกล่าว

ยินดีให้ตรวจสอบเส้นทางเงิน

นายเนตรชี้แจงด้วยว่า เหตุผลที่รายงานของ กมธ.กฎหมาย สนช.เข้าไปอยู่ในสำนวนการสอบสวนนั้นกระบวนการร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนนานแล้ว ตนมาในช่วงท้าย ตอนนั้นไม่มีการสอบสวนพยาน ตนก็ไม่ทราบรายละเอียด ไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ สำหรับความเห็นของตนนั้น สนช.เป็นผู้แทนประชาชน เมื่อผู้แทนประชาชนส่งเรื่องมาต้องพิจารณาและมีการสอบสวน ไม่ใช่เอาข้อมูลจาก สนช.ยุคนั้นมาพิจารณาได้เลย มีรายงานว่า สำหรับคำถามเรื่องวิ่งเต้นหรือผลประโยชน์ รวมถึงพยานใหม่ นายเนตรชี้แจงว่า นายจารุชาติเป็นพยานตั้งแต่ต้น ส่วน พล.อ.ท.จักรกฤชมาช่วงกลาง เป็นพยานที่เกิดจากการสอบสวนโดยชอบ ยืนยันพิจารณาไปตามกระบวนการไม่มีส่วนอื่นเกี่ยวข้อง ยินดีให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินเพราะเป็นคดีที่ทำตามระบบ

จ่อใช้ พ.ร.บ.คำสั่งฯเรียก “บอส”

ภายหลังนายเนตรชี้แจงเสร็จสิ้น กมธ.มีมติทำหนังสือเชิญนายธานี อ่อนละเอียด ส.ว. ประธาน กมธ.กฎหมาย สนช. และนายวรยุทธ อยู่วิทยา โดยเฉพาะนายวรยุทธจะส่งเป็นหนังสือลงทะเบียน หากไม่มาชี้แจงอีกก็จะใช้ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนและวุฒิสภา พ.ศ.2554 ทั้งนี้ นายสมัคร เชาวภานันท์ ทนายความนายวรยุทธ ชี้แจงว่า ผอ.กองหนังสือเดินทางได้ยกเลิกหนังสือเดินทางของนายวรยุทธ ทำให้นายวรยุทธเดินทางมาชี้แจงไม่ได้ เนื่องจากหนังสือเดินทางหมดอายุและอยู่ต่างประเทศ ไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย แต่ กมธ.ยืนยันให้ส่งหนังสือเรียกตามภูมิลำเนา

หากย้อนเวลาได้ก็ไม่เห็นแย้ง

ต่อมา พล.ต.ท.เพิ่มพูนได้ชี้แจงว่า ตำรวจตั้งใจจะคลี่คลายคดี ไม่ให้มีความเคลือบแคลงสงสัย เหตุที่ไม่เห็นแย้งต่ออัยการ เพราะได้ดูตามสำนวนตามลำดับชั้นที่ส่งขึ้นมาและมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่เห็นแย้งกับอัยการ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยสุจริตเที่ยงธรรม ไม่ได้เลือกปฏิบัติ ส่วนที่ถามว่า หากย้อนไปใหม่ได้จะเห็นแย้งกับอัยการหรือไม่ ก็ขอยืนยันเหมือนเดิม เพราะหลักฐานที่ปรากฏในวันนี้ต่างเป็นหลักฐานนอกสำนวน

ชี้สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

“เมื่อได้ฟังตำรวจผู้เกี่ยวข้องชี้แจง ผมตกใจอยู่เหมือนกัน ทำไมกลับคำง่าย ทั้งที่ควรมีจุดยืน ยึดมั่นตามหลัก ขอตำหนิผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย ทั้งนี้จะต้องปรับปรุงการทำงานของตำรวจให้สมกับวิสัยทัศน์ของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สุดท้ายขอฝากเอาไว้ว่า กัมมุนา วัตตติ โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ใครทำสิ่งใดย่อมเป็นไปตามนั้น” พล.ต.ท.เพิ่มพูนกล่าว

“ธนสิทธิ์” ปัดรับงานวิ่งเต้นคดี

ต่อมา พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น นวท. (สบ 4) กลุ่มงานตรวจเคมีฟิสิกส์ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ชี้แจงกับ กมธ.ฯ ยอมรับว่าการคำนวณความเร็วรถของนายบอส ครั้งแรก ได้ 177 กม./ชม. แต่ที่ในสำนวนเป็น 79.2 กม./ชม. เพราะเชื่อการคำนวณของ รศ.ดร.ประสิทธิ์ เกิดนิยม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียง ประกอบกับมีเวลาในการพิจารณาสำนวนน้อย จึงเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจ แต่หลังจากนั้นไม่ได้นิ่งนอนใจได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับ บัญชาไปตรวจสอบและพบว่าคลาดเคลื่อน ร้อยละ 46 จากนั้นได้รายงานผู้บังคับบัญชาใหม่ว่า ความเร็วอยู่ที่ 177 กม./ชม. ตั้งแต่ปี 59 จึงไม่ได้กลับคำให้การ แต่มาพบไม่ปรากฏในสำนวน ประกอบกับเข้าใจผิดว่าข้อหานี้ขาดอายุความไปแล้ว จึงไม่ได้ตามเรื่อง และไม่เคยชี้แจงต่อ กมธ.กฎหมาย สนช. ยืนยันไม่เคยได้รับคำสั่งจากใครให้วิ่งเต้นคดีนี้ ยินดีและพร้อมให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินด้วย

“บิ๊กตู่” บอก “โอเค” ระดับหนึ่ง

ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 13.40 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้ สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าหลายอย่างหลายด้าน ทั้งในส่วนของอัยการ ของตำรวจและคณะกรรมการชุดของนายวิชา มหาคุณ มีการรายงาน พูดคุยกับตนมาตลอด ทั้งนี้หากเรื่องใดที่ตนสามารถมอบให้คณะกรรมการด้านตำรวจดูแลแก้ไขไปชี้แจง ถ้าถามว่าพอใจไหม ต้องบอกว่าจะพอใจได้ต่อเมื่อสิ้นสุดไปในทางที่ดี ประชาชนยอมรับคือพอใจ แต่ตอนนี้ยังถือว่าพอใจในระดับหนึ่ง ที่มีการออกมาขับเคลื่อนในเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย มีการเสนอกฎหมายหลายตัวไปที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องทำงานร่วมกัน ไปก้าวล่วงกันไม่ได้ อำนาจฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการแยกกันอยู่แล้ว แต่ต้องร่วมมือกันในประเด็นที่สอดประสานกันภายใต้กฎหมาย

“ปริญญา” หวั่นข้ออ้างดื่มหลังขับ

ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น เครือข่าย พัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) จัดเสวนาหัวข้อ “ดื่มแล้วขับ” ผลกระทบทางสังคม กับกระบวนการยุติธรรมไทย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า เรื่องนี้มี 2 บทเรียน คือ 1.เมาต้องไม่ขับ อย่าคิดว่าขวดเดียวไม่เป็นไร เพราะพอเกิดเหตุ ขึ้นความเสียหายไม่ใช่แค่กับตัวเรา แต่เสียหายรวมถึง ครอบครัวด้วย และ 2.ถ้าผิดพลาดแล้วต้องไม่หนีต้องยอมรับความผิด เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เยียวยาผู้เสียหาย และกฎหมายต้องบังคับใช้จริงจัง แต่ทุกวันนี้ยังเกิดปัญหากระบวนการยุติธรรมทำอะไรไม่ได้ กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นตัวอย่าง ไม่ว่ามีเงิน เส้นสายเพียงใด ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ ยังกังวลเรื่องของการระบุว่าไม่ได้เมาขณะขับแต่ดื่มหลังเกิดเหตุ จะกลายเป็นแนวปฏิบัติหรือบรรทัดฐานใหม่ของการชนแล้วหนีให้นานที่สุด เพื่อให้แอลกอฮอล์ลดลง หรืออ้างว่าดื่มในภายหลัง ฝากข้อเสนอให้ สสส. มูลนิธิต่างๆ ยื่นเรื่องถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ถึงความกังวลใจประเด็นเมาหลังขับ การหลบหนี ทำอย่างไรไม่ให้เกิดอีกจนกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ โดยขอแนวทางปฏิบัตินิติวิทยาศาสตร์ร่วมกับฝ่ายตำรวจ เพื่อจะได้ไม่เป็นอ้างอีกต่อไป

สรุป “จารุชาติ” ตายเพราะอุบัติเหตุ

ที่ จ.เชียงใหม่ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผบช.ภ.5 เผยถึงผลสรุปสาเหตุการเสียชีวิตของนายจารุชาติ มาดทอง 1 ในพยานคดีบอส-วรยุทธ ว่าขณะนี้ทางตำรวจได้รับผลตรวจจากแพทย์นิติเวชฯ คณะแพทยศาสตร์ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ แล้ว พบไม่มีสารปนเปื้อนที่อาจทำอันตรายในร่างกายของนายจารุชาติแต่อย่างใด จากผลการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตและพยานหลักฐานต่างๆที่ได้รวบรวมมาทั้งหมด ตลอดจนภาพจากกล้องวงจรปิดต่างๆ รวมทั้งการพิสูจน์ความสัมพันธ์กับนายสมชาย ตาวิโน คู่กรณีแล้ว พบเป็นไปตามที่ชี้แจงกับสื่อมวลชนให้รับทราบไปแล้วว่าเกิดจากอุบัติเหตุและคู่กรณีไม่ได้รู้จักกับผู้ตายแต่อย่างใด ยืนยันตำรวจได้ตรวจสอบครอบคลุมหลักฐานทุกด้านแล้ว

“บิ๊กแป๊ะ” ออกคำสั่งงาน ก.ม.และคดี

วันเดียวกัน พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษก ตร. เปิดเผยว่า การทำความเห็นแย้งในคดีอาญาเป็นขั้นตอนสำคัญในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีคำสั่ง ตร.ที่ 416/2563 ลงวันที่ 13 ส.ค. โดย ผบ.ตร.เป็นผู้กำกับดูแลการบริหารราชการในงานกฎหมายและคดีด้วยตนเอง โดยให้ผู้ช่วย ผบ.ตร. อีก 5 คน ช่วยกำกับดูแล สำหรับงานที่มีความสำคัญหรือสังคมให้ความสนใจ ให้ผู้ช่วย ผบ.ตร. เสนอ ผบ.ตร.เป็นผู้พิจารณาสั่งการ นอกจากนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ยังมีหนังสือกำชับการสอบสวนและการทำความเห็นในคดีอาญาไปยังทุกหน่วยทั่วประเทศ ให้ ผบช.ภ.1-9 ควบคุม ตรวจสอบ ติดตาม กำกับดูแล รวมทั้งสนับสนุน ให้คำปรึกษาการทำความเห็นชอบหรือความเห็นแย้งในคดีอาญา หากเห็นเป็นคดีที่มีความสำคัญหรือได้รับความสนใจจากประชาชนในวงกว้าง ผบช.ภ.อาจพิจารณามีความเห็นทางคดีด้วยตนเองตามเห็นสมควร และในกรณีที่เห็นว่าผู้รับมอบอำนาจปฏิบัติราชการในเรื่องใดไม่สมควร ให้มีอำนาจแก้ไขการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจนั้นได้ตาม ม.40 พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ม.74