เกษตรจับมือทุกภาคส่วน ตั้งธงเลือกตัวแทนพันธุ์ข้าวทีมชาติไทย มุ่งเน้นชิงเหรียญทองไม่หวั่นชาติใด ทวงแชมป์คุณภาพและปริมาณการส่งออกโลก
เมื่อวันที่ 11 ส.ค.63 นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ตลาดข้าวมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น หลายประเทศมีการพัฒนาศักยภาพในการผลิตข้าวเพื่อบริโภคภายในประเทศ และสามารถส่งออกจนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในขณะที่หลายประเทศสามารถปลูกข้าวได้ปริมาณมาก แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ ประเทศไทยถือเป็นผู้นำการส่งออกข้าวของโลกมาหลายปี แต่ในช่วงปี 2559 - 2562 ปริมาณการส่งออกข้าวไทยที่ลดลง ประกอบกับต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันในเรื่องของราคา กับประเทศส่งออกคู่แข่งต่างๆ อาทิ ประเทศอินเดีย เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา เป็นต้น
ด้าน นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า รมช.เกษตรฯ มีนโยบายในการพัฒนาข้าวไทยให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมีการเชื่อมโยงหน่วยงานหลายภาคส่วน ตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคไปจนถึงการขยายตลาดการค้าข้าวในต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาข้าวไทย พร้อมวางแนวทางการพัฒนาระบบให้ครอบคลุมทุกประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาในการแข่งขันในการส่งออกข้าวในตลาดโลกได้อย่างตรงจุด เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาข้าวไทย กรมการข้าวจึงได้จัดงาน "การประกวดข้าวเพื่อรองรับและส่งเสริมการส่งออกของตลาดข้าวโลก ประจำปี 2563" ในวันที่ 16 – 17 ก.ค.63 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
...
โดยการจัดงานประกวดข้าวก็จะเป็นอีกกลไกหนึ่งในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความคิดเห็นระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย เกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการพัฒนาและส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์ให้ตรงพันธุ์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยประสานความร่วมมือให้เกิดความเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน กรมการข้าวมีแนวทางในการจัดประกวดข้าวเพื่อรองรับและส่งเสริมการส่งออกของตลาดข้าวโลกในทุกๆ ปี เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรไทยได้พัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนสามารถรักษามาตรฐานการส่งออกข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
ขณะที่ นายพศิน ตรงใจ เกษตรกรผู้ชนะเลิศการประกวดข้าว กล่าวว่า ตนเองเป็นเกษตรกรผู้ทำนาข้าวหอมมะลิ บ้านนาสาม ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์ ซึ่งได้ส่งข้าวพันธุ์ ดอกมะลิ 105 เข้าร่วมประกวด และได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งประเภท ข้าวหอมมะลิ ทั้งนี้ตนได้ปลูกข้าวสายพันธุ์นี้ เมื่อ 20 ปีก่อน ที่ได้รับข้าวมาจากศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ และศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ มาพัฒนาต่อคือปลูกในที่ดินของตัวเองและไม่ได้ใช้สารเคมีใดๆ และไม่มีการเผาตอซัง ที่เป็นสาเหตุทำให้ดินตาย และทำให้สารอาหารในดินหายไป แต่เปลี่ยนมาใช้วิธีการห่มดิน ตามแนวทางศาสตร์พระราชา โดยการไถกลบตอซัง เริ่มไถกลบตั้งแต่การทำนาในฤดูก่อน เสร็จสิ้นหลังจากเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งในอดีตตนทำนาข้าวโดยใช้สารเคมีมาโดยตลอด ทำให้ต้นทุนสูง แต่ได้ผลผลิตน้อย และข้าวก็เป็นโรคได้ง่าย หลังจากนั้นตนและลูกสาว คุณณชณฆ์ ตรงใจ ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนแนะนำให้ปลูกข้าวอินทรีย์ ทำให้ไร่นา 30 ไร่ ของตนได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น
"หลังจากที่ได้แชมป์การประกวดข้าว ผมรู้สึกดีใจ และภูมิใจมาก และรางวัลนี้ก็ไม่ใช่ของผมแต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นความภาคภูมิใจในครอบครัว และยังมีกลุ่มสมาชิก วันวันวัน ที่ได้มาร่วมด้วยช่วยกัน ลงแขกปลูกข้าว จนทำให้ประสบความสำเร็จด้วยการเดินตามศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นแนวทางที่มั่นคงยั่งยืน" นายพศิน กล่าว.