เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำโครงการติดตามประเมิน (Tracking) การใช้พลังงานที่ลดได้จากมาตรการภาคขนส่งด้วยการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

โครงการติดตามประเมิน (Tracking) มีรายละเอียดขั้นตอนดำเนินการ อย่างไรและผลที่ได้รับสะท้อนให้เห็นอะไรได้บ้างนั้น “รายงานวันจันทร์” ได้รับการเปิดเผยจาก รองผู้อำนวยการ สนข. วิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์

“โครงการนี้ สนข.จ้างที่ปรึกษาจัดทำโครงการ ระยะเวลา 12 เดือน ผลการประเมิน พบว่า การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเส้นทางที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ได้แก่ สายสีเขียว สายสีน้ำเงิน แอร์พอร์ตเรลลิงก์ และสายสีม่วง สามารถช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานได้ประมาณ 224.3 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) หากดำเนินการครบทุกเส้นทางตามแผนแม่บท M–Map จะช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานได้ประมาณ 1,375.5 ktoe ในปี 2579

“สำหรับการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจก ปี 2563 สามารถลดได้ประมาณ 0.64 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) หากดำเนินการครบทุกเส้นทางปี 2573 จะสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 2.65 MtCO2e”

...

ถามว่า ปัจจุบันคนใช้รถไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน

รอง ผอ.สนข.ระบุว่า ผลการสำรวจคนใช้รถไฟฟ้าเส้นทางที่เปิดให้บริการปัจจุบัน โดยสำรวจเส้นทางละ 500 ตัวอย่าง ข้อมูลพื้นฐานคนใช้บริการรถไฟฟ้า พบว่า 32% ช่วงอายุ 23-29 ปี (วัยทำงาน) มีรายได้ 15,001-30,000 บาท ใช้บริการอย่างน้อย 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ใน ชม. เร่งด่วน ไป-กลับ จากทำธุระและที่ทำงาน 31% ช่วงอายุต่ำกว่าหรือเท่ากับ 22 ปี (นักเรียน/นักศึกษา) รายได้น้อยกว่า 15,000 บาท/เดือน ใช้บริการ ทุกวันใน ชม.เร่งด่วน ไป-กลับ โรงเรียน และมหาวิทยาลัย

สัดส่วนการใช้พาหนะ ก่อนมีรถไฟฟ้า 28.62% รถเมล์ 22.79% รถยนต์ส่วนบุคคล 25.49% รถแท็กซี่ หลังมีรถไฟฟ้า 67.72% ใช้รถไฟฟ้า 7.71% รถเมล์ 7.34% รถยนต์ส่วนบุคคล

“เหตุผลที่คนเลือกใช้รถไฟฟ้า พบว่า 63% ประหยัดเวลา 19% ควบคุมเวลาเดินทางได้ 8% ประหยัดค่าเดินทาง 6% สะดวกกว่าใช้ขนส่งสาธารณะอื่นๆ และ 4% ปลอดภัย ขณะเดียวกัน เหตุผลคนที่ไม่เลือกใช้รถไฟฟ้า 59% ไม่ถึงจุดหมายปลายทางด้วยระบบเดียว/ต้องเดินทางต่อหลายระบบ 18% ราคาสูง 7% ไม่ชอบคนแน่น 6% และ 4% ไม่มีระบบเชื่อมต่อรอง (ฟีดเดอร์) เข้าถึงระบบรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ ภาครัฐจะศึกษามาตรการเชื่อมต่อการเดินทางเพื่อตอบโจทย์ การไม่เชื่อมต่อจุดหมายปลายทางด้วยระบบเดียว เพื่อส่งเสริมให้คนมาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ส่วนมาตรการส่งเสริมระบบขนส่งรองเชื่อมโยง (Feeder) จะเปลี่ยนเส้นทางรถเมล์ให้เป็น Feeder เข้าถึงระบบรถไฟฟ้า พัฒนา ด้านบริการ เก็บค่าธรรมเนียมการใช้รถยนต์ และใช้ระบบตั๋วร่วมเพื่อลด ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง.