เช้าวันหยุด ชวนคุยเรื่องใกล้ตัว..

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้านที่ชายแดนติดกับไทย รวมถึงประเทศอาเซียน ยังคงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ว่าในบ้านเรา ตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศมาแล้ว 75 วัน แต่ก็ประมาทไม่ได้

ที่ด่านสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา วันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝั่งไทย ได้รับคำสั่งให้ตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้นอีกครั้ง หลังมีรายงาน พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มกว่า 20 ราย ในฝั่งรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย

ในรายงานระบุว่า มีชาวมาเลเซียคนหนึ่ง เดินทางกลับมาจากประเทศอินเดีย และไม่ได้กักตัว ต่อมาถูกตรวจพบว่า ชายผู้นี้ติดเชื้อโควิด โดยที่เขาเป็นเจ้าของร้านอาหาร มีลูกค้าเข้าไปทานอาหารที่ร้าน ส่วนหนึ่งติดเชื้อ และมีส่วนหนึ่งที่เป็น คนขับรถบรรทุก วิ่งส่งสินค้าเข้า-ออก ผ่านทางด่านสะเดา ของไทย

ด่านศุลกากรสะเดา จ.สงขลา  ที่เปรียบเหมือนด่านสกัดโควิดฯเข้าเมือง
ด่านศุลกากรสะเดา จ.สงขลา ที่เปรียบเหมือนด่านสกัดโควิดฯเข้าเมือง

...

ส่งผลให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ต้องกำหนดมาตรการตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉิน “ขั้นเข้มข้น” มีการคัดกรองทำประวัติคนขับรถจากประเทศมาเลเซีย ให้สามารถติดตามตัวได้ ควบคุมไม่ให้เข้าไปในชุมชน เช่น อ.สะเดา หาดใหญ่ สงขลา คนขับรถขนส่งสินค้า ต้องกรอกแบบฟอร์ม และอยู่ในประเทศไทยได้ไม่เกิน 7 ชั่วโมง หากมีความจำเป็นอยู่เกิน ต้องขออนุญาตกับนายอำเภอสะเดา พิจารณาเป็นรายๆ ไป

ล่าสุด การะบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในรัฐเคดาห์ ได้ลุกลามไปถึงรัฐปีนัง และรัฐเปอร์ลิสแล้ว

ขณะเดียวกัน ยังมีผู้ลักลอบข้ามแดนจากมาเลเซียอย่างต่อเนื่อง เวลา 07.30 น. วันที่ 8 สิงหาคม เจ้าหน้าที่พบแรงงานชาวเมียนมา 22 คน หลบซ่อนอยู่สะพานข้ามคลองหลังด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ สภาพอิดโรย และมีไข้สูง 3 คน โดยบอกว่าจ้างคนมาเลย์ 2,000 ริงกิต ให้ช่วยพาข้ามมาฝั่งไทย

แรงงานชาวเมียนมาเหล่านี้ พากันหลบหนีออกมาจากประเทศมาเลเซีย
แรงงานชาวเมียนมาเหล่านี้ พากันหลบหนีออกมาจากประเทศมาเลเซีย

เหล่านี้คือสิ่งบ่งบอก บ่งชี้ว่า เชื้อโควิด-19 ยังวนเวียนอยู่รอบตัวเรา หละหลวมเมื่อไหร่โดนทะลวงแน่ ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ หมอประสิทธิ์ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ที่คอยออกมาเตือนคนไทยอยู่เป็นระยะ

หมอประสิทธิ์ เผยถึงสิ่งบ่งชี้ ว่า โควิด-19 ระลอก 2 จะมาแน่ๆ 

"การระบาดระลอก 2 มีมาแน่ โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. องค์การอนามัยโลกได้ระบุโลกกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ เป็นยุคอันตรายของโควิด-19 เพราะมีอุบัติการณ์ผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้อัตราเสียชีวิตคลายตัวลดลงระดับหนึ่ง ซึ่ง 6 สัปดาห์ที่แล้วจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มหลักล้านคน จนวันนี้ใช้เวลาเพียง 3-5 วัน หรือโดยเฉลี่ยทุก 4 วัน มีผู้ติดเชื้อกว่า 1 ล้านคนแล้ว"

นอกจากนี้..

"CNN รายงานถึงที่ปรึกษาด้านโควิดของไวท์เฮาส์ สหรัฐอเมริกา ประกาศว่า สหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงการควบคุมไม่ได้ คาดการณ์ว่าทุก 20 วัน จะมีคนเสียชีวิต 20,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 1,000 คน เกือบทุกประเทศที่ก่อนหน้านี้บอกว่าปลอดภัย แต่ ณ วันนี้เกิดการระบาดระลอก 2 เรียบร้อยแล้ว ทั้งออสเตรเลียที่เคยเป็นที่ 1 ในการควบคุม 2 วันที่แล้วต้องประกาศเคอร์ฟิวในเขตวิกตอเรีย ญี่ปุ่นก็อยู่ในสถานการณ์ที่แย่ มีคนไข้เพิ่มขึ้นต่อวันกว่าพันราย และเสียชีวิตทุกวัน ฮ่องกงก็มีผู้ติดเชื้อเกิน 100 คน ติดต่อมา 7 วัน จนต้องกลับมาประกาศควบคุมใหม่ แม้แต่เวียดนามที่ดีมาตลอด ก็ระบาดรอบสองจนต้องควบคุม

ทั้งนี้ โควิด-19 ไม่ได้มากับตัวคนเท่านั้น แต่มีหลักฐานว่ามากับแพ็กเกจจิ้งที่มีการส่งต่อด้วย"

อย่างไรก็ตาม ทางรอดก็ยังมีอยู่ หมอประสิทธิ์ ชี้ว่า

...

"การเตรียมตัวป้องกันเป็นสิ่งสำคัญดีที่สุด ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาระยะห่าง และเช็กอินเช็กเอาต์เป็นสิ่งสำคัญ หากมีการระบาดระลอก 2 ก็หวังจะเป็นคลื่นที่มีการติดเชื้อไม่สูง แต่รัฐบาลต้องออกมาตรการรวดเร็วควบคุมพื้นที่ที่ระบาดให้หยุดอยู่ที่ตรงนั้น ไม่จำเป็นต้องปิดประเทศ ปิดจังหวัด หรือทุกกิจกรรม ถ้าทำแบบนี้ได้จะเป็นคลื่นเล็กๆ มาแล้วก็ลงไปเรื่อยๆ"

สุดท้าย ขอยกตัวอย่าง ฟิลิปปินส์ ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อเพิ่มวันเดียว 3,379 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 122,754 ราย (เสียชีวิตเพิ่ม 24 ราย ยอดรวมอยู่ที่ 2,168 ราย) โดยมียอดผู้ติดเชื้อ สูงที่สุดของอาเซียน แซงหน้าอินโดนีเซีย

สถานการณ์ของ ฟิลิปปินส์ กลับมาย่ำแย่ หลังมีการ "คลายล็อก" มาตรการด้านสาธารณสุข แต่ "การ์ดตก" พบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราสูง จนต้องประกาศล็อกดาวน์พื้นที่ในกรุงมะนิลา และ 4 จังหวัดรอบนอกอีกครั้ง เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา

ณ ปัจจุบัน ฟิลิปปินส์ มีการตรวจหาผู้ติดเชื้อไปแล้วกว่า 1.64 ล้านคน โดยสามารถตรวจได้วันละประมาณ 2.9 หมื่นคน แต่อัตราการติดเชื้อก็พุ่งสูงขึ้น จนยากจะควบคุม

การตรวจคัดกรองโควิด-19 ในฟิลิปปินส์
การตรวจคัดกรองโควิด-19 ในฟิลิปปินส์

...

ขณะที่ประเทศอาเซียน อื่นๆ 

ข้อมูล ณ วันที่ 7 สิงหาคม

- อินโดนีเซีย พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,473 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 121,226 ราย เสียชีวิต 5,593 ราย (เพิ่ม 72 ราย) รัฐบาลเร่งปล่อยเงินกู้ให้กับรัฐบาลท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งมีรายได้ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 28

- สิงคโปร์ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 242 ราย ยอดสะสมอยู่ที่ 54,797 ราย

- มาเลเซีย พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 25 ราย ยอดรวมสะสมเพิ่มเป็น 9,063 ราย หายกลับบ้านแล้ว 8,728 ราย พบผู้ติดเชื้อในชุมชนกระจายไปในหลายรัฐ รวมทั้งรัฐปีนังที่เคยเป็นเขตปลอดผู้ติดเชื้อ

- เวียดนาม พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 37 ราย ยอดสะสมอยู่ที่ 784 ราย กลับบ้านแล้ว 395 ราย (เพิ่มขึ้น 3 ราย) เสียชีวิต 10 ราย เตรียมตรวจหาเชื้อผู้ที่เดินทางจากดานังมากรุงฮานอยในช่วงวันที่ 15-29 ก.ค. ประมาณ 5 หมื่นคนด้วยวิธี PCR ซึ่งมีความแน่นอนกว่า ขณะที่มีการจับและปรับผู้ไม่สวมหน้ากากอย่างเข้มงวด

- เมียนมา พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2 ราย รวมติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 359 ราย รักษาหายแล้ว 305 ราย ก่อหน้านี้รัฐบาลให้ทบทวนแผนการเปิดแหล่งท่องเที่ยว โดยให้พิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดว่ามีความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่

- กัมพูชา ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 243 ราย หายกลับบ้านแล้ว 210 ราย รัฐบาลอนุญาตให้โรงภาพยนตร์กลับมาเปิดบริการได้แล้วตั้งแต่ 8 ส.ค. เป็นต้นไป แต่ยังต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างและรักษาสุขอนามัย

- บรูไน พบผู้ป่วยเพิ่ม 1 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมทั้งหมดอยู่ที่ 142 ราย เสียชีวิต 3 ราย หายป่วยแล้ว 138 ราย

- ลาว ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ยอดรวมสะสมอยู่ที่ 20 ราย และหายกลับบ้านแล้ว 19 ราย

...

ผู้เขียน : ชลิต 

ที่มาข้อมูล : เฟซบุ๊ก Chavarong Limpattamapanee