นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ประธานสภา กทม. เปิดเผยว่า จากการประมาณการรายรับของ กทม.ในปี 2564 ของฝ่ายบริหาร ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้จำนวน 75,500 ล้านบาท สภา กทม.จึงเสนอให้ กทม.หารายได้เพิ่มเติมจากส่วนอื่น ประกอบด้วย
1.การจัดเก็บภาษีค่าธรรมเนียมจากผู้พักในโรงแรมและภาษีอื่นที่พึงจัดเก็บตามกฎหมาย ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในจังหวัดต่างๆได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้พักโรงแรม ตามมาตรา 65 พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 แล้วร้อยละ 5-10
2.ภาษีสรรพสามิต (บุหรี่-ยาสูบ) ซึ่งขณะนี้ กทม.ยังจัดเก็บไม่ได้
3.ภาษีน้ำมัน ขณะนี้กฎหมายให้ กทม.จัดเก็บได้ไม่เกินร้อยละ 5 แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นเก็บได้ไม่เกินร้อยละ 10 ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม.ไปยังกระทรวงมหาดไทย
ด้านนายธรรมรัตน์ มุกมีค่า ผอ.สำนักการคลัง กทม. กล่าวว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ.2528 ในส่วนของการจัดเก็บรายได้ของกรุงเทพมหานคร 3 ประเภท ขณะนี้เรื่องยังอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยรอนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบเพื่อให้ กทม.มีอำนาจออกข้อบัญญัติจัดเก็บรายได้จากภาษีและค่าธรรมเนียม 3 ประเภท ประกอบด้วย
1.ภาษีบำรุงกรุงเทพมหานครสำหรับน้ำมันฯ โดยปรับเพิ่มจากปัจจุบันจัดเก็บในอัตราลิตรละ 5 สตางค์ เป็นจัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกินลิตรละ 10 สตางค์ โดยข้อบัญญัติเดิม เริ่มดำเนินการเก็บมาตั้งแต่ปี 2558 โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา กทม.จัดเก็บภาษีบำรุงกรุงเทพมหานครสำหรับน้ำมันฯ ได้ 134.07 ล้านบาท จากประมาณการไว้ 240 ล้านบาท เก็บได้ต่ำกว่า 105.93 ล้านบาท หากเพิ่มอัตราภาษีใหม่คาดว่าจะเก็บได้ 400-500 ล้านบาท/ปี
...
2.ภาษีบำรุงกรุงเทพมหานคร สำหรับยาสูบ กำหนดอัตราภาษีไม่เกินมวนละ 10 สตางค์ เช่นเดียวกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดต่างๆ ซึ่งมีการเก็บมานานหลาย 10 ปีแล้ว คาดว่าจะสามารถเก็บได้ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท/ปี
และ 3.ค่าธรรมเนียมบำรุงกรุงเทพมหานครจากผู้พักในโรงแรม กำหนดให้ผู้พักในโรงแรมเสียค่าธรรมเนียมในอัตราไม่เกินร้อยละ 3 ของค่าเช่าห้องพัก เช่นเดียวกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดต่างๆ คาดว่าจะสามารถเก็บได้ไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท/ปี รวม 3 ประเภท จะเพิ่มรายได้ให้ กทม.ได้ปีละ 2,000 ล้านบาท.