งานวิจัย ชี้ ความยากจน เป็นอุปสรรคเด็กปฐมวัย ไม่พร้อมเรียน กสศ. ชวน ท้องถิ่นยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ผศพด.) พร้อมหนุนชุดมาตรการลดเหลื่อมล้ำ ดูแลเด็กปฐมวัยเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ
วันที่ 17 ก.ค. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าว เปิดผลสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (school readiness) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือติดตามสถานการณ์เด็กปฐมวัย บ่งชี้ปัญหาที่อาจจะส่งผลให้เด็กปฐมวัยไม่พร้อมที่จะเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา และช่วยสนับสนุนภารกิจของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัดของแต่ละจังหวัด ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ปี 2562
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า School readiness จะช่วยสะท้อนภาพในแต่ละจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชนว่าเด็กปฐมวัย มีสถานการณ์และต้องการความช่วยเหลืออย่างไร เพื่อให้คนในพื้นที่นำมาวางเป้าหมายพัฒนาหรือระดมทรัพยากรช่วยเหลือเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังช่วยติดตามผลในระยะยาว และข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะทำให้เห็นพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ซึ่งการติดตามผลไม่ได้ดูเพียงแค่ผลการสอบเข้าป.1ได้หรือไม่ได้ แต่ยังรวมไปถึงด้านภาวะทุพโภชนาการ พัฒนาการด้านสติปัญญา เป็นต้น ทั้งนี้ กสศ. มีบทบาทสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยในครอบครัวที่รายได้น้อยได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพได้จนสำเร็จการศึกษาตามศักยภาพและความถนัดของแต่ละคน โดยทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย โดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ศาสตราจารย์ James J. Heckman จาก University of Chicago ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าให้ผลตอบแทนแก่สังคมดีที่สุด ในระยะยาว7-12เท่า
...
ดร.ไกรยส กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2563 นี้ กสศ. สนับสนุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้แก่กลุ่มเด็กปฐมวัยหลายลักษณะ ครอบคลุมสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเกือบ700 แห่ง โดยมีเด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัยมากกว่า 60,000 คน กระจายทั่วประเทศ ผ่านมาตรการ ดังนี้ 1. สนับสนุนทุนส่งเสริมโอกาสเข้าถึงการศึกษาแก่เด็กปฐมวัยจากครอบครัวยากจนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย (ศพด. ศูนย์เด็กเล็ก กทม.) คนละ800 บาทต่อปีการศึกษา หรือ400 บาทต่อภาคเรียน 2. สนับสนุนงบประมาณสำหรับพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัด อปท.400 แห่งๆ ละไม่เกิน 25,000 บาท เพื่อนำไปใช้พัฒนาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ.2561 3. สนับสนุนองค์ความรู้และพัฒนาทักษะให้แก่อาสาสมัครผู้ดูแลเด็กเล็กสังกัดกทม.อีก 295 แห่ง นอกจากนี้ยังเป็นปีแรกที่ กสศ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลในการสนับสนุนทุนเสมอภาคให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษระดับอนุบาลทุกสังกัด (สพฐ. ตชด.และอปท.) คนละ3,000 บาทต่อปี มากกว่า 60,000 คน ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ
"ศพด.ถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพราะผู้ปกครองต้องไปทำงานไม่มีใครเลี้ยงดูบุตรหลาน หรือมีญาติพี่น้องมาดูแลเด็ก การส่งไปเรียนใน ศพด. จึงมีความสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงเด็กหลุดจากระบบการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยได้ และผลสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย ไม่ใช่เป็นการไปจับผิดการทำงานในพื้นที่ หรือทำให้แต่ละพื้นที่ต้องแข่งขันกัน แต่เป็นข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าพื้นที่ตัวเองมีสถานการณ์แบบไหน เพื่อนำไปสู่การวางแผนพัฒนาเป้าหมาย ระดมการมีส่วนร่วม ตลอดจนติดตามผลเพื่อให้เกิดพัฒนาการต่อเนื่องซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต"ดร.ไกรยสกล่าว
รศ. ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย และผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ความพร้อมของเด็กปฐมวัย ต้องประกอบด้วย ความพร้อมของเด็ก ความพร้อมของสถานศึกษา และความพร้อมของครอบครัว ทั้งนี้ สถาบันฯ ได้สำรวจความพร้อมเด็กปฐมวัยฯ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 ใน 6 จังหวัด โดยมีข้อมูลเด็กชั้นอนุบาล3 ทั้งหมด3,402 คน จาก229 โรงเรียน ข้อมูลครอบครัว 2,900 ครัวเรือน และข้อมูลครู 460 คน ส่วนปีการศึกษา 2562 ดำเนินการสำรวจข้อมูลทั้งสิ้น19 จังหวัด โดยมีข้อมูลเด็กชั้นอนุบาล3ทั้งหมด 9,526 คน จาก 684 โรงเรียน ข้อมูลครอบครัว 8,332 ครัวเรือน และข้อมูลครู774คน โดยใช้เครื่องมือทดสอบทักษะทางด้านคณิตศาสตร์ ภาษา และความพร้อมของกล้ามเนื้อมัดเล็ก พบว่าเด็กพื้นที่ชายแดนใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพัฒนาการด้านการศึกษาต่ำกว่าภาคอื่นๆ
...
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุหรือปัจจัยที่มีผลต่อความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัย ทางสถาบันจึงทำการสำรวจเชิงลึกซ้ำอีกครั้ง เพื่อจัดเก็บข้อมูลเด็กปฐมวัยในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์ โดยในปีล่าสุด(2562) มีกลุ่มตัวอย่างเด็กปฐมวัยทั้งสิ้น1,437คน จาก1,237ครัวเรือน พบว่าปัญหาความยากจนหรือความขัดสนในครอบครัว มีผลเสียต่อความพร้อมด้านการศึกษาของเด็กปฐมวัย ความยากจนทำให้พ่อแม่ไม่มีเวลาทำกิจกรรมกับลูก ส่งผลให้เด็กใช้เวลาว่างที่บ้านอย่างไม่มีคุณภาพ รวมถึงไม่มีอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ ซึ่งการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ สามารถช่วยพัฒนาความพร้อมด้านการศึกษาของเด็กปฐมวัยได้ โดยการที่ท้องถิ่นช่วยพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชนบทให้มีคุณภาพ อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้จะช่วยให้ กสศ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถชี้เป้าพื้นที่ที่ควรให้การสนับสนุน ซึ่งจะช่วยให้การทำงานเชิงพื้นที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การนำข้อมูลที่ได้บางส่วนมาวิเคราะห์เชิงลึกยังช่วยให้เข้าใจถึงสาเหตุและแนวทางแก้ไข
นายทรงเกียรติ ล้านพลแสน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองตอกแป้น อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลหนองตอกแป้นฯ ได้นำหลักสูตรการพัฒนาเด็กปฐมวัย ตามโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ โดย รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง มาใช้ ผลปรากฏว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เด็กกล้าคิด กล้าตั้งคำถาม กล้าแสดงออก มีความมั่นใจ มีภาวะผู้นำ รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี หรือกล้าทดลองเพื่อหาคำตอบจากสิ่งรอบตัวด้วยตนเองมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนจะเงียบ ไม่กล้าถามกล้าคุย นอกจากนี้สิ่งที่เป็นผลพลอยได้ คือความตื่นตัวของผู้ปกครอง ที่อยากให้ลูกหลานได้เข้ามารับหลักสูตรนี้ เพราะเขามีความสุขขึ้น ดีใจที่เห็นพัฒนาการรอบด้านของเด็กดีขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญคือการตอบรับของบุคลากรในพื้นที่ เราได้คนที่มีความเป็นครูเข้ามาร่วมอบรม เอาใจใส่ลูกหลาน เป็นสื่อกลางถ่ายทอดความรู้ ขณะที่การบริหารจัดการในศูนย์จะไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่อุปกรณ์การเรียน ของเล่น อาหาร หรือรถรับส่ง เพราะเราอยากให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงสิทธิทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน
...