นายชาตรี วัฒนเขจร ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ภายหลัง สำนักสิ่งแวดล้อม (สวล.) ได้จัดโครงการฝึกอบรมยกระดับการดูแลต้นไม้ใหญ่ในกรุงเทพฯ กทม.ได้กำหนดมาตรการปฏิบัติงานตัดแต่งไม้ใหญ่ ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯมีต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในความรับผิดชอบกว่า 3 ล้านต้น กทม.จำเป็นต้องตัดแต่งอยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากต้นไม้ เช่น กิ่งไม้หัก ต้นไม้โค่นล้ม ต้นไม้ขัดขวางการขนส่งกระแสไฟฟ้า โดยจะมีการประเมินความเสี่ยงต้นไม้ก่อนตัดแต่ง ไม่จำเป็นต้องตัดทุกต้น โดยจะเลือกตัดแต่งเฉพาะต้นไม้ที่มีความเสี่ยงสูงก่อนต้นไม้ที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่ง กทม.จะมีการประเมินความเสี่ยง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยให้ทุกสำนักงานเขตมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านการเกษตร รับผิดชอบด้านการตัดแต่งต้นไม้ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการตัดแต่งต้นไม้ เขตละ 1 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงต้นไม้ในพื้นที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งบันทึกในแบบประเมินสุขภาพต้นไม้ ก่อนส่งใบประเมินสุขภาพต้นไม้ให้หัวหน้าชุดตัดแต่งต้นไม้ เพื่อควบคุมผู้ตัดแต่งต้นไม้ตามรูปแบบที่กำหนด และจะต้องติดป้ายประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบก่อนลงมือตัดแต่งต้นไม้อย่างน้อย 7 วัน หากมีความจำเป็นต้องตัดโค่น หรือล้อมย้าย ต้องได้ รับความเห็นชอบจากผู้อำนวยการเขตก่อน พร้อมทั้งติดป้ายประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบก่อนลงมือล้อมย้ายตัดต้นไม้อย่างน้อย 7 วัน
นอกจากนี้ สวล.ยังได้จัดทำคู่มือปฏิบัติงานการปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมร่วมกับเครือข่ายต้นไม้ในเมือง กลุ่มบิ๊กทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมรุกขกรรมไทย สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย จัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงาน เช่น การคัดเลือกชนิดพรรณไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ การบำรุงรักษาต้นไม้ การตัดแต่ง รวมถึงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ของบุคลากรด้านการเกษตร โดยมี ศ.กิตติคุณเดชา บุญค้ำ เป็นที่ปรึกษา ก่อนทำหนังสือแจ้งเวียนให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตและสำนักงานสวนสาธารณะ ยึดถือคู่มือในการปฏิบัติงานต่อไป
...
นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ รองปลัด กทม. กล่าวว่า ข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ในการตัดแต่งต้นไม้ หรือการปฏิบัติงานด้วยความเคยชิน อาจมีบางสิ่งบางอย่างที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้ อาจจะส่งผลเสียต่อการทำงาน และอาจกลายเป็นเรื่องราวใหญ่ได้ จึงจำเป็นต้องมีคู่มือปฏิบัติงานการปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น.