ทำเกษตรกรไทยเกิดความกังวลใจอยู่เฉยไม่ได้ เมื่อฝูงตั๊กแตนแพร่ระบาดอย่างหนักในพื้นที่ทางตอนเหนือของ สปป.ลาว ประเทศเพื่อนบ้านของไทย และได้สร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ภายหลังเมื่อต้นปีที่ผ่านมาฝูงตั๊กแตนได้ระบาดไปทั่วในแอฟริกา ก่อนลามมาในอินเดีย และปากีสถาน
- ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของตั๊กแตนฝูงใหญ่ อยู่ในหมู่บ้านเพียงคั้ง-ห้วยเสียง และบ้านเฮาเหนือ เมืองซำเหนือ เมืองเอกของแขวงหัวพัน ในสปป.ลาว มีพรมแดนติดกับประเทศเวียดนาม ซึ่งสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขา เต็มไปด้วยป่าไผ่ มีอากาศหนาวเย็น และขณะนี้ฝูงตั๊กแตนบางส่วน ได้ระบาดเข้าไปในเวียดนามแล้ว
- ไทย ไม่นิ่งเฉย ทางกรมวิชาการเกษตร ดำเนินการสำรวจและเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่องตามแนวชายแดนพื้นที่เสี่ยง ด้วยการใช้กับดักเหยื่อพิษ เพื่อตรวจเช็กชนิดตั๊กแตนว่าเป็นตั๊กแตนไผ่ที่มีการระบาดใน สปป.ลาวหรือไม่ และเป็นคนละชนิดกับตั๊กแตนทะเลทรายที่แพร่ระบาดในอินเดียและแอฟริกา
- ในปี 2472 มีการพบตั๊กแตนไผ่ ครั้งแรกในมณฑลเสฉวน หูเป่ย เกียงสู หูหนาน เกียงสี ฝูเจียน และกวางตุ้ง ของจีน ก่อนระบาดหนักในช่วงปี 2478-2479 สร้างความเสียหายให้กับพืชตระกูลไผ่ ตระกูลหญ้า ตระกูลปาล์ม ข้าว และข้าวโพด ต่อมาพบในไทย เมื่อปี 2512 พื้นที่ จ.เชียงใหม่ และสุพรรณบุรี โชคดีไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศ
- ไทยอากาศร้อนชื้น ไม่เหมาะกับการขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ของตั๊กแตนไผ่ และตั๊กแตนทะเลทราย มีแนวโน้มจะไม่เข้ามาระบาดในไทย จากการยืนยันของกรมวิชาการเกษตร แต่ไม่ประมาทได้ติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง จ.เชียงราย พะเยา น่าน และเลย ซึ่งมีพรมแดนติดกับ สปป.ลาว
- หากพบตั๊กแตนไผ่เข้ามาในไทย มีวิธีการกำจัดโดยใช้สาร อีโทเฟนพรอกซ์ 20% EC ในอัตรา 40 มล./น้ำ 20 ลิตร หรือเดลทาเมทริน 3% EC อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร หรือแลมป์ดาไซฮาโลทริน 2.5% EC อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร
- การกำจัดโดยนำมาบริโภคด้วยการทอดกรอบ เหยาะด้วยซอส อย่างตั๊กแตนปาทังก้า ไม่เป็นที่นิยม เพราะตั๊กแตนไผ่รสชาติขม มีกลิ่นเหม็น และชอบกลิ่นปัสสาวะของมนุษย์ จึงเป็นที่มาในการนำแอมโมเนียมาใช้ เพื่อล่อดักตั๊กแตนไผ่
...
“ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับนายศรุต สุทธิอารมณ์ ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยยืนยันโอกาสที่ตั๊กแตนไผ่และตั๊กแตนทะเลทรายจะระบาดในไทยไม่น่าจะมี และจากการศึกษาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา "ตั๊กแตนไผ่" ระบาดวนเวียนในพื้นที่เดิมๆ ทางตอนเหนือของสปป.ลาว ลักษณะเหมือนเด้งไป เด้งมา ชอบกินไผ่เป็นอาหาร ซึ่งไทยไม่มีป่าไผ่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งเส้นทางจากศูนย์กลางการระบาดในเมืองซำเหนือ ซึ่งอยู่เหนือประเทศไทย ยังห่างไกลมากจากชายแดนไทย
“ในอดีตตั๊กแตนไผ่ เคยระบาดทางจีนตอนใต้ จนกระทั่งเข้ามาลาวทางเหนือ และเวียดนาม เป็นพื้นที่อากาศเย็น เมื่อกินไผ่ของโปรดจนหมด ก็อพยพมาเป็นฝูงเคลื่อนตัวมากินไผ่ในพื้นที่แห่งใหม่ บางครั้งก็กินข้าวโพด หากไม่มีไผ่กิน ส่วนไทยน่าจะไว้ใจได้จะไม่มีการระบาด เพราะอากาศไม่เย็นพอ และไม่มีป่าไผ่ ยกเว้นมีพายุพัดตั๊กแตนชนิดนี้เข้ามา แต่โอกาสแทบไม่มีเลย และได้วางกับดักเหยื่อพิษ ตามพื้นที่เสี่ยงแนวชายแดนไทยช่วงตั้งแต่เชียงราย ไปถึงน่าน เพื่อเฝ้าระวัง”
สำหรับธรรมชาติของตั๊กแตนไผ่ ชอบอากาศเย็น ซึ่งจะเอื้อต่อการแพร่ระบาดเป็นกลุ่ม และจะปรับสภาพให้สามารถบินได้ไกลได้ หากอาหารในแหล่งที่เคยอาศัยหมดไป สามารถบินได้ไกล 10 กิโลเมตร ก่อนหยุดพักและวางไข่ แล้วบินไปต่อ แม้ตั๊กแตนไผ่จะอพยพในลักษณะเป็นฝูง แต่การระบาดจะน้อยไม่เกิน 5% หากเทียบกับตั๊กแตนทะเลทรายที่ระบาดในแอฟริกาใต้ และลามเป็นวงกว้างไปอินเดีย ปากีสถาน มีระยะเวลาการระบาดยาวนาน 4 ปี และอีก 10 ปี จะกลับมาระบาดใหม่อีก
ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช คาดว่าตั๊กแตนไผ่ อาจมีอยู่ในไทยบ้างในลักษณะแบบเดี่ยว ไม่อยู่รวมเป็นฝูง ทำให้เชื่อว่าจะไม่มีการระบาดอย่างแน่นอน และที่ผ่านมาไม่มีข้อมูลตั๊กแตนทะเลทรายระบาดในไทยเช่นกัน ยกเว้นตั๊กแตนปาทังก้า เคยระบาดในไทยเมื่อ 40-50 ปีก่อน ซึ่งลักษณะการระบาดเหมือนตั๊กแตนทะเลทราย และเมื่อคนไทยนิยมนำตั๊กแตนปาทังก้า มาทอดรับประทานกันมากขึ้น ได้ทำให้ตั๊กแตนชนิดนี้หายาก ส่วนตั๊กแตนไผ่ พบว่าชาวลาวไม่รับประทาน เนื่องจากรสชาติไม่ดีค่อนข้างแข็ง และมีกลิ่นเหม็น.
ภาพจาก : ศรุต สุทธิอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช