"โฆษกศาลยุติธรรม" เผย ยอดคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ช่วงเดือน มิ.ย. ลดลง ย้ำเตือนประชาชนไม่ประมาท ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 1 ก.ค.63 นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้เปิดเผยถึงข้อมูลสถิติคดีความผิด พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548, พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558
และ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID–19) ว่า ศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้รวบรวมสถิติคดีดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องภายหลังรัฐบาลออกประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ว่า ภาพรวมสถิติคดีสะสมตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย.63 มีจำนวนคดีที่เข้าสู่การพิจารณาในกลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง ทั้งหมด 5,640 คดี พิพากษาแล้วเสร็จทั้งหมด 5,389 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.55 โดยจำนวนจำเลยที่ขึ้นสู่การพิจารณาทั้งหมด 10,292 คน ส่วนข้อหาที่มีการกระทำความผิดสูงสุด คือฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 9,851 คน

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดที่มีผู้กระทำความผิดสูงสุดในการฝ่าฝืนพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 965 คนส่วนในกลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว มีจำนวนคำร้องที่ขอตรวจสอบการจับ รวมทั้งสิ้น 198 คำร้อง, จำนวนเยาวชนที่เข้าสู่การตรวจจับที่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด 226 คน, ข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบจับกุมสูงสุด คือ ฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 215 คน

นายสุริยัณห์ กล่าวอีกว่า ภายหลังที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 (ศบค.) มีการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 4 ประกอบกับมีการยกเลิกเคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 14 มิ.ย.63 เป็นต้นมา หากนำสถิติเดือน พ.ค. และเดือน มิ.ย. มาเปรียบเทียบกัน พบว่าสถิติคดีในกลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง ในเดือน มิ.ย. มีปริมาณคดีที่เข้าสู่การพิจารณาลดลงจากเดือน พ.ค. จำนวน 9,087 คดี

...

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวด้วยว่า ขณะที่ ในส่วนของกลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว สถิติการจับกุมในเดือนมิถุนายนลดลงจากเดือน พ.ค. จำนวน 587 คดี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 5 แล้ว แต่ก็ยังขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
สวมหน้ากากอนามัย ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง เว้นระยะห่างจากผู้อื่น (Social Distancing) เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพิ่มขึ้น.