ที่ศาลาว่าการ กทม. เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.63 ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหาร กทม.ถึงการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนในสังกัด กทม.ทั้ง 437 แห่ง ซึ่งจะเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 ก.ค. ว่า กทม. ยังเน้นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบให้นักเรียนไปโรงเรียนให้มากที่สุด แต่ด้วยมาตรการต่างๆเกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น การเว้นระยะห่าง ทำให้นักเรียนไม่สามารถเดินทางสู่โรงเรียนได้พร้อมกันทั้งหมด จึงกำหนดให้จัดการเรียนการสอนแบบเหลื่อมเวลา จำนวน 92-120 โรงเรียน โดยเด็กเล็ก (อ.1-ป.3) จะต้องไปโรงเรียนอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนเด็กโต (ป.4-ม.6) บางส่วนยังให้มีการจัดการเรียนแบบออนไลน์เสริมในช่วงแรก ทั้งนี้ หากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีการผ่อนปรนมากขึ้น ก็จะจัดการเรียนการสอนของเด็กโตตามปกติ โดยต้องเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในช่วงเดือนแรกก่อน

ขณะที่มาตรการการควบคุมและการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในโรงเรียน ยังยึด 5 หลักที่ ศบค.แนะนำ ทั้งเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อย การไม่ไปที่ชุมชนแออัด การรักษาระยะห่าง และทำความสะอาดพื้นที่ แต่ กทม.จะมีการเพิ่มเติมเรื่องของการเหลื่อมเวลาทั้งในส่วนของเวลาเข้าเรียน พักกลางวัน และเวลาเลิกเรียน เพื่อเป็นการจำกัดการพบปะกันและลดการสัมผัสระหว่างบุคคลให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ จะใช้หลักการคล้ายกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปาก คือ หากพบเด็ก 1 คนติดเชื้อจะทำการปิดห้องเรียน หากพบเด็กในชั้นเรียนติดเชื้อมากกว่า 1 ห้อง จะทำการปิดชั้นเรียนทั้งชั้น หากเด็กภายในโรงเรียนมากกว่า 1 ชั้นติดเชื้อ จะทำการปิดโรงเรียนทันที และถ้ามีเด็กติดเชื้อมากกว่า 1 โรงเรียนในบริเวณดังกล่าว จะทำการปิดโรงเรียนทั้งบริเวณ

...

อย่างไรก็ตาม กทม.จะรณรงค์งดจัดกิจกรรมส่วนรวมภายในโรงเรียน เช่น การเข้าแถวหรือกิจกรรมต่างๆที่ต้องรวมกลุ่มกัน หากหลีกเลี่ยงได้ควรจะหลีกเลี่ยง เพื่อลดการแพร่เชื้อไวรัสที่อาจจะเกิดขึ้น.