ทั่วโลกกำลังระส่ำกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งล่าสุดจีนสั่งปิดตลาดสดทั่วปักกิ่ง หลังพบเชื้อร้ายนี้บนเขียงแล่ปลาแซลมอนที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำผู้ป่วยรายใหม่ในจีนเพิ่มขึ้นอีกระลอก จนผู้คนเกิดความหวาดกลัว เกรงว่าปลาแซลมอนอาจจะไม่ปลอดภัย หรือเป็นพาหะในการแพร่เชื้อหรือไม่? รวมทั้งผู้บริโภคในไทย ซึ่งนิยมรับประทานปลาแซลมอนดิบ
- ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จากกระแสร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยมาแรง ทำให้ผู้บริโภคคนไทยนิยมรับประทานปลาแซลมอนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสู่ประเทศไทยเติบโตมากถึง 25% ต่อปี จากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์
- แหล่งนำเข้าปลาแซลมอนหลักๆ ในไทย ยังคงมาจากประเทศนอร์เวย์ โดยยอดนำเข้าช่วงเดือน ม.ค.ถึงเดือน พ.ค. ปี 2562 มีปริมาณ 4.9 พันตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ที่มีการนำเข้าอยู่ที่ 3.5 พันตัน หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่า จากปี 2557 ที่มีการนำเข้าเพียง 2.3 พันตัน
- ที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่าเนื้อปลาแซลมอนสีส้มสดมันวาว เหมือนลายหินอ่อน นำเข้ามาจากญี่ปุ่น มาเสิร์ฟในร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย แต่ความจริงแล้วมาจากประเทศนอร์เวย์ อีกทั้งคนญี่ปุ่นนิยมเลี้ยงปลาแซลมอนไว้รับประทานเองเท่านั้น และญี่ปุ่น เป็นตลาดอันดับหนึ่งในเอเชียที่นำเข้าปลาแซลมอนจากฟาร์มประเทศนอร์เวย์
- การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารของนอร์เวย์ ออกมายืนยัน เชื้อนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยด้านอาหารทะเล ไม่สามารถเป็นพาหะของเชื้อไวรัส และไม่มีความเสี่ยงใดๆ ต่อผู้บริโภค โดยยึดมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารในระดับสูงสุด
- วงจรชีวิตของปลาแซลมอน เริ่มจากไข่ปลาฟักเป็นตัวอ่อน จนเริ่มมีเกล็ดและครีบ อาศัยในน้ำที่มีอุณหภูมิ 6-15 องศาเซลเซียส เมื่อโตเต็มวัยเกล็ดจะเปลี่ยนเป็นสีเงินยวง ชาวประมงในนอร์เวย์ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปีครึ่งถึง 3 ปีในการเลี้ยงดู ภายใต้มาตรฐานของสหภาพยุโรป
...
“ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับ “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อทำให้ผู้บริโภคปลาแซลมอนในไทยคลายความกังวล โดยยืนยันประเทศไทยไม่มีการนำเข้าปลาแซลมอนมาจากประเทศจีน และที่ผ่านมานำเข้ามาจาก 2 ประเทศหลักเท่านั้น คือ นอร์เวย์ ในโซนยุโรป และ ชิลี ในทวีปอเมริกาใต้ โดยปี 2562 มีการนำเข้าปลาแซลมอนเพื่อนำไปแปรรูปเป็นปลาแซลมอนกระป๋อง ส่งออกขายต่างประเทศ ประมาณ 13 ล้านตัน และอีก 11 ล้านตัน นำเข้าเพื่อการบริโภคในประเทศ ทั้งรับประทานดิบ และนำไปทำเมนูต่างๆ โดยเฉพาะปลาแซลมอนย่าง
“คนไทยนิยมกินปลาแซลมอนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากกระแสสุขภาพมาแรง แต่ปริมาณการนำเข้ายังไม่มากเท่ากับปลาทูน่า ที่ยังเป็นเบอร์ 1 ตามมาด้วยปลาซาดีน และปลาแมกคาเรล ซึ่งจากข้อมูลในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ไทยนำเข้าปลาแซลมอน ประมาณ 7 พันกว่าตัน หากประเมินทั้งปี ปริมาณนำเข้าลดลงจากผลกระทบโควิด เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่การบริโภคอาหารอื่นๆ ลดลง ทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไป ทำให้ร้านอาหาร ยอดขายตกตามไปด้วย แม้จะเปลี่ยนรูปแบบการขายเป็นเดลิเวอรี่ก็ตาม ตรงกันข้ามกับสินค้าพวกเก็บรักษาได้นานๆ ผ่านการฆ่าเชื้อผ่านความร้อน มีแพ็กเกจไม่ใหญ่มากนัก พบว่าเติบโตต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอาหารสัตว์”
ส่วนกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากเขียงแล่ปลาแซลมอนที่เกิดขึ้นในจีน ต้องไปตามสืบหาต้นตอ แต่ผลวิจัยชี้ชัดการติดเชื้อไวรัสโควิดมาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น ไม่ใช่จากอาหารทะเลหรือปลา เบื้องต้นประเมินว่าน่าจะเกิดจากคน แต่ก็ต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกรณีตัวอย่าง ทำให้คนส่วนหนึ่งเข้าใจและไม่เข้าใจ จึงเป็นงานหลักของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคว่ากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม นอกจากมีมาตรฐานในการผลิตหลายขั้นตอนแล้ว ต้องผ่านความร้อนสูงมากถึง 121 องศาเซลเซียสในกระบวนการฆ่าเชื้อ และในส่วนร้านอาหาร ต้องแสดงให้ผู้บริโภคได้เห็นกระบวนการเตรียมอาหารที่มีมาตรฐานเรื่องความสะอาดและสุขอนามัย
“วิศิษฐ์” ยอมรับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคกังวลในเรื่องอาหารการกินที่ต้องผ่านความร้อน โดยมีร้านอาหารจำนวนไม่น้อยมีการปรับตัวสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าในการยกระดับความสะอาดและสุขอนามัยอย่างเข้มงวด ในส่วนเมนูเกี่ยวกับปลาแซลมอน มีหลายร้านขณะนี้ได้เปลี่ยนมาปรุงให้สุก
กรณีลูกค้าจะเลือกรับประทานปลาแซลมอนดิบ ควรเลือกร้านที่มีความมั่นใจว่าปลอดภัยจริงๆ และที่ผ่านมาไทยไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศ นานกว่า 18 วัน อยากให้คลายความกังวล เนื่องจากประเทศไทยเป็นครัวโลก มีการเน้นมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยของอาหารในการส่งออกไปประเทศต่างๆ 1 ใน 3 ของโลก ดังนั้นแม้เป็นช่วงโควิด ขอยืนยันไทยมีความปลอดภัยของอาหาร มีมาตรฐานสูงในการส่งออกไปยังห้างค้าปลีกต่างๆ ไปทั่วโลก.