กสศ.ผนึก ภาคีเครือข่ายอาสาสมัคร เปิดโครงการ "มื้อเที่ยง DISTANCING" ดูแลอาหารกลางวัน เด็กกลุ่มเปราะบางยากจน คลองเตย ผ่านการแจกคูปองรับอาหารร้านค้าในชุมชน ช่วงโควิด-19 ลุย นำร่อง 2 พื้นที่ พร้อมต่อยอดพัฒนาดูแลเด็กนอกระบบ ระยะยาว 

วันที่ 1 มิ.ย. ที่ชุมชนริมทางรถไฟท่าเรือ เขตคลองเตย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย เปิดกิจกิจกรรม “มื้อเที่ยง DISTANCING” ภายใต้โครงการ "สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง" เพื่อลงไปดูแลช่วยเหลือเด็กกลุ่มยากจน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิดเพราะผู้ปกครองขาดรายได้เกือบทั้งหมด และยังเป็นช่วงปิดเทอม โดยดำเนินการสมทบทุนค่าอาหารกลางวันด้วยระบบคูปอง ซื้ออาหารร้านในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อลดการติดต่อระยะใกล้ ป้องกันการติดเชื้อในสถานการณ์แพร่ระบาดขณะนี้ด้วย

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว มีอาสาสมัครนิสิตนักศึกษาร่วมเก็บข้อมูล และแจกคูปองสำหรับแลกอาหารกลางวัน รวมทั้งพูดคุยเก็บข้อมูลความเป็นอยู่ ปัญหาของนักเรียนยากจนและผู้ปกครองเพื่อช่วยเหลือต่อไป โดยมีพื้นที่นำร่อง 2 ชุมชนซึ่งเป็นชุมชนที่มีเด็กกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษจำนวนมากจากฐานข้อมูล isee ของกสศ.นั้นคือ ชุมชนวัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ และชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ เขตคลองเตย โดยทั้งสองชุมชนมีเด็กเข้าร่วมโครงการ จำนวน 186 คน เป็นนักเรียนชั้นอนุบาลถึงมัธยมต้น

...

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่หลายชุมชน พบว่า สถานการณ์เด็กเปราะบางและเด็กนอกระบบ อยู่ในภาวะเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาสูงมาก สิ่งที่ค้นพบจากการคุยกับครอบครัวและตัวเด็กนั้น พวกเขาซึมซับสถานการณ์รุนแรงโควิด-19 แบบเงียบๆ เขาไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร ในภาวะที่รับรู้ข่าวสาร หรือได้รับผลกระทบจากพ่อแม่ที่ตกงาน การไม่มีรายได้ บางวันไม่รู้จะกินอะไร ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหน จะเปิดเทอมแล้วจะจัดการชีวิตภายในครอบครัวกันอย่างไร เป็นสภาพย่ำแย่ที่สุดในด้านสุขภาพจิตและเด็กเครียดกดดัน จิตใจกระทบกระเทือนมาก นอกจากเราได้มาแจกถุงยังชีพแล้ว เหมือนได้มารับฟัง เยียวยาปัญหาของเขา

“กสศ.ทำงานด้วยการเชื่อมโยงหน่วยงานอื่นๆ พบคนที่ลงไปหากลุ่มเป้าหมายเจอ นั้นคือ เอ็นจีโอ ภาคเอกชน สภาเด็ก นักวิชาการ บอกได้ว่าเด็กกลุ่มเสี่ยงอยู่ตรงไหน กลุ่มเด็กเปราะบางซ่อนอยู่ในชุมชน ติดอยู่กับรางรถไฟ มองไม่เห็นจากถนน จากบนทางด่วน เขาแทบไม่มีตัวตนในสังคมปกติ เราแทบจะไม่เห็นเขา พอ กสศ.ได้เจอกับกลุ่มคนที่ทำงานในพื้นที่ เขาสามารถพาไปหากลุ่มเป้าหมายได้ นอกจากนี้ กสศ.จะเริ่มทำคือโครงการพัฒนารูปแบบเด็กนอกระบบ กับครูนอกระบบ เป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งเล็งเป้าหมายไว้ว่า เด็กนอกระบบจะมีประมาณ 35,000 คน และครู 1,000 คน ซึ่งครูในความหมายของเราไม่ใช่ครูในโรงเรียน แต่เป็นครูนอกระบบที่ทำงานกับชุมชน เป็น เอ็นจีโอ ก็ได้ เป็นสภาเด็กก็ได้ หรือเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหว” ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าว

ที่ปรึกษา กสศ. ระบุว่า ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ กสศ.จะเปิดเป็นโครงการใหญ่ แบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนแรก ลงพื้นที่แล้วช่วยเหลือเลย เป็นโครงการเร่งด่วนแก้ปัญหาโควิด-19 สองคือโครงการระยะยาวจะเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ และภาคอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมอยู่แล้ว เขียนโครงการเพื่อพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งเราได้ข้อมูลจากภาคสนาม รู้เลยว่าถ้าเราไม่ทำอะไรเลย สังคมไทยระเบิดได้ แล้วจะเป็นปัญหาที่แก้ยาก เพราะว่าเขาต้องต่อสู้ดิ้นรนด้วยตัวเอง ในภาวะที่มีความเหลื่อมล้ำแตกต่างกันมากมาย สิ่งที่เกิดอยู่มันจะกลายเป็นความก้าวร้าวรุนแรงขึ้น การที่ กสศ. มาทำต้นทาง เพื่อพยายามจะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำนี้ลง ทำให้เด็กได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษา เราสนับสนุนเรื่องทุน หาอาชีพ-รายได้ให้กับพ่อแม่เขา เชื่อว่าสิ่งนี้ จะสามารถตัดวงจรเรื่องความยากจนจากครอบครัวเขา แล้วเขาสามารถจะอยู่รอดและมีฐานะทางสังคมที่ดีขึ้น หากทำต่อเนื่องอย่างน้อย 5-6 ปี แล้วเขาได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยที่สูงเกือบจะเป็นอันดับ 1 ของโลกแล้วจะค่อยๆ ดีขึ้น ลดน้อยลงตามลำดับ

...

นายจักรกฤกษณ์ เต็มเปี่ยม หรือน้องแฮม ประธานสภาเด็กและเยาวชน เขตคลองเตย กล่าวว่า ชุมชนแห่งนี้มีเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบโควิด-19 ต่อคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ จึงได้มีเกณฑ์ในการคัดเลือกเด็กเข้าร่วมโครงการ อาทิ เด็กอยู่กับตายาย มีรายได้น้อย พ่อแม่ตกงาน โดยทำการคัดเด็ก 116 คน รับคูปองคนละ 30 บาท ใช้ได้ 30 วัน มีร้านค้าในชุมชนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 5 ร้าน จากการคัดเลือกลักษณะร้านเป็นแบบอาหารตามสั่ง เน้นโภชนาการครบ 5 หมู่ ปกติร้านค้าเหล่านี้จะขายอยู่บริเวณนอกชุมชน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดทำให้ขาดรายได้ จึงได้ย้ายมาขายบริเวณในชุมชน เป็นการสร้างรายได้ให้กับร้านค้าเฉลี่ย 700 บาท/วัน ซึ่งถือเป็นโครงการแปลกใหม่ และมีรูปแบบวิธีการใหม่ในการช่วยเหลือเด็ก ที่สำคัญร้านค้าแต่ละร้าาจะไม่ใช่แค่การขายอาหารอย่างเดียว แต่จะช่วยแนะนำเมนูอาหารที่เหมาะสมกับช่วงวัยเด็กเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนสมวัยอีกด้วย

...

ด้าน นายชยุตม์ สกุลคู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แทคท์ โซเชียล คอนซัลติ้ง กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน ทำให้มีเด็กมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กยากจนและเด็กเปราะบางต้องประสบปัญหาไม่มีข้าวกินในช่วงปิดเทอมที่ไม่ได้ไปโรงเรียน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ “มื้อเที่ยง Distancing” ที่ Tact ร่วมกับ กสศ. ตั้งใจที่จะนำพลังของนิสิตนักศึกษาอาสา มาช่วยกันส่งต่อ “ความอิ่ม” ให้กับน้องๆ แบบยังคงคอนเซปต์ “Social Distancing” เพื่อความปลอดภัยของทุกคน โดยโครงการจะใช้ "โมเดลคูปอง" ดำเนินการติดต่อชักชวนร้านอาหารในพื้นที่ให้เข้าร่วมโครงการ และรับสมัครพี่ Buddy อาสา เข้ามาทำกิจกรรมแจกคูปองและดูแลด้านการทานอาหารกลางวันของน้องตลอดระยะเวลาปิดเทอม 1 เดือน ข้อดีของโมเดลนี้คือ พี่อาสาไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ทุกวันก็สามารถช่วยน้องให้อิ่มท้องได้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะเป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้สร้างคุณค่าในตัวเองผ่านการช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนในรูปแบบที่เขาสามารถทำได้ และเป็นแรงบันดาลใจในการทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคมต่อไป