ชาวประมงพื้นบ้าน รวมตัวทำโครงการแบ่งปันอาหารทะเลจัดส่งปลาจากทะเลให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และคนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และประคับประคองพี่น้องชาวประมงให้ได้กระจายสินค้า
เมื่อวันที่ 12 พ.ค.63 นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยว่า นับจากเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด ชาวประมงพื้นบ้านเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านการประกอบอาชีพ แม้พวกเขาจะยังออกหาปลาได้ แต่ช่องทางการขายก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด การรับซื้อสินค้าสัตว์น้ำในชุมชนก็ลดลงและหยุดชะงักจากมาตรการรักษาระยะห่างทางกายภาพ แพปลาต้องหยุดประกอบการ เนื่องจากการขนส่งและต้องเฝ้าระวังการทำงานในอาคาร ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่มีตลาดขาย
นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวต่อว่า แม้ว่าชาวประมงจะยังมีอาหารกินในครัวเรือน และบางส่วนสามารถขายสัตว์น้ำแบ่งปันในชุมชนได้ แต่รายได้ที่หายไปทำให้ไม่พอซื้อข้าวสารและสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ทางสมาคมจึงได้ร่วมมือกับสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ทำโครงการ “ทูตอาหารทะเล : ส่งปลาจากทะเลถึงผู้เสียสละ” จัดขึ้นภายใต้ “โครงการอาหารทะเลจากชาวประมงพื้นบ้านสู้โควิด-19” ที่พยายามทำเพื่อประคับประคองพี่น้องชาวประมง และแบ่งปันความช่วยเหลือไปถึงกลุ่มต่างๆ ในสังคม
...
นายวิโชคศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทางโครงการจะเปิดรับเงินบริจาคจากคนทั่วไป คนละเงิน 150 บาท เพื่อนำไปซื้อปลาและอาหารทะเลจากชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน จัดส่งปลาจากทะเลให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเพื่อช่วยเหลือคนจนในเมืองและกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 สนใจบริจาคโอนเงินมาที่บัญชี สมาคมรักษ์ทะเลไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 691-235-323-6
ด้านนายเจริญ โต๊ะอิแต ชาวประมงพื้นบ้าน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่มีโรคระบาดทำให้เราเจอปัญหาหลายเรื่อง เช่น การประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหสถานช่วง 4 ทุ่ม-ตี 4 ขณะที่ชาวประมงจะออกเรือตอนตี 2 แต่รัฐมองเห็นปัญหาจึงให้ไปทำเรื่องขออนุญาตผู้ใหญ่บ้านเป็นกรณีไป ผลกระทบอีกส่วนคือ ราคาสัตว์น้ำ เช่น กั้ง จากราคากิโลกรัมละ 1,000 บาท เหลือ 450 บาท ปลาทู จากกิโลกรัมละ 120 บาท เหลือ 50 บาท ทำให้เราต้องขายถูกกว่าปกติด้วยความจำเป็น ที่ตลาดคนก็จับจ่ายใช้สอยกันน้อยมาก ถ้าไม่อยากเหลือกลับบ้านก็ต้องแจก แต่อย่างน้อยพวกเราก็มีอาหารที่สมบูรณ์ให้กิน ชาวประมงพื้นบ้านที่มีอยู่ราวหนึ่งแสนคนอยู่ในกลุ่มที่จะได้รับเงินชดเชยรายได้จากรัฐเป็นรายครอบครัวด้วยนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมามีการลงทะเบียนไว้แล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด
"พวกตนข้าใจดีว่าในสถานการณ์เช่นนี้จะให้ภาครัฐช่วยเหลือคนจำนวนมากให้เสร็จเรียบร้อยในเวลาอันรวดเร็วคงเป็นไปไม่ได้ แต่เรายังพอมีอาหารการกิน ยังมีพี่น้องบางกลุ่มบางพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารสดที่ปลอดภัยได้ ทำให้พวกเรายินดีช่วยเหลือกันในยามเกิดวิกฤติ ยินดีที่ได้ทำให้สถานการณ์ของคนอื่นๆ คลี่คลายลง และได้กินอาหารที่ปลอดภัย" ชาวประมงพื้นบ้าน อ.ท่าศาลา กล่าว.