ประเมินผลวันที่ 16 ยันเปิดเทอม 1 ก.ค.ใช้วิธีสอน 3 แบบ หม่อมเต่าเชื่อ ‘เงินชดเชย’ ตกงาน 1 ล.เพียงพอ
ศบค.ไฟเขียวอนุญาตให้ทดลองเปิดห้างสรรพสินค้าวันที่ 14-15 พ.ค. กำหนดจำนวนคนเข้าพื้นที่ รวมถึงมาตรการต่างๆที่จะใช้ ภาคเอกชนต้องให้ความมั่นใจยืนยันไม่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ประเมินผลอีกที 16 พ.ค. ศธ.ยัน 1 ก.ค. นักเรียนได้เปิดเรียนแน่ ระบุภาคเรียนแรกเปิดวันที่ 1 ก.ค.ถึง 13 พ.ย.2563 ภาคเรียนที่ 2 เปิดวันที่ 1 ธ.ค.2563 ถึง 9 เม.ย.2564 วาง 3 มาตรการรองรับ ทั้งออนไซต์ ออนแอร์ และออนไลน์ กระทรวงเกษตรฯเล็งอนุโลมให้ชาวนาตัวจริง ที่ไม่เคยลงทะเบียนรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานใดมาก่อน ลุ้นรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ปลัด ก.เกษตรฯแนะเทคนิค เร่งปลูกข้าวให้ครบ 15 วันเพื่อมีคุณสมบัติครบ อนุมัติเยียวยาประมงแล้วกว่า 5 แสนคน เร่งระยะ 2 คนทำประมงพื้นบ้านและแรงงานรีบลงทะเบียนขอเยียวยา ตลาดนัดจตุจักรเปิดแล้ว วางมาตรการเข้ม อนุญาตให้กินข้าวที่ร้านได้ แต่บรรยากาศยังเงียบเหงา กทม.ใจดีประสาน รฟท.งดเก็บค่าเช่า 3 เดือน พ่อค้าแม่ค้าพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าดีใจ ยืนยันขายได้น้อยดีกว่าปิดร้าน ด้านบ้านหม้อ-คลองถมก็เปิดแล้ว แต่บรรยากาศเงียบเหงาเช่นกัน ส่วนตลาดสนามหลวง2 คึกคัก ประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อของเพียบ
กรณีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยได้ส่งผลให้รัฐบาลตัดสินใจประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน สั่งปิดสถานที่หลายประเภทที่เป็นแหล่งชุมนุมของประชาชน นอกจากนี้ยังส่งผลให้บริษัทเอกชนจำนวนมากปิดบริษัทป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้าย สร้างผลกระทบประชาชนจำนวนมาก เป็นที่มาของมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ด้วยการให้ลงทะเบียนในเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อรับเงินเยียวยาหลายสาขาอาชีพ ต่อมาหลังจากควบคุมการติดเชื้อดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมีอัตราน้อยลง รัฐบาลเริ่มคลายล็อก 6 กิจการ ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. เพื่อให้ประชาชนได้ออกมาประกอบอาชีพและทำกิจวัตรส่วนตัวได้มากขึ้น แต่ยังคงมาตรการคุมเข้มการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังประกาศเคอร์ฟิวเอาไว้ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
...
ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวยังทะลุ 600 คน
ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 9 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงผลปฏิบัติการด้านความมั่นคงคืนวันที่ 8 พ.ค. ต่อเนื่องเช้าวันที่ 9 พ.ค.ว่า มีผู้ออกนอกเคหสถาน 603 คน น้อยกว่าคืนก่อน 7 คน ชุมนุมมั่วสุม 58 คน น้อยกว่าคืนก่อน 68 คน ขอให้ประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือ เราจะได้มีพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น สำหรับการตรวจสอบกิจการและกิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลายวันที่ 8 พ.ค. สำรวจทั้งสิ้น 16,024 แห่ง ปฏิบัติตามมาตรการ 15,632 แห่ง ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 392 แห่ง คิดเป็น 2.45 เปอร์เซ็นต์ ลดลงมาจากคืนก่อน
ทดลองเปิดห้าง 14–15 พ.ค.
เมื่อถามว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นถึงมาตรการคลายล็อกระยะที่ 2 ที่ตามไทม์ไลน์ระบุว่า จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 8-12 พ.ค.มีความคืบหน้าอย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ระบุไทม์ไลน์รับฟังความคิดเห็นวันที่ 8-12 พ.ค. จากนั้นวันที่ 13 พ.ค.จะประเมินผลการผ่อนคลายระยะที่ 1 วันที่ 14-15 พ.ค.จะยกร่างข้อกำหนดการผ่อนคลายระยะที่ 2 การประชุม ศบค.วงเล็กคร่าวๆเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ระบุว่า จะทดลองผ่อนคลายระยะที่ 2 ช่วงวันที่ 14-15 พ.ค. เลือกพื้นที่ทดลอง เช่น ห้างสรรพสินค้าจุดใดจุดหนึ่ง กำหนดจำนวนคนเข้าพื้นที่ รวมถึงมาตรการต่างๆที่จะใช้ แล้วประเมินผลวันที่ 16 พ.ค. จะมีรายละเอียดอีกมาก ทั้งหน่วยงานด้านสาธารณสุข ความมั่นคง รวมถึงภาคเอกชนต้องมาหารือกัน และภาคเอกชนต้องให้ความมั่นใจยืนยัน ไม่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้น หากมาตรการออกมาแล้วตนจะรีบแจ้งให้ประชาชนรับทราบโดยเร็ว
ตรวจเชื้อเชิงรุกแล้ว 4 จังหวัด
เมื่อถามถึงความคืบหน้าการตรวจเชื้อโควิด-19 เชิงรุกดำเนินการไปแล้วกี่จังหวัด นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า การค้นหาเชิงรุกทำไปแล้ว 4 จังหวัด ข้อมูลของกรมควบคุมโรคในกรุงเทพฯ ตรวจเชื้อไปแล้ว 3,581 คน มีผู้ติดเชื้อ 1 คน จ.ยะลา 3,277 คน มีผู้ติดเชื้อ 20 คน จ.ภูเก็ต 2,552 คน มีผู้ติดเชื้อ 26 คน และ จ.กระบี่ 477 คน พบผู้ติดเชื้อ 3 คน
ศธ.ยัน 1 ก.ค.เด็กได้เรียนแน่
ด้านนางรักขณา ตัณฑวุฑโฒ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ฐานะรองโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนวันที่ 1 ก.ค.ว่า กระทรวงศึกษาธิการกำหนดปฏิทินการศึกษาให้เปิดภาคเรียนที่ 1 วันที่ 1 ก.ค.ถึง 13 พ.ย.2563 ภาคเรียนที่ 2 เปิดวันที่ 1 ธ.ค.2563 ถึง 9 เม.ย.2564 มีแนวทางการจัดการเรียนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุกระดับชั้นและทุกระบบการศึกษา การเรียนการสอนต้องปลอดภัย อำนวยการให้นักเรียนเข้าสู่การเรียนการสอนได้โดยใช้สิ่งที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดสรรช่องดิจิตอลทีวีให้ 17 ช่องเป็นช่องทางศึกษาทางไกลทำให้สามารถยืนยันได้ว่า วันที่ 1 ก.ค.จะเปิดการเรียนการสอนได้อย่างแน่นอน
วาง 3 รูปแบบตามสถานการณ์
“เราวางมาตรการไว้ 3 อย่างด้วยกันคือ ออนไซด์ ออนแอร์ และออนไลน์ หากสถานการณ์คลี่คลายก็เรียนปกติ ถ้าไม่ปลอดภัยจะเรียนทางช่องทางทีวี ส่วนช่องทางออนไลน์จะใช้สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจใดๆของกระทรวงจะควบคู่ไปกับการสำรวจความคิดเห็น พื้นที่ใดปลอดภัยไม่ปลอดภัยคุยกันได้ และที่สำคัญบุคลากรทางการศึกษาจะต้องได้รับการดูแลอย่างดี” นางรักขณากล่าว
อนุโลมชาวนาตัวจริงรับ 5 พัน
...
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า กระทรวงเกษตรฯ หารือปัญหาและอุปสรรคการลงทะเบียนของเกษตรกรตัวจริงแต่ยังไม่เคยลงทะเบียนกับหน่วยงานที่เป็นนายทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมหม่อนไหม กรมประมง กรมปศุสัตว์ โรงงานยาสูบ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อรองรับการเป็นเกษตรกรรับเงินเยียวยาจากรัฐบาล 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน ที่ระเบียบปฏิบัติการขึ้นทะเบียนกำหนดต้องมีพืชอยู่ในที่ดิน 15 วันถึงจะสามารถลงทะเบียนได้ แต่ขณะนี้ประสบภัยแล้ง ปริมาณน้ำน้อยยังไม่มีฝนตก ส่งผลให้ชาวนายังไม่สามารถทำนาได้จึงไม่มีพืชอยู่ในแปลง
รับคำร้องทุกคนส่ง ก.คลัง
นายอนันต์กล่าวต่อว่า ดังนั้นชาวนาที่ไม่เคยขึ้นทะเบียนเลยตั้งแต่ในอดีต แต่ต้องการได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล และประสบปัญหาภัยแล้งไม่มีน้ำเพียงพอปลูกข้าวได้ ส่งผลให้ขาดคุณสมบัติ กระทรวงเกษตรฯฐานะผู้ตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น ก่อนส่งรายชื่อและทะเบียนทั้งหมดให้กระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อตรวจสอบความซ้ำซ้อน ตกลงจะรับเอกสารหลักฐานทั้งหมดของชาวนาที่ขอลงทะเบียนใหม่ไว้ก่อน หากขาดเอกสารหลักฐานก็เร่งแก้ไข และหาเอกสารเพิ่มเติมให้ครบภายใน 15 วัน
แนะเทคนิคปลูกพืชครบ 15 วัน
“กรณีไม่มีพืช หรือยังไม่มีข้าวในนาครบ 15 วัน จะอนุโลมให้ชาวนาไปรีบปลูกข้าว เพื่อให้เอกสาร หลักฐานครบตามระเบียบราชการ เพราะหลังจากส่งเอกสารทะเบียนเกษตรกร ให้กระทรวงการคลังตรวจ สอบความซ้ำซ้อนแล้ว 8.3 ล้านราย เชื่อว่าต้องดำเนินการตรวจสอบและส่งข้อมูลให้คลังตรวจสอบอีกประมาณ 3-4 ครั้ง หากชาวนารีบปลูกข้าว หรือปลูกข้าวครบ 15 วัน วันใดวันหนึ่ง จะเป็นหลังวันที่ 15 พ.ค.ก็ตาม ถือว่าดำเนินการทันเวลา ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด รอเพียงข้าวงอกครบ 15 วันเท่านั้น ครบวันไหนถือว่าคุณสมบัติครบเป็นเกษตรกรวันนั้น จะมีสิทธิ์ ได้รับเงินเยียวยาเช่นกัน” ปลัดกระทรวงเกษตรฯกล่าว
...
ประมงรับเยียวยา 5 แสนคน
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เผยว่า การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ของกรมประมงระยะที่ 1 มีเกษตรกรทั้งสิ้น 530,710 คนที่ได้รับสิทธิ์ ได้แก่ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ปลา กบ และสัตว์น้ำชนิดอื่น (ทบ.1) เกษตรกรผู้ได้รับอนุญาตทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณะของแผ่นดิน เช่น เลี้ยงปลาในกระชัง เลี้ยงหอยในทะเล เกษตรกรผู้จดแจ้งการเลี้ยงกุ้งทะเล และเกษตรกรผู้ขึ้นทะเบียนชาวประมง (ทบ.3) ได้แก่ เจ้าของเรือประมงพื้นบ้าน ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมง ทะเบียนชาวประมง (ภาคสมัครใจ) ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งข้อมูลผู้ขึ้นทะเบียนที่ผ่านการตรวจสอบให้กระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง กรณีเกษตรกรมีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. สามารถใช้บัญชีเงินฝากตามเดิมได้ไม่ต้องมาเปิดบัญชีใหม่ ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีบัญชี ธ.ก.ส. สามารถแจ้งบัญชีเงินฝากที่มีอยู่กับธนาคารใดก็ได้ผ่านเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com
...
ระยะ 2 รีบตรวจสอบสิทธิ์
สำหรับการช่วยเหลือระยะ 2 เป็นการช่วยเหลือในส่วนของผู้ทำการประมงพื้นบ้านและแรงงานไทยในเรือประมงพื้นบ้าน ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่อยู่ในฐานข้อมูลทะเบียนกรมประมงแต่ทะเบียนหมดอายุผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่อยู่ระหว่างยื่นต่ออายุ และผู้ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบสิทธิ์ รวมถึงเกษตรกรรายใหม่ ที่จะขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 15 พ.ค.ด้วย ฝากเน้นย้ำให้ผู้ที่ประสงค์ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมประมง โดยเฉพาะผู้ทำประมงพื้นบ้านและแรงงานไทยในเรือประมงพื้นบ้าน รีบตรวจสอบสิทธิ์ในเว็บไซต์ https://smartfarmer.fisheries.go.th/fisherman/index.php และติดต่อขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประมงจังหวัด หรือสำนักงานประมงอำเภอในพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่เว้นวันหยุดราชการ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ 0-2104-9444 (จำนวน 40 คู่สาย) ตลอด 24 ชม. หรือ Line : @dofhelpdesk เพื่อกรมประมงจะเร่งขึ้นทะเบียนชาวประมงให้ครบถ้วน ไม่ตกหล่น และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อร่วมกันผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน
“หม่อมเต่า” ยันเพิ่มเงินว่างงาน
ที่กระทรวงแรงงาน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีที่ประชุมบอร์ดประกันสังคม มีมติไม่เห็นด้วยที่ รมว.แรงงานจะเสนอ ครม.ปรับเพิ่มเงินชดเชยกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจากเดิม 62 เปอร์เซ็นต์ เป็น 75 เปอร์เซ็นต์ว่า เรื่องนี้ปลัดกระทรวงฯในฐานะประธานบอร์ด ยังไม่ได้รายงานผลการประชุมให้ทราบ เพียงแค่คุยกันนิดหน่อย เมื่อถามว่าจะเดินหน้าต่อหรือจะหยุด ม.ร.ว.จัตุมงคลตอบว่า ก็เดินไป เขาต้องไปคิดจะเอาไม่เอา ต้องไปคุยกัน มีวิธีการ ตนไม่ต้องคิดอะไร บอร์ดคุยกันอยู่ตลอดเวลา บอร์ดอยู่กันมาตั้ง 5 ปีแล้ว ส่วนตนเป็นคนมาใหม่ ไม่ได้อยู่ในคณะบอร์ด มีหน้าที่เซ็นเวลาออกกฎกระทรวง ที่ตนไปพูดเรื่อง 75 เปอร์เซ็นต์ตอนแถลงเรื่องจ่ายเงินว่างงานเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ไม่ได้มีอะไร แค่บอกว่ากำลังจะทำอะไร ไม่ได้นึกถึงบอร์ดและไม่ได้พยายามจะเอาเรื่องเข้าบอร์ด เพราะบอร์ด สปส.ไม่ใช่เรื่องของตน และไม่มีการคุยกับปลัดกระทรวงก่อน
ย้ำตกงาน 1 ล้านคนเงินพอจ่าย
เมื่อถามว่า บอร์ด สปส.บางคนมองว่ารัฐมนตรีล้วงลูก มีการใช้อำนาจมากเกินไป หากยังจะเดินหน้าเพิ่มเงินชดเชย 75% อาจทำให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของเงินกองทุนประกันสังคมออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าวว่า เป็นเจ้าของกันทุกคนนั่นแหละ ต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ ตนไม่รู้ว่าบอร์ดมีการคำนวณหรือยังว่าจะใช้เงินยังไง แต่ตนดูแล้วว่ามันพอจ่าย ตอนแรกเคยกลัวว่าอาจจะมีว่างงาน 2-5 ล้านคน ถ้าขนาดนั้นมันจ่ายไม่ไหว แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าแค่ 1 ล้านคน เท่านี้มันไหว จึงสามารถทำอะไรให้มากขึ้นได้ ถ้าต้องจ่าย 75% ยาวไปถึงสิ้นปี ตนว่าเงินที่มีอยู่พอจ่าย แต่ขึ้นกับว่าอีก 3 เดือน หรือ 6 เดือน คนว่างงานเพิ่มอีกแค่ไหน ถ้าไม่พอคงไม่ไปพูดถึง เงินกองทุนประกันสังคมมี 2.1 ล้านล้านบาท เรื่องการจ่ายเงินจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ สามารถไปบริหารจัดการได้
จตุจักรเปิดแล้วตี 5–6 โมงเย็น
ที่ตลาดนัดจตุจักรเช้าวันเดียวกัน นางวัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัด กทม. ลงพื้นที่ตรวจมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมนายอาฤทธิ์ ศรีทอง ผู้อำนวยการเขตจตุจักร พ.ต.อ.กฤษฎางค์ จิตตรีพล ผกก.สน.บางซื่อ ร.ท.ยุทธนา แต่งจันทร์ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ กอ.รมน.กทม. คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานตลาด กทม. คณะกรรมการบริหารสำนักงานตลาด กทม. และผู้เกี่ยวข้อง นางวัลยากล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ตลาดนัดจตุจักรกลับมาเปิดให้บริการ หลังหยุดให้บริการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ปัจจุบันตลาดนัดจตุจักรมีผู้ค้าทั้งหมด 10,334 ราย ช่วงแรกการเปิดให้บริการ ตลาดนัดเสาร์-อาทิตย์ จะเปิดบริการเวลา 05.00 - 18.00 น. ส่วนพื้นที่ผู้ค้าลานเร่บริเวณหอนาฬิกาและตลาดกลางคืนยังไม่เปิด เนื่องจากติดเวลาเคอร์ฟิว
ประชาชนเข้าออกได้ 6 ทาง
รองปลัด กทม.กล่าวต่อว่า สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (ตลาดนัดจตุจักร) เตรียมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในตลาดนัดจตุจักรดังนี้ กำหนดทางเข้า-ออกจุดคัดกรอง 6 จุดได้แก่ 1.บริเวณประตู 1 ด้านถนนกำแพงเพชร 2.บริเวณประตู 2 ด้านถนนกำแพงเพชร 3.บริเวณประตู 3 ด้านถนนพหลโยธิน 4.บริเวณประตูทางเข้า-ออก สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (รฟม.) 5.บริเวณประตูทางเข้า-ออกติดห้างมิกซ์ และ 6.บริเวณประตูทางเข้า-ออก ติดตลาดจตุจักรพลาซ่า (เจเจมอลล์) อนุญาตให้รถเข้า-ออกได้ทางประตู 1-3 เท่านั้น ส่วนคนเดินเท้าเข้า-ออกได้ทั้ง 6 ประตู มีตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย จัดแอลกอฮอล์เจลล้างมือฆ่าเชื้อโรค พร้อมอ่างล้างมือครบทุกจุด ผู้ค้าและประชาชนที่มาใช้บริการต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกคน รวมถึงกวดขันการทำความสะอาดห้องสุขาสาธารณะ 8 แห่งภายในตลาดทุก 2 ชม.
อนุญาตกินอาหารในร้าน
“สำหรับผู้ค้าประเภทอาหาร ต้องปฏิบัติตามมาตรการ เช่น จัดหาฉากพลาสติกปิดกั้นอาหารปรุงสำเร็จ หรือภาชนะมีฝาปิด จัดโต๊ะนั่งรับประทานพร้อมมีฉากกั้น เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร สำหรับที่นั่งมีการกำหนดจำนวนบุคคลเข้าภายในร้าน อาทิ ร้านค้าขนาดเล็ก ให้เข้าครั้งละ 5 คน ร้านค้าขนาดใหญ่ เข้าครั้งละไม่เกิน 10 คน เป็นต้น หากมีการตรวจพบผู้ค้ากระทำการฝ่าฝืนจะตักเตือนและทำหนังสือแจ้งเตือนไว้ หากยังพบกระทำผิดซ้ำจะปิดร้านค้าดังกล่าวทันที” รองปลัด กทม.กล่าว
วางมาตรการเข้มให้ผู้ค้า
รองปลัด กทม.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสำหรับผู้ให้บริการ (ผู้ค้า) ประกอบด้วย 1.ผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักรทุกคนต้องรวบผม ใส่หมวก ใส่ถุงมือ ใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย อย่างถูกวิธีโดยปิดทั้งจมูกและปาก 2.หากมีอาการไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบให้หยุดขายและไปพบแพทย์ทันที 3.กรณีขายอาหารปรุงสำเร็จให้ใส่ถุงหรือภาชนะมีฝาปิด หรือจัดทำอุปกรณ์ครอบหรือกันอาหาร 4.กรณีขายอาหารสด ประเภทเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ไม่ให้ลูกค้าสัมผัสอาหารสดโดยตรง 5.ทำความสะอาดแผงขายสินค้าด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (น้ำยาฟอกขาว) 0.1% ทุกวันก่อนปิดแผงค้า และ 6.เจ้าของต้องกำกับกิจการให้เป็นไปตามมาตรการกำหนด อีกทั้งแนะนำผู้ให้บริการ ระมัดระวังไม่ให้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก และหมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ก่อนและหลังเข้ามาใช้บริการตลาด และหลังใช้ห้องน้ำ และห้องสุขาสาธารณะ
ประสาน รฟท.งดค่าเช่า 3 เดือน
นางวัลยากล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ผู้ค้า เบื้องต้น กทม.จะงดเก็บค่าเช่าจากผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักรเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค.-พ.ค. กทม.ทำหนังสือถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อขอให้ รฟท.ยกเว้นการเก็บค่าเช่าพื้นที่บริเวณตลาดนัดจตุจักร แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบกลับจาก รฟท. อย่างไรก็ตาม กทม.ขอความร่วมมือผู้ค้าและประชาชนที่จะมาเลือกซื้อสินค้าที่ตลาดนัดจตุจักรปฏิบัติตามมาตรการและข้อกำหนดต่างๆ เพื่อความปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 เพราะหากตรวจพบการฝ่าฝืนหรือพบการติดเชื้อในพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร อาจต้องพิจารณาถึงการปิดพื้นที่หรือปิดตลาดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวต่อไป
เปิดจตุจักรวันแรกไม่คึกคัก
บรรยากาศการเปิดตลาดนัดจตุจักรจำหน่ายสินค้า ทุกประเภทเป็นวันแรกระหว่างเวลา 05.00-18.00 น. ตั้งแต่ช่วงเช้าคนที่เข้ามาในพื้นที่ตลาดส่วนใหญ่ เป็นผู้ค้าที่เดินทางมาเปิดร้าน ขณะที่ลูกค้าและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาซื้อสินค้าทยอยมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงสายถึงบ่าย แต่ไม่คึกคัก บริเวณทางเข้าตลาดทั้ง 6 ประตูมีเจ้าหน้าที่ตรวจอุณหภูมิ ติดสติกเกอร์แสดงสัญลักษณ์ผ่านการตรวจ และต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินซื้อของ สำหรับร้านค้าจะมีเจลแอลกอฮอล์ประจำร้าน ส่วนร้านขายอาหารจะเว้นระยะที่นั่ง 1.5 เมตร หากโต๊ะที่นั่งคู่กันจะมีฉากกั้น สถานที่ต่างๆ เช่น ห้องน้ำสาธารณะ ตู้เอทีเอ็ม เก้าอี้นั่งที่มีประชาชนใช้บริการทำความสะอาดทุก 2 ชม. ขณะที่การดูแลความเรียบร้อย มีการบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 100 นายประจำตามจุดเข้าออก บริเวณประตู 1 ตั้งแต่เช้าถึง 16.00 น.มีคนผ่านการตรวจกว่า 1,500 คน และรถ 365 คัน
แม่ค้าดีใจขายรองเท้าคู่แรก
จากการสำรวจการซื้อขายสินค้าที่คนเลือกซื้อและขายดียังเป็นเสื้อผ้า บางร้านลดราคาพิเศษ หลังจากอัดอั้นมานาน นอกจากนั้นเป็นอาหาร น้ำ และเครื่องดื่มต่างๆ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนอบอ้าว นอกจากคนไทยยังมีชาวต่างชาติหลายสิบคนเข้ามาเดินเลือกซื้อเสื้อผ้าบริเวณร้านริมถนนรอบสวนจตุจักร ได้รับความนิยมมีคนเดินมากกว่าโซนอื่น เนื่องจากเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทมากกว่าร้านค้าตามซอยต่างๆที่ส่วนใหญ่ยังปิดกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ บางซอยเปิดแค่ 2-3 ร้าน บางซอยยังปิดทั้งหมด ทำให้บรรยากาศเป็นไปด้วยความเงียบเหงา แม่ค้าร้านขายรองเท้าแฟชั่นโซนด้านหลังตลาด บริเวณประตู 1 ถึงกับพูดด้วยความดีใจ หลังจากลูกค้าซื้อรองเท้าราคา 150 บาท บอกว่าตั้งแต่เช้าขายได้คู่แรก และเป็นเงินก้อนแรกหลังจากปิดตลาดมานาน
ลูกค้าน้อยแต่ดีกว่าปิด
นางพิศมัย เขียวบริบูรณ์ แม่ค้าขายเสื้อผ้าซอย 48 โครงการ 4 กล่าวว่า ร้านค้าริมถนนรอบนอกพอขายได้บ้าง แม้ไม่ได้มาก แต่ดีกว่าไม่ได้ขายเลย ตามซอยขายแทบไม่ได้ คนไม่ค่อยเข้ามาเดินร้านค้ายังปิดเป็นส่วนใหญ่ แม่ค้าบางคนดีใจมาเปิดร้านตั้งแต่ตี 5 แต่เพราะลูกค้าเงียบเหงาบ่าย 3 ก็เก็บของแล้ว อาจเพราะไม่มีตลาดกลางคืนและลานค้าเร่ ที่ปกติมีคนมาเดินคึกคัก เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเคอร์ฟิว หวังว่าสัปดาห์หน้าคนจะเข้ามามากขึ้น ขณะที่เจ้าของร้านสติกเกอร์เพนต์ ปากซอย 23 กล่าวว่า ดีใจที่ผ่อนปรนให้ขายได้ แม้จะจำกัดเวลาตี 5-6 โมงเย็น อย่างน้อยมีรายได้เข้ามาบ้าง ยอดขายวันแรกไม่ได้คาดหวังอะไรมากเพราะคนยังน้อย ปกติลูกค้ามีทั้งคนไทยและต่างชาติ แต่วันนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเข้ามาใช้บริการ
บ้านหม้อ-คลองถมคนน้อย
ผู้สื่อข่าวเดินทางไปดูบรรยากาศบริเวณบ้านหม้อ หลังจากกรุงเทพมหานครสั่งปิดสถานที่เสี่ยงเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นระยะเวลากว่า 2 เดือนพบว่า ร้านค้าที่ตั้งร้านแผงลอยบริเวณพื้นถนนภายในซอยทิพย์วารี ถนนบ้านหม้อ แขวงวังบูรพาภิรมย์ มีร้านค้ากลับมาเปิดแล้วบางส่วน มีผู้ค้าและประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาเดินจับจ่ายซื้อสินค้าในตลาดจำนวนหนึ่ง แต่ยังคงรักษามาตรการตามที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ เช่น สวมหน้ากากอนามัย บางส่วนใส่หน้ากากเฟซชิลด์ ใช้แอลกอฮอล์ล้างมือ และรักษาระยะห่างขณะเลือกซื้อสินค้า แต่ยังคงบางตาอยู่ แม้บางร้านค้าจะกลับมาเปิดได้เป็นเวลา 3 วันแล้ว ส่วนคลองถมเซ็นเตอร์ หรือตลาดคลองถม ถนนวรจักร แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. พบว่า มีประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวมาจับจ่ายซื้อของบางตา ขณะที่บางร้านค้ายังคงปิดทำการ ไม่ได้เปิดจำหน่ายสินค้า ทางตลาดคลองถมเปิดให้บริการตั้งแต่ 09.00-17.00 น.ทุกวัน
ตลาดสนามหลวง 2 คึกคัก
ที่ตลาดธนบุรี (สนามหลวง2) นางนวพร กลิ่นบัวแก้ว กรรมการบริหารสำนักงานตลาด กทม.ลงพื้นที่ตรวจการดำเนินการตามมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เปิดทำการตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. หลัง กทม.มีมาตรการผ่อนปรน 8 กิจการ/สถานที่หลังมีคำสั่งปิดชั่วคราว นางนวพรกล่าวว่า ตลาดธนบุรีมีพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ แผงค้ากว่า 4,000 แผง หลัง กทม.มีมาตรการผ่อนปรน ตลาดเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. ผู้ค้าต่างทยอยเปิดร้าน แต่ยังมีบางร้านปิดอยู่ เช่น โซนพระเครื่อง ร้านนวด ขณะที่ประชาชนเดินทางมาจับจ่ายซื้อของค่อนข้างเยอะ สำนักงานตลาดดำเนินการตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาทิ ตรวจวัดอุณหภูมิทุกคนที่เข้าพื้นที่ มีจุดคัดกรอง 4 จุด ประกอบด้วย 1.บริเวณถนนคลองทวีวัฒนา 2.บริเวณป้ายรถเมล์สาย 91 ก 3.ทางเข้าโซน 11 บริเวณสวนหย่อม และ 4.ทางเข้าฝั่งถนนซอยอำนวยโชค จัดแอลกอฮอล์เจลล้างมือฆ่าเชื้อโรค พร้อมอ่างล้างมือทุกจุด ผู้ค้าและประชาชนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า รวมถึงกวดขันทำความสะอาดห้องสุขาสาธารณะทุก 2 ชม. สำหรับโซนศูนย์อาหารจัดหาฉากกั้นพลาสติกปิดกั้นอาหารปรุงสำเร็จ หรือภาชนะมีฝาปิด และจัดโต๊ะนั่งรับประทานพร้อมมีฉากกั้นเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร
กทม.ใจดีงดเก็บค่าแผง
“จากการลงพื้นที่ พบว่าประชาชนและผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โซนต้นไม้ อุปกรณ์สวน โซนปลาตู้ ปลาสวยงาม สัตว์เลี้ยง อาหารสัตว์ มีประชาชนมาจับจ่ายซื้อของจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เว้นระยะห่างอย่างต่อเนื่อง การเก็บข้อมูลจำนวนรถที่เข้ามาใช้บริการตลาดธนบุรี เมื่อวานนี้ (8 พ.ค.) จำนวนกว่า 4,000 คัน คาดว่าวันนี้เป็นวันหยุดจะมีผู้ใช้บริการมากกว่า นอกจากนี้ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนผู้ค้า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. มีนโยบายยกเว้นค่าเช่าแผงค้าตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 จนกว่าสถานการณ์จะปกติ สำหรับค่าเช่าแผงค้าตก 650 บาทต่อเดือน” นางนวพรกล่าว
ขนยาบ้าช่วงเคอร์ฟิว
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่จับผู้กระทำผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อเนื่อง รายแรกเมื่อเวลา 22.30 น. วันที่ 8 พ.ค. พ.ต.ต.ไสว วันทองดี สว.อก.ปฏิบัติหน้าที่ สวป.สภ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ร่วมกับนายสถิตย์ คำลาเลี้ยง นอภ.โนนสัง ตั้งด่านตรวจจุดคัดกรองไวรัสโควิด-19 บนถนนหนองบัวลำภู-ขอนแก่น หน้าตู้ยามตำรวจบ้านค้อ อ.โนนสัง พบรถกระบะนิสสัน นาวาร่า สีบรอนซ์ ทะเบียน บง 9263 หนองบัวลำภู วิ่งผ่านมาเรียกตรวจสอบในรถมีชาย 3 คน ทราบชื่อ นายสุรศักดิ์ สายสังข์ อายุ 23 ปี คนขับ นายอภินันท์ ตีสาตร์ อายุ 29 ปี และนายสุรินทร์ โก๊ะสูงเนิน อายุ 22 ปี ค้นพบยาบ้าซุกซ่อนภายในรถ 1,662 เม็ด และปืน 9 มม.ไม่มีทะเบียน ควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.โนนสัง สอบสวนขยายผลและดำเนินคดีต่อไป
โจ๋เมากัญชาส่งเสียงดัง
จ.พิษณุโลก เวลา 00.30 น. วันที่ 9 พ.ค. นายธีระศักดิ์ พยุหกฤษ ปลัดอำเภอบางระกำ นำเจ้าหน้าที่ตรวจสอบกระท่อมหลังบ้านเลขที่ 15/6 หมู่ 6 บ้านหนองตา ต.บ่อทอง มีวัยรุ่นจับกลุ่มส่งเสียงดัง เมื่อไปถึงพบวัยรุ่นเพียง 2 คน ทราบชื่อนายวิทวัส เล้าวงค์ อายุ 20 ปี และนายวุฒิพงษ์ รอดเงิน อายุ 21 ปี นอกจากนี้มีรถ จยย.จอดอยู่ 9 คัน สอบถามทั้งคู่อ้างว่า นั่งดื่มน้ำอัดลมกัน แต่เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อตรวจปัสสาวะพบฉี่สีม่วง เมื่อค้นกระท่อมพบกัญชาอัดแห้งซุกซ่อนอยู่ในกล่องวางอยู่กับพื้น เบื้องต้นแจ้งข้อหาเสพยาและมียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 (กัญชา) และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระหว่างตรวจยึดของกลางพบนายสาริต สุรินทร์ อายุ 22 ปี ขี่รถ จยย.ผ่านถนนในหมู่บ้าน เรียกตรวจพบฉี่สี่ม่วงคุมตัวดำเนินคดีอีกคน
ทหารส่งอาหารให้ชาวบ้าน
ส่วนการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบยังคงมีต่อเนื่อง พ.อ.หาญพล เพชรม่วง ผบ.ฉก.ทพ.43 ปัตตานี เผยว่า จัดกำลังพลร่วมกับผู้นำชุมชนและอสม.พื้นที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จัดทำอาหารพร้อมนำผลอินทผลัมบรรจุใส่กล่องพลาสติกตามโครงการ “Army Delivery” เพื่อให้ทหารชุดเคลื่อนที่เร็วนำไปแจกจ่ายตามหมู่บ้านพื้นที่ห่างไกลกว่า 200 ครอบครัว ได้บริโภคช่วงละศีลอดในห้วงเดือนรอมฎอน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับ พ.ท.นพดล พรหมมาก รอง ผบ.ฉก.ทพ.48 นราธิวาส จัดกำลังพลนำข้าวกล่องส่งให้พี่น้องประชาชนพื้นที่ ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง ตามโครงการ “Army Delivery” นอกจากนี้ จัดชุดแพทย์เคลื่อนที่ออกให้คำแนะนำพร้อมตรวจสุขภาพกลุ่มคนชราและเด็กควบคู่กันไปด้วย
เล่นไพ่ในสวนมะพร้าว
จ.นครศรีธรรมราช นายศิริพัฒ พัฒกุล ผวจ.นครศรีธรรมราช สั่งการให้ พ.อ.อ.ณัฏฐพล พราหมพูน ปลัดอำเภอ ทำหน้าที่หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษปกครองจังหวัดนครศรีธรรมราช นำ อส.ร่วมกับตำรวจ สภ.สิชล เข้าปิดล้อมสวนมะพร้าว ซอยป่าหมาก หมู่ 5 ต.สิชล อ.สิชล หลังรับร้องเรียนว่ามีการลักลอบเล่นการพนันในเวลาค่ำคืน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อไปถึงพบนักพนันนับสิบคนนั่งล้อมวงเล่นพนันเก้าเกอยู่ในเต็นท์ ติดไฟส่องสว่างอย่างโจ๋งครึ่ม พอเห็นเจ้าหน้าที่ทั้งหมดพากันแตกตื่นวิ่งหนี ไล่จับได้ 6 คน เป็นชาย 2 คน และหญิง 4 คน ยึดของกลางไพ่ 3 สำรับ และเงินสด 240 บาท คุมตัวส่งพนักสอบสวน สภ.สิชล ดำเนินคดี
ปิดชายหาดเมืองพัทยา
วันเดียวกันนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา จ.ชลบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ตำรวจ สภ.เมืองพัทยา ตรวจความพร้อมการนำรั้วเหล็กและเทปกันแนว ปิดกั้นเขตห้ามใช้พื้นที่ชายหาด ประกอบด้วย หาดพัทยา หาดจอมเทียน หาดพระตำหนัก หาดโคซี่ หาดวงศ์อมาตย์ หาดกระทิงราย สวนสาธารณะลานโพธิ์นาเกลือ และลานท่าเรือบาลีฮาย ระหว่างวันที่ 9-31 พ.ค. นอกจากนี้ ติดป้ายประกาศและนำโดรนมาบินประชาสัมพันธ์ให้ผู้อยู่บริเวณชายหาดรับรู้ แต่ผ่อนปรนให้ประชาชนมาออกกำลังกายได้บริเวณทางเท้า แต่ไม่อนุญาตให้ลงไปใช้พื้นที่ตลอดแนวชายหาด ผู้ฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ผู้รับเหมาค้ายาเสพติด
ส่วน จ.ปทุมธานี พ.ต.ท.นักรบ ชอบทำทาน สวป.สภ.สามโคก ออกตรวจพื้นที่ร่วมกับฝ่ายปกครองรับแจ้งมีผู้รับเหมาทะเลาะกับคนงานก่อสร้างส่งเสียงดังช่วงกลางดึก ภายในวัดบางนา หมู่ 1 ต.บางโพธิ์เหนือ นำกำลังไประงับเหตุ บริเวณศาลาข้างเมรุวัดบางนา พบนายณัฐพล โชติโหมด อายุ 30 ปี ผู้รับเหมาก่อสร้าง ยืนต่อว่ากลุ่มคนงานต่างด้าวชายหญิง 10 คนท่าทางคล้ายคนเมา ตรวจค้นรถกระบะอีซูซุ สีขาว ทะเบียน 2 ฒส 3970 กรุงเทพมหานคร ของนายณัฐพลพบยาบ้า 2,020 เม็ด และยาไอซ์หนัก 88.51 กรัม สอบสวนนายณัฐพลอ้างว่า คนงานทำงานผิดแบบเข้าไปต่อว่า จนมีปากเสียงกัน ส่วนยาเสพติดซื้อมาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา นำมาขาย แต่ขายไม่ได้เพราะไวรัสโควิด-19 ระบาดเลยเก็บไว้เสพเอง ตำรวจแจ้งข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า, ยาไอซ์) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน