คนไร้บ้านสวนลุมฯ เฮลั่น ภาครัฐจับมือเข้ามาร่วมเยียวยา ทั้งใจดียอมหรี่ตาให้เป็นจุดแจกอาหารชั่วคราวได้อีกครั้ง ด้านคนตกงานจากพิษโควิด-19 ที่ผันตัวเองมาเป็นคนเร่ร่อนวอนสังคมเข้าใจคนเดือดร้อนจริงอย่ามองคนจรแต่ในแง่ลบ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 23 เม.ย. ที่สวนหย่อมติดลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี สำนักพัฒนาสังคม กทม.นำโดยนางจิตรลดา ถนอมศักดิ์ รองผอ.สำนักพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สภากาชาดไทย เดินทางมาจัดเก็บฐานข้อมูลประชากรที่ปักหลักอยู่ในสวนหย่อมหน้าลุมพินี เพื่อเตรียมให้ความช่วยเหลือพร้อมแนะแนวช่วยเหลือผู้ไร้บ้านที่ต้องการกลับภูมิลำเนา นอกจากนี้ ยังนำหน้ากากอนามัยไปแจกจ่าย แนะนำการพักอาศัยแบบเว้นระยะห่างทางสังคมฯ 

ขณะที่ตลอดวันมีคนยากจนและคนไร้บ้านจำนวนมาก เดินทางมาปักหลักรอข้าวปลาอาหารและของแจกจากผู้มีเมตตา แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่เทศกิจกทม.สั่งห้ามการแจกจ่ายสิ่งของบริเวณดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นสถานที่แจกอาหารตามที่ทางกทม.กำหนด แต่ปรากฏว่าก็ยังคงมีคนที่มีน้ำใจยอมฝ่าฝืนคำสั่งห้าม นำเงิน ของ เสื้อผ้า อาหารมาแจกจ่ายอย่างต่อเนื่อง ช่วงแรกบรรยากาศค่อนข้างยื้อแย่งกันชุลมุน แต่สุดท้ายกลุ่มคนยากไร้ได้จัดระเบียบกันเอง และเว้นระยะห่าง ตามหลักการป้องกันโรคโควิด-19

...

นายดวงจันทร์ อรศรี วัย 44 ปี ชาวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เดิมมีอาชีพขับรถแท็กซี่รับส่งคนตามสถานบันเทิงบางวันมีรายได้กว่า 2 พันบาท ต้องมาตกงานเพราะมาตรการป้องกันโควิด-19 ไม่มีเงินค่าเช่ารถและไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน จะกลับบ้านเกิดที่จ.กาฬสินธุ์ ก็ไม่ได้เพราะมีมาตรการปิดเมือง จึงต้องมาซุกหัวนอนอยู่แถวริมถนนในตรอกย่านหัวลำโพงมาเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ ปกติกลางวันจะมารอรับอาหารแจกที่หน้าสวนลุมพินี ประทังชีวิต ส่วนกลางคืนกลับไปนอนที่เดิม วอนขอให้ทางกทม.เปิดโอกาสให้คนที่ใจบุญมาแจกของคนจนหน้าสวนลุมได้ เพราะส่วนใหญ่ไม่สะดวกหากต้องไปรับของแจกในจุดที่กทม.กำหนด เนื่องจากไกล ไม่มีค่ารถ

เช่นเดียวกับนางวิภา (ขอสงวนนามสกุล) วัย 50 ปี ชาวจ.พิจิตร กล่าวว่า เคยทำงานรับจ้างเป็นแม่บ้านประจำบริษัท แต่ถูกเลิกจ้างช่วงเกิดวิกฤติโควิด เมื่อขาดรายได้จึงไม่มีเงินเหลือพอจ่ายค่าเช่าห้องพัก ต้องมาใช้สวนหย่อมย่านหัวลำโพงและสวนลุมฯ เป็นที่ซุกหัวนอน

"ขอให้ทางกทม.อนุญาตให้คนยากไร้และคนไร้บ้านมาพักอยู่บริเวณที่สาธารณะได้ไปก่อน เราดูแลจัดระเบียบกันเองได้ไม่เป็นภาระให้ภาครัฐเพราะทุกคนกลัวติดโรคและกลัวอดตาย ทั้งขอให้อนุญาตให้คนมาแจกจ่ายอาหารได้ตามปกติ ขอวอนสังคม อาจจะมองว่ามีคนจรส่วนหนึ่งนำอาหารที่แจกไปเวียนขายหรือไม่ดิ้นรน แต่ถือเป็นคนส่วนน้อย เพราะคนส่วนใหญ่นั้นเดือดร้อนจริงๆ"