นศ.เรียน-ควบงาน ให้มีสิทธิได้รับด้วย ลดค่าไฟ 22 ล้านครัว เรื่องเลิกล็อกดาวน์ เลขป่วยเพิ่มตํ่าสิบ! ติดกัน 14 วันก็มีหวัง ครม.ไฟเขียวขยายแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน จาก 9 ล้านเป็น 14 ล้านคน ใช้เงินรวม 210,000 ล้านบาท พร้อมเห็นชอบทบทวนคุณสมบัติผู้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ให้รวมถึงเกษตรกร นักเรียน นักศึกษาที่ทำงานพาร์ตไทม์ ที่มาเป็นลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระด้วย “ธนกร” เผย ยื่นทบทวนสิทธิ์ 2 วันยอดทะลุล้าน แนะเตรียมเอกสารให้พร้อม “สนธิรัตน์” แจงลดค่าไฟฟ้าครอบคลุม 22 ล้านครัวเรือน ใช้วงเงินบริหารจาก “กกพ.” 2.3 หมื่นล้านบาท ด้าน กทม.กำชับ 50 เขตเร่งประชาสัมพันธ์ผู้ประสงค์แจกสิ่งของ ให้แจ้งเขตพื้นที่ล่วงหน้า เพื่อความปลอดภัยทั้งผู้แจกผู้รับ หลังเกิดเหตุวุ่นหลายพื้นที่
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการหลายอย่างรับมือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเหมือนหลายประเทศในโลกประสบ เริ่มจากประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.- 30 เม.ย. สั่งปิดสถานที่หลายแห่งที่เป็นแหล่งชุมนุมของประชาชน ก่อนยกระดับประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.63 ขณะเดียวกันยังได้ออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอีกหลายมาตรการ เพราะประชาชนทุกสาขาอาชีพพบวิกฤติกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะลูกจ้างแรงงาน พ่อค้าแม่ขายหาเช้ากินค่ำ ทั้งนี้ มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะครบกำหนดในวันที่ 30 เม.ย.ไปอีก 1 เดือน พร้อมๆกับการวางมาตรการผ่อนปรนปลดล็อกดาวน์บางพื้นที่และบางอาชีพ
...
นายกฯคอนเฟอเรนซ์ถก ครม.
ความคืบหน้าในการดูแลประชาชนทั้งประเทศที่กำลังย่ำแย่จากวิกฤติไวรัสโควิด-19 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เชื่อมสัญญาณไปแต่ละกระทรวง โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุม
ยันไม่ปลดล็อกตามกระแส
กระทั่งเวลา 13.30 น. นายกฯแถลงหลังประชุม ครม.ถึงการผ่อนปรนมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินว่า วันนี้แม้สถานการณ์ดีขึ้น สถิติผู้ติดเชื้อลดลงตามลำดับมาหลายวัน แต่ต้องดูต่อเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนต่อไป อย่าเพิ่งผลีผลาม หลายคนเรียกร้องให้ปลดโน่นปลดนี่ ต้องระมัดระวังอย่างที่สุด ฟังข้อมูลด้านสาธารณสุขและแพทย์ว่ามีมาตรการรองรับเพียงพอหรือไม่ ไม่ต้องการตัดสินใจด้วยแรงกดดันหลายอย่าง แต่อยากให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง ถ้าปลดเร็วเกินไปหากแพร่ระบาดขึ้นอีก สิ่งที่ทำมาด้วยระยะเวลานานล้มเหลวจะทำอย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ
28 เม.ย. ถกเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า จะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่นั้น จะพิจารณาในการประชุม ครม.วันที่ 28 เม.ย. ย้ำว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับความร่วมมือและสถิติจากสาธารณสุขเป็นตัวชี้วัด วันนี้การละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังมีอยู่มาก ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงหรือมีผู้รักษาหายมากขึ้นเกิดจากความร่วมมือของทุกคนไม่ใช่รัฐอย่างเดียว ถ้าประชาชนร่วมมือ การผ่อนปรนก็มากขึ้นในอนาคต สิ่งที่สั่งการไปไม่เคยประกาศว่าจะเลิก ไม่เคยพูด ต้องดูสถิติให้รอบคอบ
ส่งซิกทยอยปลดล็อกห้างร้านเอกชน
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า การผ่อนปรนกับผู้ประกอบการต้องเสนอมาตรการตัวเองด้วยว่าจะทำอย่างไร เช่น การเตรียมสถานที่ เจ้าหน้าที่ต้องปลอดภัย มีการตรวจคัดกรองรัดกุม เว้นระยะห่าง กำหนดจำนวนคน ต้องทยอยเปิดเป็นบางส่วน แต่ยังไม่บอกว่าจะเมื่อไหร่ ท่านต้องเตรียมให้พร้อม ถ้าพิจารณาแล้วไม่เหมาะสมก็ยังไม่ให้เปิด ส่วนการขนส่งสินค้าภาคประชาชนได้รับการร้องเรียนมาอาจยังไม่เข้าใจกัน มอบกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานด้านความมั่นคงดูแลใช้ดุลพินิจเรื่องนี้ ทราบดีทุกคนเดือดร้อน แต่สิ่งที่เดือดร้อนมากกว่านั้นคือด้านสุขภาพ ถ้ามีสูญเสียล้มตายกันมากกว่านี้จะทำอย่างไร สิ่งที่เราทำมาทั้งหมด ถ้าทำอะไรเร็วเกินไปมีแรงกดดันสูง การระดมให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลหรือให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย จะทำให้สิ่งที่ทำมาทั้งหมดสูญเสียเป็นศูนย์ทันที ไม่สามารถเรียกกลับมาได้
...
กทม.คว้าแชมป์ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว
ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า ผลปฏิบัติงานด้านความมั่นคงช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 20 เม.ย. ต่อเนื่องเช้าวันที่ 21 เม.ย. มีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 963 ราย เพิ่มขึ้นจากคืนก่อน 33 ราย ชุมนุมมั่วสุม 65 ราย ลดลงจากคืนก่อน 21 ราย ขอความร่วมมืออย่าออกจากบ้าน ให้ถือว่าเรายังอยู่ในช่วงเผชิญกับวิกฤติโรคระบาด ที่สำคัญขอให้ครอบครัวตักเตือนเพื่อตำรวจจะได้ไม่ต้องเข้าจับกุม ส่วนจังหวัดที่มีฝ่าฝืนมากที่สุด ได้แก่ กทม. ปทุมธานี สมุทรปราการ ภูเก็ต พระนครศรีอยุธยา ระยอง นครราชสีมา ราชบุรี นนทบุรี บุรีรัมย์ จังหวัดที่ไม่มีการกระทำผิด ได้แก่ สิงห์บุรี ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ นครพนม ขณะที่จะมีคนไทยเดินทางกลับวันที่ 21 เม.ย. มาจากไต้หวัน 120 คน และญี่ปุ่น 100 คน คนเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในสถาน กักตัวของรัฐทั้งหมด
ชม รพ.พระมงกุฎจัด พท.รับผู้ป่วย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า มีข่าวดีเรื่องของการจัดสถานที่ในลักษณะของไอซียู ความดันลบ ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัทไดโจเด็นกิ ปรับปรุงอาคารอายุ 37 ปี ที่สภาพยังใช้งานได้อยู่ มาเป็นห้องความดันลบ รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการไม่หนักมาก และสามารถอยู่รวมกันได้จำนวนมากแห่งแรกของไทย มีระบบอากาศถ่ายเท
ย้ำยังขอ ปชช.ทำงานอยู่บ้าน
เมื่อถามว่า วันนี้การจราจรใน กทม.เริ่มติดขัด สะท้อนได้หรือไม่ว่าคนเริ่มออกมาทำงาน ไม่ได้ทำงานอยู่บ้านแล้ว นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เรายังอยู่ในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังรณรงค์ให้ลดการเดินทาง วันนี้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ต่ำกว่า 20 ราย เพราะคนไทยร่วมมือกัน หลายคนเบาใจได้ แต่วางใจยัง ไม่ได้ เพราะมีตัวอย่างสิงคโปร์ ถ้าเราคุมได้ไม่ดีตัวเลขจะยกกำลังขึ้นมา ต้องขอความร่วมมือเอกชนถ้าสามารถสั่งทำงานที่บ้านได้ก็ให้ทำ ยังยืนยันมาตรการนี้อยู่ เมื่อถามว่า ประเทศเพื่อนบ้านมีผู้ป่วยรายใหม่สูงขึ้นระลอกใหม่ ไทยจะป้องกันการระบาดระลอกใหม่อย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ต้องตัดสินใจอย่างที่นายกฯบอกในที่ประชุม ศบค.เรื่องการติดเชื้อเกิดขึ้น และเราคุมได้ดีเป็นเรื่องหนึ่ง การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิวมีส่วนช่วย แต่การจะผ่อนปรนหรือยกเลิกต้องเรียนรู้จากประเทศต่างๆ เช่น ที่อังกฤษ แม้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่จะต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ แต่รัฐบาลยังไม่มีท่าทีผ่อน คลายล็อกดาวน์
...
ผ่อนปรนล็อกดาวน์ต้องยึด 3 ข้อ
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ตรงข้ามกับสหรัฐอเมริกาที่ตัวเลขยังพุ่งสูงอยู่ แต่ประชาชนหลายพื้นที่เรียกร้องให้ผ่อนปรนการล็อกดาวน์ หลายประเทศใช้แตกต่างกัน ส่วนของไทยอธิบดีกรมควบคุมโรคแจ้งให้ที่ประชุมวงเล็กเข้าใจว่า 1.การผ่อนปรนไม่ใช่การเลิก 2.การผ่อนปรนต้องควบคู่ไปกับการป้องกันและควบคุมโรค 3.มีจุดจัดการปฏิบัติการด้านต่างๆ ที่เราประสบความสำเร็จ คือ ระดับจังหวัด และประชาชนในจังหวัดให้ความร่วมมือ เป็นหลักการ 3 ข้อ แน่นอนไม่ได้มีการยกเลิก แต่การผ่อนปรนจะเกิดขึ้นที่จังหวัดไหน เวลาไหน ขึ้นอยู่กับสถิติเหมือนที่นายกฯระบุ
ต้องต่ำ 10 ให้ได้อย่างน้อย 14 วัน
โฆษก ศบค.กล่าวต่อไปว่า ประชาชนจังหวัดไหนต้องการอิสระเสรีขึ้นอยู่กับความร่วมมือของท่าน ใครทำกรรมดีไว้ก็ส่งผลดีให้ได้ ถ้าร่วมมือดี จะทำให้มีพื้นที่ทำอะไรได้มากขึ้นในระยะเวลาอันสั้นรัฐบาลไทย และ ศบค.คงตัดสินโดยใช้ข้อมูลสถิติจากนักวิชาการ ภาคธุรกิจ ช่วยกันคิดและหาทางออก เรื่องสุขภาพก็สำคัญ ปากท้องก็สำคัญ จะไล่เรียงลำดับขึ้นมา ชีวิตต้องอยู่ได้ก่อน จากนั้นเศรษฐกิจและสังคมจะได้ตามมา ยึดหลักการแบบนี้เราถึงมีวันนี้ และขอประชาชนว่าเราอยู่ในตัวเลขสองหลัก เราต้องช่วยกันต่ำสิบให้ได้อย่างน้อย 14 วัน เราจะได้เห็นหน้าเห็นหลังสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร เราอาจเป็นประเทศแรกของโลกที่ซีลประเทศได้เป็นอย่างดี ถ้าตัวเลขต่ำสิบ เราต้องมีพฤติกรรมแบบใหม่ที่เป็นปกติ คือสวมหน้ากากอนามัยร้อยเปอร์เซ็นต์
...
ขบ.–บขส.ขานรับปลดล็อก 32 จว.
ส่วนกรณีหลังจากที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ออกมาเปิดเผยว่ามีสัญญาณที่ดีในพื้นที่ 32 จังหวัด ไม่มี ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มใหม่ในช่วง 14 วัน อาจนำไปสู่การปลดล็อกทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องนี้นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เผยว่า หากมีประกาศปลดล็อกของ ศบค.ออกมา พร้อมรับไม้ต่อโดยออกประกาศยกเลิกปิดเส้นทางของรถหมวด 3 (วิ่งระหว่างจังหวัด) ส่วนรถสาธารณะที่วิ่งอยู่ในจังหวัดเป็นอำนาจ ผวจ.ประกาศให้กลับมาเดินรถได้ตามปกติ ด้านนายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. ระบุหากประกาศปลดล็อกออกมาชัดเจน บขส.จะพิจารณาเป็นรายจังหวัด
รฟท.–จท.–กพท.เตรียมพร้อม
ขณะที่นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ขณะนี้รอฟังนโยบายจากกระทรวงคมนาคม ในส่วนของ รฟท.ต้องประเมินสถานการณ์ ค่อยๆเปิดเส้นทางในจังหวัดที่ไม่มีความเสี่ยงและรอดูเงื่อนไข ด้านนายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลเตรียมผ่อนคลายมาตรการ หรือแผนเปิดเมืองในวันที่ 1 พ.ค. ในส่วน ของกรมเจ้าท่าที่ดูแลการเดินเรือทั้งประเทศ มีความพร้อมที่จะปฏิบัติตาม เช่นเดียวกับนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า หากวันที่ 1 พ.ค. มีการปลดล็อกแล้ว ผู้ประกอบการสายการบินน่าจะทยอยเปิดทำการบินในเส้นทางที่มีความพร้อม ทั้งนี้ ทราบว่าหลายสายการบินมีแผนที่จะกลับมาทำการบินแล้ว ส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศ ที่ในขณะนี้ยังถูกระงับตามนโยบายของ ศบค. คงต้องติดตามสถานการณ์ไปอีกระยะหนึ่ง
ครม.เพิ่มเยียวยา 5 พัน เป็น 14 ล.คน
ในส่วนของมาตรการเยียวยาประชาชนและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบในหลักการการขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิของมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ได้รับผลกระทบจากเดิม 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน เนื่องจากพบว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมีมากกว่าที่ได้ประมาณการไว้ โดยตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.-16 เม.ย.2563 เวลา 20.00 น. มีผู้ลงทะเบียน 27.76 ล้านคน และมีการร้องเรียนว่า ผู้ได้รับผลกระทบบางส่วนมีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือนักเรียน นักศึกษา แต่ประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก
ลูกจ้างแรงงาน นศ.พาร์ตไทม์ได้เฮ
นางนฤมลกล่าวต่อว่า เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ครม.เห็นชอบทบทวนให้ผู้ได้รับผลกระทบบางส่วนมีรายชื่อปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก ได้รับสิทธิตามมาตรการด้วย อย่างไรก็ตาม หากผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มดังกล่าวได้รับสิทธิตามมาตรการแล้ว จะไม่สามารถขอรับความช่วยเหลือจากมาตรการใดๆของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) อีกต่อไป มติ ครม.ครั้งนี้ให้รวมไปถึงผู้ได้รับผลกระทบที่ปรากฏชื่ออยู่ในฐานข้อมูลนักเรียนนักศึกษา แต่เป็นนักเรียนนักศึกษาไม่เต็มเวลา ประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือ ประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก ให้ได้รับสิทธิตามมาตรการนี้ด้วย มีรายงานว่า สำหรับกลุ่มอาชีพที่ผ่านเกณฑ์คัดกรองและได้รับเงินลำดับแรกๆ มี 4 อาชีพ ได้แก่ 1.ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล 2.มัคคุเทศก์ 3.มอเตอร์ไซค์ 4.ผู้ขับรถแท็กซี่ เนื่องจากมีฐานข้อมูลในระบบจากการเข้าร่วมมาตรการของรัฐ
เพิ่มงบจาก 135,000 ล. เป็น 210,000 ล.
ส่วน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ขยายจำนวนผู้รับเงินชดเชยเยียวยาจากรัฐบาล เดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน จากเดิมอนุมัติไว้ 9 ล้านคน ขยายเป็น 14 ล้านคน เนื่องจากจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบที่มาลงทะเบียนมีเป็นจำนวนมาก และเมื่อตรวจสอบสิทธิ์ตามที่ได้อุทธรณ์เข้ามาพบว่ามีจำนวนที่เพิ่มกว่าเป้าหมายเดิมอย่างมาก
ขอขยายจำนวนคนที่เข้าโครงการซึ่งจะได้รับเงินจากภาครัฐทำให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 135,000 ล้านบาท เป็น 210,000 ล้านบาท เงินในส่วนนี้จะใช้จ่ายงบประมาณฯ จากทั้งเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท รวมทั้งใช้เงินจากการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563
ยื่นทบทวนสิทธิ์ 2 วันยอดทะลุล้าน
ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท ว่า กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการยื่นทบทวนสิทธิ์เป็นวันที่ 2 ล่าสุดมีประชาชนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ยื่นขอทบทวนมากกว่า 1 ล้านคนแล้ว โดย เจ้าหน้าที่เครือข่ายคลังจังหวัดกับทางจังหวัด เตรียมจะลงพื้นที่จริงเพื่อยืนยันตัวตนและการประกอบอาชีพตามที่ลงทะเบียนไว้ ในวันที่ 23 เม.ย. เพื่อความรวดเร็วขอให้ประชาชนที่ยื่นทบทวนสิทธิ์เตรียมเอกสารให้พร้อมด้วย อาทิ ภาพผู้ทบทวนสิทธิ์ บัตรประชาชน และรูปถ่ายที่ยืนยันการประกอบอาชีพจริง หรือบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่า เมื่อทบทวนสิทธิ์ผ่านจะได้รับเงินเยียวยาทันทีเป็นเวลา 3 เดือน
คุณสมบัติผ่านเกณฑ์ยืนยันได้หมด
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า มาตรการเยียวยา 5,000 บาท ที่มีผู้ลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com จำนวน 28 ล้านคน รอบแรกคนที่ผ่านเกณฑ์มี 4.2 ล้านคน ไม่ได้หมายความว่า ตัวเลขจะหยุดอยู่แค่นี้ที่เหลือตกหมด เพราะยังมีกลุ่มที่ขอข้อมูลเพิ่มเติมอีก 6.3 ล้านคนภายในสัปดาห์นี้ คาดว่าเมื่อผลพิจารณาแล้วเสร็จ จะมีคนผ่านเกณฑ์เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลไม่มีเป้าหมายและข้อจำกัดว่าตัวเลขสุดท้ายของกลุ่มผ่านเกณฑ์จะต้องเป็นเท่าไหร่ ถ้าเป็นผู้มีคุณสมบัติ ผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้รัฐบาลพร้อมจะเยียวยาครบทุกคน เพราะต้องการอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้มากที่สุด
ลดภาระค่าไฟใช้วงเงิน 2.3 หมื่น ล.
ส่วนมาตรการลดค่าไฟฟ้านั้น นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ครม.ได้รับทราบการพิจารณามาตรการเยียวยาการลดภาระค่าไฟฟ้าให้แก่ภาคครัวเรือน ระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค.นี้ว่า การบริหารจัดการค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ช่วงการระบาดไวรัสโควิด-19 ในส่วนของภาคครัวเรือนรวม 22 ล้านครัวเรือนจะใช้วงเงิน 23,688 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มาบริหาร จากวงเงินที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำกับดูแล ที่มาจาก 3 การไฟฟ้า คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
เรียกเงินคืนจาก 3 การไฟฟ้า
เช่นเดียวกับนางอรรชกา สีบุญเรือง กรรมการ กำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ.จะเร่งพิจารณาในเรื่องดังกล่าวโดยเร็วที่สุด โดยจะใช้วงเงินบริหารจัดการเป็นเงินที่มาจากการเรียกเงินคืนจาก 3 การไฟฟ้าในงบประมาณที่ยังไม่มีการลงทุนตามแผน (CALL BACK) ที่ขณะนี้มีวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท กกพ.จะหารือกับ 3 การไฟฟ้า ว่าจะลดการลงทุนในโครงการใดได้อีกหรือไม่เพื่อนำเงินมาสะสมไว้ใช้ในโครงการลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนดังกล่าว มีรายงานว่า ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะหารือกับกระทรวงพลังงานในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมทั้งจะร่วมประชุมคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานอีกด้วย ซึ่งจะเน้นให้กองทุนนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
กฟภ.ยืนยันบริการมีคุณภาพ
แหล่งข่าวระดับสูงจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ยืนยันว่า กฟภ.มีมาตรฐานในการจดหน่วยไฟฟ้าที่ใช้จริงสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า ภายใต้มาตรฐานคุณภาพการบริการที่กำหนด เพื่อออกใบแจ้งค่าไฟฟ้า มีพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจาก กฟภ.เป็นผู้จดหน่วยการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าจากมิเตอร์ ไฟฟ้า หากมีความผิดพลาดจากการจดหน่วยการใช้ไฟฟ้า กฟภ.จะแจ้งให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทราบภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่พบความผิดพลาด และจะคืนเงินส่วนต่างให้ผู้ใช้ไฟฟ้าภายใน 30 วันนับแต่วันที่แจ้ง ส่วนกรณีที่จำนวนหน่วยต่อเดือนของผู้ใช้ไฟฟ้าบางราย เพิ่มขึ้นมากต้องไปดูข้อเท็จจริงว่าเกิดจากสาเหตุใด หากเกิดความผิดปกติจากมิเตอร์ไฟฟ้าจะชดเชยให้ ทั้งนี้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 1129 หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ใช้บริการ
แจงช่วยเกษตรกรครัวละ 1.5 หมื่น
อีกด้านหนึ่งที่กรมส่งเสริมการเกษตร นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวออกไปสู่ประชาชน ว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร 9 ล้านครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครอบครัวละ 15,000 บาท ทำให้เกิดข่าวสารที่ไม่ดีกระทบกับ กสก. ขอแจ้งข้อเท็จจริงว่า กรมได้รับมอบหมายให้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรเฉพาะพืชเท่านั้น ทั้งยังยกเว้นผู้ปลูกยางพารา อ้อย และยาสูบ ส่วนสัตว์น้ำ ขึ้นกับกรมประมง และเลี้ยงสัตว์ขึ้นอยู่กับกรมปศุสัตว์ ไม่เกี่ยวข้องกัน ช่วงนี้เกิดกระแสอยากขึ้นทะเบียนเกษตรกรกันเป็นจำนวนมาก บางรายมีที่ดิน 1 ไร่ ปลูกทุเรียน 1 ต้นจะมาขึ้นทะเบียน ไม่ดำเนินการให้แน่ เพราะตามระบบปลูกทุเรียน 1 ไร่จะต้องมี 20 ต้น ปลูกไม้ดอกจะต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 1 งาน และทุกราย
ต้องกรอกเอกสาร 3 แผ่น 9 หมวดให้ถูกต้องอีกด้วย
เกษตรกรตัวจริงไม่ต้องกังวล
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) ชี้แจงอีกว่า เกษตรกรตัวจริงไม่ต้องเป็นห่วง ท่านได้รับการช่วยเหลือแน่นอนเพราะนอกจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว ในแต่ละปีช่วงฤดูการเพาะปลูกราวเดือนพฤษภาคม เกษตรกรทุกรายจะต้องมาปรับปรุงข้อมูลทุกปีว่าจะปลูกพืชอะไร ส่วนที่มีข่าวออกไปว่า ขับแท็กซี่ หรือทำอาชีพอื่นๆ ขอรับเงิน 5,000 บาท แต่ไม่ได้เงินเพราะมีชื่อเป็นเกษตรกร จุดนี้ต้องถามทางครอบครัวก่อนว่า มีใครเอาชื่อไปขึ้นทะเบียนหรือไม่ และขึ้นไว้กับหน่วยงานไหน ส่วนของกรมฯทุกๆ 3 ปี หากเกษตรกรรายใดไม่มาแจ้งว่าจะปลูกพืชอะไร หรือไม่เคยปรับปรุงข้อมูลใดๆ เดือน มิ.ย.นี้ จะคัดชื่อและลบออกจากระบบทะเบียนเกษตรกรเพื่อความ ชัดเจน แต่ในทะเบียนเกษตรกรที่กระทรวงการคลังนำไปใช้นั้น ไม่ใช่แค่ของกรมฯ ยังมีของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) อีกด้วย
“ธนาธร” พาชม รง.ผลิตอุปกรณ์แพทย์
อีกด้านหนึ่ง เมื่อช่วงสายวันเดียวกันที่บริษัท จรูญรัตน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ย่านบางนา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อมอบแก่โรงพยาบาลที่แสดงความประสงค์ต้องการใช้อุปกรณ์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 2 รายการ คือ เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ และห้องตรวจโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน
เผย 3 บ. เอกชนร่วมสนับสนุน
นายธนาธรกล่าวว่า ได้รับการติดต่อจากศิษย์เก่าวิศวกร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำงานกับคณะแพทย์ ให้ร่วมผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เนื่องจากเห็นว่าตนมีศักยภาพในการผลิต ได้ใช้ข้อมูลจากเพจ Open Source Covid Thailand และคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่เปิดให้สาธารณะผลิตและออกแบบ โดยร่วมกับ 3 บริษัทเอกชนที่ร่วมสนับสนุนในการผลิตได้แก่ บริษัท จรูญรัตน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด และกลุ่มบริษัท โอ.อี.ไอ พาร์ท จำกัด เบื้องต้นมี รพ. 12 แห่งทั่วประเทศแสดงความประสงค์ขอรับอุปกรณ์ดังกล่าว แบ่งเป็นเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ 18 ชุด ห้องตรวจโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน 11 ชุด ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อช่วยรับมือการแพร่ระบาดและอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรด้านสาธารณสุข ให้การทำงานมีประสิทธิภาพเป็นขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องสัมผัสกับผู้ป่วย
เตรียมมอบให้ 12 รพ.ทั่วประเทศ
นายธนาธรกล่าวอีกว่า วิกฤติครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของภาคเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร หลังควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้แล้ว อุปกรณ์เหล่านี้ยังสามารถรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้ออื่นๆได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยวัณโรค ภายในวันที่ 24-26 เม.ย. จะส่งมอบอุปกรณ์ดังกล่าวให้โรงพยาบาลยะลา และโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี เป็น 2 โรงพยาบาลแรก เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องการอุปกรณ์ทางแพทย์ เพราะมีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก ส่วนโรงพยาบาลอื่นจะทยอยส่งมอบในวันที่ 2-3 พ.ค. สำหรับ 12 โรงพยาบาลที่ร่วมโครงการประกอบด้วย โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลสันทราย จ.เชียงใหม่ โรงพยาบาลสนามศูนย์โควิด 19 จ.เชียงใหม่ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลสนาม ม.สงขลา วิทยาเขตภูเก็ต โรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลยะรัง จ.ปัตตานี โรงพยาบาลสงขลา โรงพยาบาลคลองหอยโข่ง จ.สงขลา และโรงพยาบาลกงหรา จ.พัทลุง
สั่ง 50 เขต ปชส.คนใจบุญก่อนแจก
ส่วนที่ศาลาว่าการ กทม. เวลา 13.30 น. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 28/2563 ได้มอบหมายให้ 50 สำนักงานเขต เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประสงค์ตั้งโรงทานแจกอาหารหรือสิ่งของ ประสานเขตล่วงหน้าก่อนดำเนินการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปบริหารจัดการการรับสิ่งของให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้อง เหมาะสม และปลอดภัยทั้งผู้แจกและผู้รับ โดยให้ผู้แจกสิ่งของใช้พื้นที่ที่กรุงเทพมหานครกำหนดไว้ 71 จุด หากประสงค์จะแจกอาหารหรือสิ่งของนอกจุดที่กำหนดต้องแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่ล่วงหน้าทุกครั้ง สำหรับผู้มารับสิ่งของขอให้นำภาชนะบรรจุอาหารมาเอง เพื่อช่วยลดปริมาณขยะ
เข้มสุขอนามัยตลาด–ตลาดนัด
ด้านนางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. มีหนังสือด่วนที่สุด กำชับ 50 สำนักงานเขต ตรวจตรา ดูแลกวดขันตลาดและตลาดนัดในพื้นที่ให้ถือปฏิบัติตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 27 มีนาคม2563 โดยเคร่งครัด พร้อมประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือตลาดและตลาดนัดให้ดำเนินการตามคำแนะนำด้านสุขอนามัยสำหรับตลาด ดังนี้ 1.จัดให้มีจุดคัดกรองบริเวณทางเข้าตลาด 2.จัดให้มีที่ล้างมือ น้ำ และสบู่ล้างมือ หรือเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการตามจุดต่างๆ ในตลาด 3.ให้ผู้ขายของและผู้มาใช้บริการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกคน 4.จัดแผงค้าให้มีระยะห่างระหว่างผู้ค้าอย่างน้อย 2 เมตร และ 5.จัดให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลในการเลือกซื้อสินค้าอย่างน้อย 1-2 เมตร
บก.น.9 แจงคลิปวุ่นหน้าซีคอน
ก่อนนี้เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 20 เม.ย. พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ ผบก.น.9 ทำหนังสือชี้แจงต่อผู้บังคับบัญชากองบัญชาการตำรวจนครบาล กรณีที่มีภาพประชาชนจำนวนมากไปรวมตัวรอรับสิ่งของบริจาคหน้าห้างสรรพสินค้าซีคอน บางแค ถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กทม. ปรากฏในสื่อออนไลน์ ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยกังวลว่า อาจเป็นเหตุทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 โดยหนังสือชี้แจงระบุว่า เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 20 เม.ย. บก.น.9 ร่วมกับกลุ่มเบญจสัมพันธ์ อนุ กต.ตร.บก.น.9 กต.ตร.สน.ภาษีเจริญ ผอ.รพ.บางปะกอก 9 และผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันแจกสิ่งของให้กับประชาชนบริเวณดังกล่าว โดยมี ผอ.เขตภาษีเจริญ เข้าร่วมจัดระเบียบ และจัดจุดคัดกรอง
เหตุแจกเงินคนเลยแห่มาล้น
รายงานจาก ผบก.น.9 ระบุต่อว่า มีเจ้าหน้าที่ รพ.บางปะกอก 9 ร่วมกับจิตอาสา ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ล้างมือประชาชนก่อนรับมอบสิ่งของ ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตภาษีเจริญจัดพื้นที่พักคอยก่อนรับมอบสิ่งของ จัดระเบียบประชาชน ให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 1 เมตร และประชาสัมพันธ์ประชาชนให้ถือปฏิบัติตามหลักป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเดิมมีเพียงการแจกข้าวกล่อง หน้ากากอนามัยแบบผ้า และน้ำดื่ม เพื่อให้พี่น้องประชาชนรับกลับไปทานกันที่บ้าน แต่ภายหลังมีภาคเอกชนทราบว่าทางราชการมีการมอบสิ่งของให้กับประชาชน ได้มาขอร่วมมอบธนบัตรแจกให้ประชาชนคนละ 100 บาท ทำให้มีประชาชนบอกต่อและหลั่งไหลมาเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่เจ้าหน้าที่จัดระเบียบไว้ ตามภาพที่ปรากฏในสื่อออนไลน์
ภูเก็ตเอาผิดคนแจกของทำวุ่น
เช่นเดียวกับที่ จ.ภูเก็ต พ.ต.อ.ธีรวัฒน์ เลี่ยมสุวรรณ ผกก.สภ.เมืองภูเก็ต กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อช่วงเย็นวันที่ 20 เม.ย. มีกลุ่มหนุ่มสาววัยรุ่นภูเก็ตรวมตัวกันบริจาคเงินจัดซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคมาแจกจ่ายชาวบ้านใกล้วงเวียนหอนาฬิกา ต.ตลาดใหญ่ มีชาวบ้านมารับของแจกเบียดเสียดเข้าคิวต่อแถวยาวโดยไม่รักษาระยะห่างว่า การแจกของให้ผู้เดือดร้อนเป็นเรื่องดี สมควรให้การสนับสนุน แต่กรณีดังกล่าวเสี่ยงกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้ที่นำสิ่งของมาแจกไม่ได้ประสานหรือแจ้งความประสงค์มายัง สภ.เมืองภูเก็ต หรือฝ่ายปกครอง ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้เรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว 1 คน คุมตัวส่งฟ้องต่อศาลทันที อยากฝากถึงผู้ใจบุญสามารถแจกของให้ชาวบ้านได้โดยไม่ผิดกฎหมายต่อเมื่อได้ประสานมายังตำรวจหรือฝ่ายปกครองในพื้นที่เพื่อจะได้จัดกำลังไปดูแลการเว้นระยะห่างป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งนี้ พล.ต.ต. รุ่งโรจน์ ฐากูรปุณยสิริ ผบก.ภ.จ.ภูเก็ต เล็งเห็นถึงความสำคัญและความมีน้ำใจของชาวภูเก็ต สั่งให้ใช้พื้นที่ลานหน้า บก.ภ.จ.ภูเก็ต เป็นสถานที่กลางในการแจกของในเขตเมือง นำร่องพื้นที่จัดระเบียบเว้นระยะห่าง ผู้มีจิตกุศลสามารถแจ้งมาได้ ผบก.ภ.จ.ภูเก็ต จะจัดกำลังตำรวจไปจัดระเบียบให้
พ่อค้าหวยเผาลอตเตอรี่ประชด
ส่วนที่ จ.เลย มีผู้ค้าลอตเตอรี่ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “พรทิพย์ ชื่นชม” แชร์คลิปวิดีโอเผาสลากกินแบ่งรัฐบาล เพราะสุดทนลงทุนไปซื้อลอตเตอรี่มาก็ขายไม่ได้แถมยังเลื่อนออกรางวัลไปอีก ลงทะเบียนเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกันก็ไม่ได้เงิน บอกว่าเป็นเกษตรกร ทั้งที่มีอาชีพขายลอตเตอรี่ เลยเอาลอตเตอรี่กว่า 300 ใบมูลค่ากว่า 3 หมื่นบาทมาจุดไฟเผาทิ้งประชดชีวิต ผู้สื่อข่าวสอบถามนายพรทิพย์ ชื่นชม อายุ 46 ปี เจ้าของเฟซบุ๊กเผยว่า ทั้งครอบครัวลูกสาวและลูกเขยมีอาชีพขายลอตเตอรี่มานานกว่า 4 ปี ลงทุนไปซื้อลอตเตอรี่งวดวันที่ 1 เม.ย.63 มาขาย แต่มีการเลื่อนออกรางวัลไปทำให้ขายไม่ได้ เงินที่ไปกู้นายทุนมาต้องจ่ายดอกเบี้ย เงินก็จมหาย ลงทะเบียน 5,000 บาทไม่ได้เงิน ออกไปขายลอตเตอรี่นอกพื้นที่ 4 วัน ขายได้แค่ 2 ใบ เกิดความเครียดเอาลอตเตอรี่ทั้งหมดที่เหลือกว่า 300 ใบมาราดน้ำมันจุดไฟเผาทิ้ง ทุกวันนี้ต้องออกไปจับปลาในหนองน้ำมากินประทังชีวิต วันนี้ได้ปลาช่อนมาตัวเดียว ที่บ้านไม่มีอะไรขายหรือจำนำแล้ว ขอวิงวอนให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วย
แตงโมราคาตกเหลือโลละ 3 บาท
ความยากลำบากข้นแค้นเพราะผลกระทบโควิด-19 ขยายไปทุกพื้นที่ โดยที่ไร่แตงโมรุ่งเรืองทรัพย์ บ้านห้วยคล้า หมู่ 9 ต.สามเรือน อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย น.ส.วิรัชยาภรณ์ นิลนนท์ อายุ 40 ปี หลานสาวเจ้าของไร่ ได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “หญิงแกร่งหัวใจเหล็ก” เชิญชวนพ่อค้าแม่ค้าและประชาชนทั่วไปมาช่วยกันซื้อแตงโม ราคาหน้าไร่ตกต่ำเหลือเพียง กก.ละ 3 บาท น.ส.วิรัชยาภรณ์เล่าว่า ทุกปีช่วงต้นเดือน เม.ย.จะเก็บผลผลิตแตงโมที่ปลูกอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ออกสู่ตลาดในราคา กก.ละ 6-8 บาท แต่ปีนี้ต้องเผชิญวิกฤติโควิดทำให้แตงโมที่เก็บผลผลิตได้แล้วประมาณ 20 ตัน ไม่มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อ ต้องวางเป็นกองพะเนินอยู่ที่ไร่ หากทิ้งไว้ต้องขาดทุนย่อยยับ ตัดสินใจไลฟ์สดชวนคนมาซื้อราคาเพียง กก.ละ 3 บาท เพื่อเอาค่าปุ๋ยกับค่าแรงคนงานคืน ปรากฏว่าเพียงชั่วข้ามคืนออเดอร์กลับถล่มทลาย มีพ่อค้าแม่ค้าประชาชนติดต่อสั่งจองเข้ามาจนลอตแรกหมดเกลี้ยง ขณะนี้แตงโมรุ่นที่สองอีก 70 ตัน เริ่มให้คนงานเก็บมาวางขายกันแล้วในราคา กก.ละ 3 บาทเหมือนเดิม
“นิพิฏฐ์” อัดแหลก ผวจ.ตรัง
วันเดียวกัน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รอง หน.พรรค ปชป.และอดีต ส.ส.พัทลุง เผยว่า ได้ทำหนังสือถึงนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ขอให้กำชับ ผวจ.ทุกๆจังหวัดใช้ดุลพินิจปฏิบัติตามมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด-19 ภายใต้กฎหมาย อย่าทำตัวเป็นนักกฎหมายเสียเอง พร้อมกล่าวถึงสาเหตุว่า ได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกรใน จ.พัทลุง ไม่สามารถนำผลผลิตขนส่งผ่านพื้นที่ จ.ตรัง เพื่อส่งให้ลูกค้าได้ ทำให้เดือดร้อนอย่างหนัก เมื่อวันที่ 18 เม.ย. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตเครื่องแกงใช้รถบรรทุก 2 คัน ขนเครื่องแกงไปส่งลูกค้าในตลาด จ.กระบี่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต ทาง จ.ตรัง ไม่ยอมให้ผ่านจุดตรวจบนเขาพับผ้า ต้องอ้อมไปทาง จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี ระยะทางกว่า 300 กม. แต่อีกคันได้ร้องเรียนปลัดกระทรวงมหาดไทย สามารถผ่านได้ วันที่ 20 เม.ย. พ่อค้าบรรทุกมะละกอจะไปส่งในตลาด จ.ตรัง แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้ผ่าน ต้องเททิ้งทั้งหมด ล่าสุดพ่อค้าขนข้าวเปลือกไปส่ง จ.กระบี่ ทาง จ.ตรัง ไม่ให้ผ่าน ต้องอ้อมไปทาง อ.ทุ่งสง เรื่องที่เกิดขึ้นนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้โทรศัพท์พูดคุยกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แล้วเช่นกัน
พ่อเมืองตรังยันมาตรการคุมเข้ม
ขณะที่นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผวจ.ตรัง ออกหนังสือที่ ตง 00181.1/ว2071 เรื่องแนวทางการปฏิบัติงานของพนักงานควบคุมโรคติดต่อถึงนายอำเภอทุกอำเภอ และ ผบก.ภ.จ.ตรัง อ้างถึงคำสั่งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงที่ 9/2563 ยึดตามแนวทางปฏิบัติตามคำสั่งจังหวัดตรัง ที่ 1063 ลงวันที่ 8 เม.ย.2563 ประกอบกับมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตรัง ครั้งที่ 7/2563 ลงวันที่ 20 เม.ย.2563 มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ข้อ 1 ปิดช่องทางเข้าออกในพื้นที่ จ.ตรัง ยกเว้นบุคคลดังต่อไปนี้ที่สามารถเข้าพื้นที่ได้ อยู่ภายใต้เงื่อนไขดังนี้ ตามประกาศข้อที่ 2 (2.3) การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ข้อที่ (2.4) การขนส่งผลผลิตการเกษตรนั้น ต้องมีเอกสารรับรองจากทางบริษัท หรือเกษตรกรเจ้าของผลผลิตโดยระบุรายละเอียดที่จำเป็น ได้แก่ ผู้ขับขี่ผู้ร่วมเดินทางหรือพนักงานประจำรถชนิดและรายการสินค้า เส้นทางและตำบลเดินทาง พร้อมแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอย่างอื่น และยึดแนวทางปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่จุดตรวจ ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร หรือหนังสือรับรองกับแนบบัตรประจำตัวประชาชน ตามข้อ 2 และผ่านการคัดกรองตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด จากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างจังหวัดพัทลุงกับจังหวัดตรังนี้ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า จะเกิดศึกแบบน้ำผึ้งหยดเดียวในตำนาน
พณ.จับเพิ่มคดีโก่งราคาแมสก์
ด้านนายสุพพัต อ่องแสงคุณ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และหัวหน้าฝ่ายสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ ศูนย์ปฏิบัติการด้านการควบคุมสินค้า (ศปส.) เปิดเผยผลการจับกุมการกักตุน จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและเวชภัณฑ์เกินราคาควบคุม จนถึงวันที่ 20 เม.ย.ว่า พณ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จับกุมผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 กรณีหน้ากากอนามัยเพิ่มอีก 3 คดี แบ่งเป็นใน กทม. 1 คดี ที่ จ.ขอนแก่น และ จ.ราชบุรี อย่างละ 1 คดี ส่งผลให้ยอดรวมจับกุมผู้กระทำความผิดรวม 369 ราย แยกเป็น กทม. 169 ราย และต่างจังหวัด 200 ราย ประชาสัมพันธ์หากประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าและบริการ สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือศูนย์ดำรงธรรมทุกพื้นที่
ให้แรงงานต่างด้าวอยู่ต่อถึง 31 ก.ค.
วันเดียวกัน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ หลังจากมีประกาศดังกล่าวให้สิ้นสุดลงในวันที่ 30 เม.ย. แต่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย หากไม่ขยายระยะเวลาเพิ่มเติมต่อไปอีก จะทำให้คนต่างด้าวจำนวนมากต้องเดินทางมาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเพื่อดำเนินการขออยู่ในราชอาณาจักร จนอาจส่งผลให้เกิดความแออัดเบียดเสียดใกล้ชิดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในวงกว้าง ให้ขยายระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-31 ก.ค.