อธิบดีกรมการแพทย์ ไขข้อสงสัยกรณีหญิงชัยภูมิ ตรวจพบโควิด-19 รอบที่สอง หลังจากรักษาหายแล้ว สันนิษฐานเป็นซากไวรัสที่ตายแล้ว

วันที่ 9 เมษายน 2563 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ตอบคำถามกรณีผู้ป่วยหญิงอายุ 38 ปี ที่ชัยภูมิ ตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 รอบที่ 2 ในเวลาใกล้เคียงกัน ว่า โควิด-19 เป็นโรคค่อนข้างใหม่ เพราะเกิดขึ้นมาเพียง 3-4 เดือน โดยเคยมีรายงานการป่วยซ้ำในต่างประเทศ

แต่กรณีผู้ป่วยไทยรายนี้จากประวัติทั้งรักษาโรงพยาบาลเอกชนใน กทม. และโรงพยาบาลหนองบัวแดง เคสนี้เริ่มป่วยที่ กทม. โรงพยาบาลเอกชนตรวจพบพบเชื้อโควิด-19 จริง มาด้วยอาการไม่มาก เหมือนผู้ป่วย 80% ทั่วไป คืออาการเหมือนไข้หวัด ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งนี้จนครบ 14 วัน แพทย์จึงให้กลับบ้านและแนะนำให้แยกตัวที่บ้าน และคนไข้ปฏิบัติตัวดีมาก หลังจากนั้นรู้สึกไม่สบายนิดหน่อยราววันที่ 3-4 เม.ย. ครั่นเนื้อครั่นตัว มีน้ำมูกนิดหน่อย จึงไปที่โรงพยาบาลหนองบัวแดง เมื่อเห็นว่าเคยมีประวัติป่วย จึงตรวจอีกครั้งและพบว่าเจอเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีไข้ เอกซเรย์ปอดปกติ

ส่วนคำถามที่ว่าเป็นการติดเชื้อซ้ำได้หรือไม่ เป็นได้ 2 แนวทาง คือ แนวทางแรก คนไข้รายนี้ติดเชื้อซ้ำ แต่จากการดูประวัติออกจากโรงพยาบาลไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะอาการปกติ ขับรถกลับบ้านที่ชัยภูมิ ซึ่งจากประวัติน่าจะเข้าแนวทางที่สอง คือ คนไข้ไม่ได้ป่วยใหม่ แต่บอกว่ารู้สึกเหนื่อยๆ หายใจเหนื่อยก็เลยมาโรงพยาบาล ซึ่งอัตราการหายใจแรกรับและตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาลเป็นปกติ ไม่มีไข้เลย มีน้ำมูกนิดหน่อย ตรวจแล็บนอกจากโควิด-19 พบว่าทุกอย่างปกติยกเว้นเม็ดเลือดขาวมากขึ้น บ่งชี้ว่าอาจจะเป็นการติดเชื้อที่เป็นแบคทีเรีย

“เฉพาะรายนี้ น่าจะไม่ได้เป็นการติดเชื้อซ้ำ การป่วยครั้งใหม่ที่มีน้ำมูกนิดหน่อยน่าจะเป็นการป่วยอย่างอื่นมากกว่า เชื้อที่เจอสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นซากของเชื้อไวรัสที่ตรวจเจอ ยังสามารถตรวจเจอได้อยู่ ต่างประเทศสามารถตรวจเจอได้ถึง 30 วัน แล้วเคยมีคนไปเพาะเชื้อว่ามันไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม กรณีนี้น่าจะไม่ใช่การติดเชื้อครั้งใหม่ แต่เพื่อความปลอดภัยก็ให้คนไข้นอนในวอร์ดดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งคำว่าซากคือตัวเชื้อไม่มีชีวิต ไม่สามารถจะแพร่ได้ และกรมการแพทย์จะลองแยกเชื้อจากผู้ป่วยที่หายกลับบ้านแล้วมาศึกษาต่อว่าเพาะเชื้อขึ้นหรือไม่ ถ้าเพาะไม่ขึ้นคือตายแน่นอน”

...

ขณะที่เรื่องการสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าเป็นเวลานาน คงไม่ถึงกับเลือดเป็นกรดอย่างที่มีข่าวช่วงหนึ่ง แต่ถ้าใส่นานๆ ลมหายใจถูกกักในหน้ากาก คาร์บอนคั่ง ก็อาจทำให้เรามีอาการเหนื่อยล้า ง่วงนอนบ้าง ซึ่งถ้าอยู่คนเดียวไม่ต้องใส่หน้าก็ได้ แต่ถ้าไปที่ชุมชนก็ต้องใส่ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องจริงที่สวมหน้ากากนานแล้วเลือดเป็นกรด.