เยียวยาเกษตรกร 9 ล้านครัวเรือนเฮ ลุ้นรับเงิน ‘3 หมื่น’

“คลัง” เล็งจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร 9 ล้านครัวเรือน ลุ้นให้ได้ครอบครัวละ 3 หมื่นบาท เหมือนกลุ่มอาชีพอิสระ หลังเกษตรกรเจอพิษโควิด-19ไม่มีรายได้-ราคาสินค้าตกต่ำ ส่วนเยียวยา 5 พันบาทลอตแรกกว่า 250,000 คนโอนแล้ว ใครโพสต์สร้างความสับสนโดนดำเนินคดี แต่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 2.1 ล้านคนที่ลงทะเบียนไม่ได้เยียวยา เพราะยังโพสต์ขายของได้ ครม.ไฟเขียวชดเชยลูกจ้างโรงแรม-ท่องเที่ยวด้วย ผลสอบหน้ากากชุด ก.พาณิชย์ถึงมือปลัดกระทรวงแล้ว พบช่องโหว่ให้โรงงานแอบขายหลังร้านและมีขบวนการกักตุน สธ.สั่งผู้โดยสารเครื่องบินต้องกักตัว 14 วันทุกคน องค์การเภสัชกรรมจับมือสมาคมสิ่งทอตัดชุด PPE ใช้เอง 4 หมื่นชุด กทม.จับมือหมอแล็บแพนด้าตระเวนตรวจโควิดให้ชาว กทม.ถึงบ้าน เสนอสภา กทม.ขอเงินสำรองดูแลเจ้าหน้าที่ตั้งด่าน ตำรวจดำเนินคดีฝ่าฝืนเคอร์ฟิว 1,021 คน ตักเตือน 135 คน ถูกดำเนินคดีสูงสุดอยู่ในพื้นที่ บช.ภ.7 จำนวน 172 คน

กรณีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยทำท่าจะไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดและติดเชื้อของประชาชนได้ ส่งผลให้ รัฐบาลตัดสินใจประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.ถึง 30 เม.ย. สั่งปิดสถานที่หลายประเภทที่เป็นแหล่งชุมนุมของประชาชนและประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลา 20.00-04.00 น. นอกจากนี้ ยังส่งผลให้บริษัทเอกชนจำนวนมากปิดบริษัทป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้าย สร้างผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก เป็นที่มาของมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ด้วยการให้ลงทะเบียนในเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com  เพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน มีประชาชนเข้าลงทะเบียนรับเงินเยียวยากว่า 20 ล้านคน ต่อมาขยายเวลาให้อีก 3 เดือน

...

ช่วยเกษตรกร 9 ล้านครัวเรือน

ความคืบหน้าจากกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 8 เม.ย. นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ จาก ผลกระทบโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนการให้ความช่วยเหลือและเยียวยากลุ่มเกษตรกร เบื้องต้นมีแนวทางช่วยเหลือเป็นรายครัวเรือน โดยการจ่ายเงินสดเข้าบัญชีธนาคาร เหมือนการช่วยเหลือ กลุ่มลูกจ้าง แรงงาน และอาชีพอิสระ สำหรับตัวเลขกลุ่มเกษตรกรที่จะได้รับสิทธิ์ ฐานข้อมูลเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีประมาณ 9 ล้านครัวเรือน ส่วนจะให้ถึงครัวเรือนละ 30,000 บาทหรือไม่ กำลังดูให้เหมาะสมกับงบประมาณที่มีอยู่

เร่งตรวจสอบข้อมูลซ้ำซ้อน

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ในเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร เบื้องต้นจะจ่ายให้เกษตรกรเป็นรายครัวเรือน จ่ายเงินให้ก้อนเดียวไม่ใช่ให้เป็นรายเดือนแบบเงินช่วยเหลือกลุ่มอาชีพอิสระ เพราะมองว่าช่วงนี้เกษตรกรได้รับผลกระทบหนัก บางรายไม่มีรายได้เลยและสินค้าเกษตรราคาลดลง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ธ.ก.ส.กำลังรวบข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อตรวจสอบว่ามีเกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้กับหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ทั้งหมดเท่าไหร่ เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่ซ้ำซ้อน เนื่องจากบางครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรมหลายอย่าง เช่น ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น จึงขึ้นทะเบียนกับหลายหน่วยงาน ทั้งนี้ คาดว่าจะมีเกษตรกรมีสิทธิ 8-9 ล้านครัวเรือน

ลุ้นให้ได้ถึง 3 หมื่นบาท

นายอภิรมย์กล่าวด้วยว่า เดิมคุยกับกระทรวงการคลังว่าจะจ่ายให้เกษตรกร 15,000 บาทเท่ากับที่จ่ายเยียวยาผู้ประกอบอาชีพอิสระ 3 เดือน แต่ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติจ่ายเงินคนกลุ่มดังกล่าวถึง 6 เดือน เป็นเงิน 30,000 บาท ดังนั้น ธ.ก.ส.เสนอกระทรวงการคลังว่า สามารถช่วยเหลือเกษตรกร 30,000 บาทเหมือนกลุ่มดังกล่าวได้หรือไม่ เรื่องวงเงินช่วยเหลือเกษตรกรใช้วงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อเยียวยาและดูเศรษฐกิจ แผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาวงเงิน 600,000 ล้านบาท ส่วนของเงินช่วยเหลือเกษตรกรต้องดูก่อนว่าเงินที่ใช้ดูแลกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระและด้านสาธารณสุขเหลือเท่าไหร่ ส่วนวิธีการโอนเงิน ถ้าหากเกษตรกรมีบัญชี ธ.ก.ส.อยู่แล้ว หากได้รับสิทธิจะโอนเงินผ่านบัญชี ธ.ก.ส.ให้เลย ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีบัญชี ธ.ก.ส.จะให้ผู้ได้รับสิทธิแจ้งกรอกข้อมูลเลขบัญชีธนาคารอื่นหรือบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชนที่เว็บไซต์ ธ.ก.ส.เพื่อความรวดเร็ว

5 พันลอตแรกมีปัญหาเรียกคืน

นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยว่า สำหรับมาตรการเยียวยากลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 5,000 บาท 6 เดือน รวมเป็น 30,000 บาท วันที่ 8 เม.ย. โอนเงินงวดแรกให้ผู้ได้รับสิทธิ์แล้ว 251,821 คน ส่วนวันที่ 9 เม.ย.จะโอนเงินให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ 641,703 คน และวันที่ 10 เม.ย. จำนวน 503,098 คน ส่วนคนที่โพสเฟซบุ๊กว่า ได้รับเงินจากภาครัฐ แต่ความจริงไม่ได้รับเงินจริง สร้างความสับสนในสังคม ประสานให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส ดำเนินการว่าผิดกฎหมาย กรณีที่สองไม่ได้อยู่ในเกณฑ์เข้าข่ายรับเงินแต่ได้รับเงิน ต้องไปดูว่าระบบมีความผิดพลาดตรงไหน และเรียกเงินคืนภายใน 90 วัน ถ้าคืนเงินจะไม่ดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม การกระทรวงการคลังมีทีมกฎหมายและเจ้าหน้าที่สอดส่องดูแลบนโลกออนไลน์ตลอดเวลา

...

ผู้ค้าออนไลน์ 2.1 ล.ไม่ได้เยียวยา

นายลวรณกล่าวต่อว่า ปัจจุบันขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 24.28 ล้านคน ยกเลิกลงทะเบียนแล้วกว่า 370,000 คน จำนวนนี้มีผู้ผ่านเกณฑ์คัดกรองแล้วรอบแรก 1.68 ล้านคน ชื่อไม่ตรงบัญชี 260,000 คน กระทรวงจะส่งข้อความเอสเอ็มเอสแจ้งให้เข้ามาแก้ไขบัญชีให้เรียบร้อยที่หน้าเว็บ ส่วนผู้ไม่ได้รับสิทธิ์จะมีข้อความแจ้งในวันที่ 11-12 เม.ย.นี้ คาดว่าจะคัดกรองผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 24.28 ล้านคน เพื่อแยกว่ากลุ่มคนที่ลงทะเบียนทั้งหมดอยู่ในประเภทไหนเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้ ระบบแบ่งผู้ลงทะเบียนเป็น 3 กลุ่มคือ สีเขียว กลุ่มที่ผ่านเกณฑ์ สีเทาคือ กลุ่ม ที่ต้องขอข้อมูลเพิ่มเติม และสีแดงกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ส่วนกรณีผู้ค้าออนไลน์ที่กรอกข้อมูลลงทะเบียนในเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com  มากถึง 2.1 ล้านราย แต่ไม่มีผู้ผ่านเกณฑ์เลยแม้แต่คนเดียว

นายลวรณกล่าวว่า หลักเกณฑ์การเยียวยาในครั้งนี้ไม่ครอบคลุมผู้ค้าออนไลน์ เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้สั่งปิดสถานประกอบการหรือร้านค้าออนไลน์ เบื้องต้นผู้ที่ผ่านเกณฑ์ได้รับเงินแน่นอน 3 เดือน ส่วนอีก 3 เดือน รัฐบาลจะดูสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกครั้ง

โรงแรม-ท่องเที่ยวได้เยียวยา

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เม.ย. เห็นชอบหลักการให้ลูกจ้างสถาน ประกอบการโรงแรม ที่พักในระบบประกันสังคมได้รับการเยียวยาชดเชยจากกองทุนประกันสังคมตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดทุกกรณี ทั้งกรณีถูกสั่งปิดโดยรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจปิดกิจการชั่วคราวเองจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า เป็นเหตุอันสุดวิสัยเข้าเกณฑ์การได้รับการชดเชยได้ กระทรวงแรงงานรับไปดำเนินการ สัปดาห์หน้ากระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาจะนำเสนอเป็นเอกสารขอให้ลูกจ้างในธุรกิจนำเที่ยวที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว ได้รับเงินทดแทนจากกองทุนประกันสังคมด้วย ส่วนร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจะเกี่ยวด้วยหรือไม่ ยังไม่มีใครหยิบยกแจ้งมา

...

ขึ้นทะเบียนว่างงาน 5 แสนคน

นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วย รมว.แรงงาน กล่าวถึงการจ่ายเงินชดเชยกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยไวรัสโควิด-19 ว่า เร่งรัดสำนักงานประกันสังคมให้เร่งจ่ายชดเชย ทั้งกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว และกรณีผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน ขณะนี้ขั้นตอนต่างๆเตรียมไว้แล้ว ยังโอนจ่ายเงินไม่ได้เนื่องจากรอให้กฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน ยอดผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนไว้ 500,000 คนอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูล

ผลสอบหน้ากาก ก.พาณิชย์จบแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย ที่นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แต่งตั้ง มีนายสุพพัต อ่องแสงคุณ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว ส่งผลการสอบไปให้นายบุณยฤทธิ์พิจารณาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่มีคำสั่งใดๆออกมา การตรวจสอบดังกล่าวตั้งประเด็นว่า การบริหารจัดการหน้ากากอนามัยของศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย กระทรวงพาณิชย์ ช่วงที่ผ่านมา ที่มีนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีช่องโหว่จริงหรือไม่ จนนำมาซึ่งการกักตุนหน้ากากอนามัย และส่งออก หลังการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ รวมถึงสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพบว่า การดำเนินการของกรมการค้าภายใน ที่ส่งเจ้าหน้าที่กรมและทหารไปเฝ้าโรงงานผลิตทั้ง 11 แห่งตั้งแต่ 07.00-17.00น. เพื่อเช็กสต๊อก ป้องกันไม่ให้โรงงานแอบเอาหน้ากากอนามัยไปขายหลังร้านไม่มีช่องโหว่ แต่หลังจากพ้นเวลาควบคุมตั้งแต่ 17.01 น.พบว่ามีช่องโหว่จริง ส่วนความผิดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของปลัดกระทรวงพาณิชย์

...

กองทุนสตรีพักหนี้ 1 ปี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กล่าวว่า กองทุนมีมาตรการพักชำระหนี้ให้สมาชิกลูกหนี้กองทุนที่เข้าเกณฑ์เป็นเวลา 12 เดือนไม่คิดดอกเบี้ยช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 คุณสมบัติผู้มีสิทธิต้องเป็นสมาชิกกองทุนทั้งประเภทบุคคลธรรมดา และประเภทองค์กรสตรี ที่กู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนเพื่อประกอบอาชีพ ต้องไม่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีชั้นศาล สมาชิกกองทุนที่ถึงกำหนดชำระหนี้ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-30 ก.ย.แจ้งความประสงค์ได้ถึงวันที่ 29 พ.ค.

สรุปผลจับพวกแหกเคอร์ฟิว

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษก ตร. กล่าวว่า การดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินคืนวันที่ 7 เม.ย.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 8 เม.ย. ตำรวจร่วมกับฝ่ายปกครอง ทหาร สาธารณสุข และอาสาสมัครต่างๆ ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และชุดสายตรวจร่วม ทั่วประเทศ 924 จุด ใช้กำลัง 18,793 คน ตรวจค้นบุคคล 27,731 คน ตรวจค้นยานพาหนะ 20,977 คัน ส่วนใหญ่พบว่าเป็นผู้มีเหตุผลและความจำเป็นคือ เป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ขนส่งสินค้าทางการเกษตร การเข้าออกเวรทำงานผลัดกลางคืน และผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านการแพทย์ มีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน และรวมกลุ่มชุมนุม ทั้งสิ้น 1,156 คน ดำเนินคดี 1,021 คน ตักเตือน 135 คน ผู้ถูกดำเนินคดีสูงสุดอยู่ในพื้นที่ บช.ภ.7 จำนวน 172 คน

ห่วง 4 กลุ่มไม่เคอร์ฟิว 24 ชม.

ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก อ้างถึงข้อสั่งการ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ฐานะประธาน ศบค.จะไม่ประกาศห้ามออกนอกเคหสถานตลอด 24 ชม. เนื่องจากเป็นห่วงบุคคล 4 ประเภทคือ 1.คนแก่อยู่ตามลำพัง 2.คนป่วยติดเตียง 3.คนพิการ 4.คนหาเช้ากินค่ำ ส่วนข้อสั่งการของ ผบ.ทบ.ให้แม่ทัพภาค (มทภ.) ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก (ผบ.มทบ.) รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในทัพภาค (รอง ผอ.กอ.รมน.ฝ่ายทหาร) สามารถใช้สัสดีจังหวัด สัสดีอำเภอ ในการขับเคลื่อนการปฏิบัติได้

สธ.–มท.ทยอยแจก N95 ให้ รพ.

พล.อ.ณัฐพลกล่าวต่อว่า สำหรับการตรวจสอบการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยของรัฐบาล วันที่ 8 เม.ย.จะแจกจ่ายหน้ากากของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 4 ล้านชิ้น กระทรวงมหาดไทย (มท.) 1 ล้านชิ้น และวันที่ 9 เม.ย.จะมีหน้ากาก N95 มาจากสิงคโปร์ 2 แสนชิ้น เพื่อแจกจ่ายบุคลากรทางการแพทย์ตามโรงพยาบาล ขอให้รอง ผอ.กอ.รมน.ฝ่ายทหาร หรือสัสดีพื้นที่ บันทึกภาพถ่ายส่งมอบของโรงพยาบาลที่ได้รับเพื่อจะยืนยันว่าใช้จริงจากการตรวจกำลังพลที่ผ่านเข้าออกในหน่วยทหารหลังเวลา 21.00 น.ไม่มีรายงานว่าตรวจพบ ขอให้หน่วยที่รับผิดชอบพิจารณาผู้รับผิดชอบให้เหมาะสมด้วยและขอให้ ผบ.หน่วยทุกหน่วยนำข้อสั่งการของ ผบ.ทบ.ไปศึกษาในรายละเอียดเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

กทม.จับมือหมอแล็บฯตรวจเชื้อ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อ “ผู้ว่าฯอัศวิน” ระบุว่า BKK covid-19 จับมือเพจหมอแล็บแพนด้าตรวจโควิดถึงบ้าน เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และดูแลพี่น้องชาวกรุงเทพฯ กทม.จัดทำเว็บไซต์ BKK covid-19 สำหรับตรวจคัดกรองเบื้องต้น หลังเปิดตัวไปแล้วเมื่อวันศุกร์ มีผู้เข้ามาใช้บริการถึงกว่า 18,000 คนแล้ว เพื่อเป็นการต่อยอดการดูแลพี่น้องประชาชนให้ครบสมบูรณ์มากขึ้น กทม.ร่วมมือกับเพจหมอแล็บแพนด้าให้บริการตรวจวินิจฉัยผู้มีผลการคัดกรองเบื้องต้นเป็นกลุ่มเสี่ยง ส่งหน่วยเคลื่อนที่ออกไป SWAB ให้ถึงที่บ้าน หรือสถานที่ที่ผู้รับการตรวจสะดวก หากผลการ SWAB ออกมาเป็น positive หรือติดเชื้อ กทม.จะส่งเข้าสู่ระบบเพื่อรับการรักษาทันที เพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อด้วยการดึงผู้ป่วยออกมาจากชุมชนและส่งเข้าสู่ระบบการรักษา นอกจากเป็นการดูแลผู้ติดเชื้ออย่างทันท่วงที ยังลดความกังวลพี่น้องประชาชนที่ยังไม่ติดเชื้อด้วย ต้องขอขอบคุณเพจหมอแล็บแพนด้าที่มาร่วมกันทำเพื่อสังคม

ของบดูแล จนท.ตั้งด่าน

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญสมัยที่ 2 ครั้งที่ 1 ประจำปี 2563 ที่ประชุม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หารือเรื่องการขอยืมเงินงบประมาณจากสภากรุงเทพมหานคร มาใช้บริหารจัดการด่านตรวจ คัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร 13 แห่ง 24 ชม. เนื่องจาก กทม.มีข้อจำกัดในบทบัญญัติกรุงเทพมหานครไม่สามารถใช้จ่ายเงินในส่วนนี้ได้ อาทิ ค่าอาหารดูแลเจ้าหน้าที่ที่ประจำด่านตรวจ 3 มื้อ ค่าน้ำดื่ม แม้ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนแต่ไม่เพียงพอ ต่อมา พล.ต.อ.อัศวินเผยว่า การหารือเป็นการเตรียมความพร้อม คาดว่าจะของบ 20-25 ล้านบาท หากเหลือสามารถคืนงบได้ นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยจัดสรรงบประมาณด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่า ด้วยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน 50 ล้านบาทมาแล้ว กทม.นำมาใช้บริหารจัดการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ตั้งด่านวันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย. รวม 35 วัน

ตั้งปลัด คค.คุมคมนาคม-ขนส่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 8 เม.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 7/2563 เรื่อง แต่งตั้งหัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เพิ่มเติม โดยแต่งตั้งปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนคมนาคมและขนส่งทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้สามารถยุติลงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคสามและวรรคสี่ และมาตรา 15 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และจากคำสั่งนายกฯ เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติหน้างาน หัวหน้ารับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

กักตัว 14 วันทุกคนทุกเที่ยวบิน

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า มาตรการขณะนี้จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1.ลดการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ โดยไม่ว่าคนไทยหรือต่างชาติที่กลับมาจากประเทศทุกประเทศ จะไม่ปล่อยให้เดินทางเอง แต่ทุกคนต้องเข้าสู่ระบบการกักตัว 14 วัน ในสถานที่ที่รัฐจัดหาให้ หากป่วยก็นำเข้าการรักษา ทั้งนี้ พื้นที่ที่รัฐเตรียมไว้ขณะนี้มี 1,883 ห้อง แบ่งเป็นสถานที่ของรัฐที่โรงเรียนการบินกำแพงแสน มี 36 ห้อง มีผู้เข้าพักแล้ว 75 ราย อาคารรับรองที่สัตหีบ 100 ห้อง เข้าไปกักตัวแล้ว 283 ราย ส่วนภาคเอกชนมีห้อง 1,747 ห้อง เข้าไปกักตัวแล้ว 307 ราย ยังเหลือห้องไว้รองรับกว่า 1,400 ห้อง

ล็อกพื้นที่เสี่ยง กทม. ตรวจเชื้อทุกคน

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวต่อว่า 2.มาตรการลดการติดเชื้อภายในประเทศด้วยการค้นหาผู้ป่วยและผู้สัมผัสให้เร็ว สถานการณ์ปัจจุบันดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังมีบางพื้นที่มีผู้ป่วยจำนวนมากอยู่ ต้องควบคุมโรคอย่างเข้มข้น เช่น จ.ภูเก็ต ตอนนี้ปิดสถานที่ต่างๆและค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น มีคนต้องกักตัวกว่า 1,500 ราย คาดว่าผลตรวจทยอยออกมาเรื่อยๆ มาตรการนี้ต้องปรับใช้กับบางจังหวัดที่มีคนป่วยจำนวนมาก บางจังหวัดอาจใช้โมเดลอื่น ส่วนกรุงเทพฯตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ แต่การดำเนินการจากนี้คือ เพิ่มการตรวจแล็บเชิงรุก ไม่ใช่การปูพรมทั้งกรุงเทพฯ แต่ทำในพื้นที่ที่ชี้เป้าว่ามีผู้ป่วยจำนวนมาก และจุดเสี่ยงที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ตรวจทุกคนในพื้นที่แม้ว่าจะปกติ เพื่อตรวจจับว่ายังคงมีผู้ติดเชื้อแฝงอยู่หรือหลงเหลืออยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯหรือไม่ จะคำนึงถึงการเคลื่อนย้ายประชากรด้วยทุกคนในพื้นที่ที่ถูกกำหนดต้องตรวจแล็บและห้ามออกนอกพื้นที่

ชดเชยนักรบเสื้อกาวน์ 2 เท่า

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิบัตรทอง เนื่องจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บรรจุโรคโควิด-19 อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดรัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนกรณีบุคลากรสาธารณสุขได้รับความเสียหายจากกรณีโรคโควิด-19 สปสช.มีประกาศให้จ่ายเงินชดเชย มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแล้ว ให้ปรับอัตราช่วยเหลือกรณีติดโรคโควิด-19 2 เท่าจากอัตราเดิม 3 กรณี 1.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายช่วยเหลือตั้งแต่ 480,000-800,000 บาท 2.กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 200,000-480,000 บาท และ 3.กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 200,000 บาท สามารถยื่นคำร้องรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่ สปสช.พื้นที่ภายใน 1 ปี จะมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาต่อไป

สต๊อกหน้ากาก เม.ย. 8.6 แสนชิ้น

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ว่า ในส่วนหน้ากากอนามัย N95 ก่อนหน้านี้ประเทศไทยสั่งซื้อจากบริษัท 3M จำนวน 400,000 ชิ้น ส่งให้ไทยแล้ว 60,000 ชิ้น วันที่ 10 เม.ย. จะส่งให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) 200,000 ชิ้น วันที่ 15 เม.ย. บริษัท สยาม โคเค็น จำกัด ส่งให้ อภ.อีก 100,000 ชิ้น และวันที่ 30 เม.ย. ส่งมาอีก 160,000 ชิ้น ขณะเดียวกันวันที่ 27 เม.ย. หน้ากาก N95 ที่สั่งจากจีนจะมาถึง 400,000 ชิ้น ดังนั้น ในเดือน เม.ย.นี้ ไทยจะมีสต๊อกหน้ากาก N95 ประมาณ 860,000 ชิ้น

ไทยเตรียมตัดชุด PPE ใช้เอง

นพ.โสภณกล่าวต่อว่า ส่วนชุดป้องกันส่วนบุคคล หรือ PPE ประเทศไทยต้องสั่งจากเวียดนาม ที่เป็นบริษัทของสหรัฐอเมริกา 350,000 ชุด ส่งมา ให้แล้วเมื่อเดือน มี.ค. 100,000 ชุด ภายใน 10 เม.ย. จะส่งมาอีก 40,000 ชุด วันที่ 30 เม.ย.จะส่งมาอีก 110,000 ชุด เดือน พ.ค.เข้ามาอีก 100,000 ชุด จากที่สั่งทั้งหมด 400,000 ชุด อย่างไรก็ตาม เรื่องชุด PPE เราต้องหาทางพึ่งพาตัวเองด้วย หารือร่วมกับ สมาคมสิ่งทอไทยผลิตชุด PPE ใช้เอง ใช้ผ้าโพลีเอสเตอร์ 100 เปอร์เซ็นต์เคลือบเทปลอน รายงานว่า มีผ้าในสต๊อกที่ตัดเย็บได้ 40,000 ชุด อยู่ระหว่างตัดชุดต้นแบบทดสอบคุณภาพความทนต่อแรงดันนํ้า ตะเข็บเย็บต้องไม่รั่วและทนต่อแรงดันน้ำเช่นกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบของ รพ.ศิริราช และสถาบันบำราศนราดูร เบื้องต้นพบใช้ซ้ำได้ 20 ครั้ง หากผ่านการทดสอบคุณภาพและการใช้ซ้ำ ทำให้เรามีชุดป้องกันถึง 800,000 ชุด ใช้ภารกิจดูแลผู้ป่วยที่ไม่ใช่ผู้ป่วยหนัก

เมืองพัทยาระดมฉีดฆ่าเชื้อ

นายวิทยา คุณปลื้ม นายก อบจ.ชลบุรี พร้อมคณะผู้บริหารเมืองพัทยา ร่วมปล่อยขบวนรถฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 คัน ตระเวนฉีดพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อบริเวณถนนพัทยาเหนือตรงข้าม ที่ว่าการศาลาเมืองพัทยา จะฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามซอยต่างๆ 42 ชุมชนทั่วเขตเมืองพัทยา ขณะเดียวกันนายอัครพล แสงศรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พร้อมทีมงานจิตอาสาตระเวนขี่จยย.พ่วงข้าง นำยาฆ่าเชื้อไปฉีดพ่นตามสถานที่ต่างๆ ในชุมชน เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนในพื้นที่ให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัส

ก้มกราบถูกจับเคอร์ฟิว

ส่วนการจับกุมผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวในจังหวัดต่างๆ เริ่มที่ จ.สงขลา ตำรวจ สภ.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ สนธิกำลัง ทหาร ฝ่ายปกครอง จับกุมชาย อายุ 35 ปี ขี่รถ จยย.ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวโดยไม่มีเหตุอันควร บริเวณถนนเพชรเกษมหาดใหญ่-รัตภูมิ (สายเก่า) ชายคนดังกล่าวร้องไห้พร้อมก้มลงกราบเจ้าหน้าที่ อ้อนวอนขอให้ปล่อยตัว เพราะไม่อยากถูกจับ แต่ตำรวจควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.ทุ่งตำเสา มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จ.เชียงใหม่ ผู้สื่อข่าวรางานบรรยากาศ บริเวณไนท์บาซาร์ ถนนช้างคลาน เป็นตลาดกลางคืนย่านใจกลางเมือง นักท่องเที่ยวบางตา ส่วนบรรดาร้านค้าปิดก่อนเวลาเคอร์ฟิว ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความเงียบเหงา ขณะเดียวกัน ตำรวจ ทหาร เสริมกำลังขี่รถ จยย.ตรวจตามซอยต่างๆ ป้องกันกลุ่มวัยรุ่นรวมตัวมั่วสุมกัน

สวมหน้ากากพระพุทธรูป

ที่วัดทุ่งตูมคำ หมู่ 1 บ้านนาข่า ต.นาข่า อ.เมือง อุดรธานี พระสงฆ์ร่วมกันตัดเย็บหน้ากากอนามัยแบบผ้า มาสวมให้พระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 5 เมตร สูง 9 เมตร ที่ประดิษฐานอยู่หน้าวัดสร้างความฮือฮาแก่ผู้พบเห็น สอบถามพระอาจารย์ธวัชชัย ฐานิสโร เจ้าอาวาสเปิดเผยว่า พระลูกวัดร่วมกันตัดเย็บ จีวรทำเป็นหน้ากากอนามัยสวมให้พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่หน้าวัด เพราะช่วงนี้มีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มีแนวคิดอยากให้พุทธศาสนิกชน ปลอดภัยไว้ก่อน ทำเป็นตัวอย่างเพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตาม หากใครจะออกนอกบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด