คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ ม.มหิดล และ TCELS มทร.ล้านนา และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ วิจัยพัฒนาหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น รับมือโควิด-19 กันฝุ่น PM 2.5 สามารถซักได้ 30 ครั้ง อีก 2 เดือนขายประชาชนได้
เมื่อวันที่ 17 มี.ค.63 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดเผยว่า คณะฯ ได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 หลังการระบาดเกิดขึ้นที่จีนตั้งแต่เดือน ม.ค.2563 โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยหน้ากากอนามัยโดยร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ในการวิจัยพัฒนานวัตกรรม หน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น (WIN-Masks: Washable Innovative Nano-Masks) เพื่อป้องกันโควิด-19 โดยนำผ้ากันไรฝุ่นศิริราชมาเป็นวัตถุตั้งต้น จนได้นวัตกรรมหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น WIN-Masks ซึ่งตัวหน้ากากมีโครงสร้าง 3 ชั้น ประกอบด้วย 1.ผ้ากันไรฝุ่นศิริราชชนิดทอแน่น เคลือบสารนาโนกันน้ำ 2.ผ้าไมโครไฟเบอร์ผสม ZnO ที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และ 3.ผ้าฝ้ายที่สามารถดูดซับน้ำจากไอจาม ซึ่งผ้า 3 ชั้นทำงานร่วมกัน ทำให้สามารถกรองฝุ่นและละอองฝอยจากเสมหะขนาดเล็กระดับ 2.5-5 ไมครอนได้
...
หน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่นที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ สามารถซักล้างทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 30 ครั้ง และยิ่งซักยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพการกรองได้ดีขึ้น และผ่านการทดสอบคุณภาพมาตรฐานจากห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือ โดยในเบื้องต้นขณะนี้ได้ผลิตลอตแรก 7,000 ชิ้น จะนำไปแจกจ่ายให้บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัด อว.ได้ใช้ช่วง 3 สัปดาห์นี้ พร้อมกับประเมินผล จากนั้นจะเพิ่มจำนวนการผลิตเป็น 1 แสนชิ้น ภายในไม่เกิน 2 เดือน เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชน
ด้าน ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ TCELS กล่าวว่า นวัตกรรมหน้ากากอนามัย WIN-Masks เป็นต้นแบบที่ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานสากลว่าสามารถนำไปใช้จริง ต้นทุนขณะนี้อยู่ที่ 50-60 บาทต่อชิ้น ซึ่งราคาอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับต้นทุนวัสดุ ขณะนี้ได้เชิญชวนผู้มีอุปการะคุณร่วมลงทุน โดยติดต่อ E-mail: hotline@tcels.or.th โทร.0-2644-5499 ต่อ 0
ขณะที่ รศ.ดร.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช กล่าวว่า หน้ากากอนามัย WIN-Masks ควรใช้กับกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการผู้ป่วยทั่วไปทั้งที่ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน และไม่ได้ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร พนักงานเคลื่อนย้าย เจ้าหน้าที่เวชระเบียนประชาสัมพันธ์ การเงิน เป็นต้น กลุ่มบุคลากรที่ต้องให้บริการประชาชนจำนวนมากแบบเผชิญหน้า เช่นพนักงานบนเครื่องบิน คนขับแท็กซี่ พนักงานท่าอากาศยาน เป็นต้น และประชาชนทั่วไปที่ต้องอยู่ในกลุ่มชนหรือพบปะผู้คนจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นอกจากการสวมหน้ากากแล้ว ต้องร่วมกับการล้างมือทุกครั้ง หรือล้างด้วยแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% อย่างน้อย 20 วินาที ก่อนสัมผัสจมูกปากหรือขยี้ตา และการปฏิบัติสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด กินร้อน ช้อนฉัน แยกภาชนะบรรจุอาหาร ไม่ใช้อุปกรณ์การรับประทานอาหารร่วมกัน.