ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร แนะยามนี้ ทุกท่านจะต้องมียาในคือ สติ เพื่อคุ้มครองป้องกันกายใจของเราให้เผชิญหน้ากับโควิด-19 ได้แบบไม่ตื่นตระหนก ชม "ลีเดีย" ตัวอย่างของการมีสติสู้โควิด-19

เมื่อวันที่ 17 มี.ค.63 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่โรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในสังคมไทยและทั่วทุกมุมของโลก นอกเหนือจาก ยานอก ที่จะรักษากายของเราแล้ว สติ จึงเป็น ยาใน ที่จะทำหน้าที่คอยคุ้มครองป้องกันกายใจของเราให้สามารถเผชิญหน้ากับโรคร้ายได้อย่างตื่นรู้ โดยไม่ตื่นตระหนก วิตกกังวลมากจนความคิดติดโรคโควิด ตัวสติจะช่วยเตือนเราให้ตื่นรู้ และพร้อมจะเผชิญหน้ากับโรคร้ายอย่างรู้เท่าทัน ไม่ตื่นตระหนกตกใจไปกับข่าวสารต่างๆ จนเกิดอาการหมกมุ่น และเคร่งเครียดจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ

ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การตื่นรู้ คือ สภาวะของการไม่ประมาท หากแต่พยายามสร้างการตระหนักรู้ว่าที่ใดควรไป หรือไม่ควรเข้าไปหมกมุ่นหรือคลุกคลี อีกทั้งจะทำหน้าที่เฝ้าระวังตัวเองมิให้เป็นพาหะนำโรคร้ายไปสู่ครอบครัว และคนอื่นๆ ในสังคมรอบข้าง รวมไปถึงการหมั่นตรวจตราและสังเกตความผิดปกติที่เกิดกับตัวเอง

"แบบอย่างสำคัญของการใช้สติสู้โรคร้ายโควิด-19 คือโยม ลีเดีย ศรัณย์รัชต์ ดีน ดารานักแสดงสาวที่ติดเชื้อโควิด-19 พร้อมกับสามี แล้วออกมาเตือนผู้คนทั่วไปว่า สิ่งที่สำคัญคือต้องตั้งสติให้ดีที่สุด ในช่วงเวลาวิกฤติแบบนี้ ต้องรับมือและสู้ต่อไป นี่คือแบบอย่างสำคัญของการใช้สติเข้ามาช่วยประคับประคองอารมณ์ ความรู้สึก และจิตของตัวเอง เมื่อเผชิญหน้ากับโรคร้ายที่กำลังคุกคามมนุษยชาติอยู่ทั่วโลกในขณะนี้" พระมหาหรรษา กล่าว

...

อย่างไรก็ตาม บุคคลที่น่าห่วงไม่แพ้กันในขณะนี้ กลับเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ติดโรคร้าย แต่กลับติดกับดักอารมณ์ของโรคร้าย เพราะในใจเต็มไปด้วยความตื่นตระหนกจนขาดการตระหนักรู้ หวาดระแวง วิตกกังวล จิตใจว้าวุ่น อันเป็นผลมาจากการเสพข่าว และกลายเป็นคนป่วยด้วยความคิด ทั้งที่ยังไม่ติดโรคร้าย การมีสติตระหนักรู้ดูแลตัวเอง จึงเป็นการดูแลผู้อื่นในสังคม ทุกอย่างจึงเริ่มต้นจากตัวเรา โดยการเฝ้าระวัง ไม่นำพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่เสี่ยง หรือหากเกิดความผิดปกติก็รีบหาทางป้องกันและรักษาให้ทันต่อสถานการณ์

พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะติดโรคร้ายหรือไม่ก็ตาม สติ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเราให้สามารถรู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึก พิจารณาและเฝ้าดูความเป็นไปของโรคที่เกิดกับกายว่ามีอะไรหรือสิ่งใดผิดปกติ ในขณะเดียวกัน ก็รักษาใจไม่ให้ตระหนก ตื่นกลัว หลังจากนั้น จึงค่อยๆ ใช้ปัญญาคิดหาทางป้องกัน และรักษาอย่างมีสติต่อไป.