รมช.เกษตรฯ ยึดมติคณะ กก.วัตถุอันตราย 23 พ.ค.61 เดินหน้าจำกัดใช้ 3 สาร เตรียมเสนอ ครม. ขอ 400 ล้าน ให้สหกรณ์นำร่องใช้เครื่องจักรกลทำเกษตร ลดการใช้สารอันตราย พบเกษตรกรเพิ่มอบรมได้แค่ 3 แสนราย หวั่นฤดูผลิตป่วนทั่วประเทศ เพราะห้ามขายสารเคมีเกษตรกรที่ไม่มีใบเขียว

เมื่อวันที่ 4 มี.ค.63 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของบประมาณจำนวน 400 ล้านบาท เพื่อให้สหกรณ์การเกษตรกว่า 200 แห่ง จัดหาบริการสมาชิกภายใต้การแนะนำของสำนักเครื่องจักรกลกรมวิชาการเกษตร และยังได้ติดตามวาระการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่จะพิจารณาเรื่องมาตรฐานไอเอสโอ 3 ฉบับที่กระทรวงเกษตรฯเสนอเพื่อจะให้บริษัทผู้นำเข้า ผู้ผลิตสารเคมี ตลอดจนร้านจำหน่าย จะต้องปฏิบัติเพื่อเป็นการคุ้มครองเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อเรื่องนี้ผ่านก็คิดว่า ทุกบริษัทพร้อมดำเนินการเพราะทำมาค้าขายกันมาเป็นร้อยปี ควรที่จะลงทุนเพิ่มเพื่อเกษตรกรและประชาชน

ทั้งนี้ได้ให้ นายสุกรรจ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เข้าพบพร้อมแกนนำเครือข่าย ตามที่ได้ทำหนังสือมา ซึ่งในการหารือตนได้ยืนยันมาตรการที่กำลังดำเนินการคือยึดมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย 23 พ.ค 2561 ที่ให้จำกัดการใช้ 3 สาร คือ พาราควอต ครอล์ไพริฟอส และไกลโฟเซต และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับ เพื่อให้มีการดำเนินการสู่มาตรการจำกัดการใช้ ทราบว่าหลายมาตรการยังไม่มีความคืบหน้า 

"ขณะนี้เรื่องขอ 400 ล้านทำโครงการนำร่องให้สหกรณ์ใช้เครื่องจักรกลการเกษตรลดการใช้ปุ๋ยเสนอแล้วเรื่องอยู่ที่สำนักงบประมาณ เพราะนโยบายไม่ได้มองเฉพาะ 3 สารเคมีที่พูดกัน แต่ดิฉันมองภาพรวมการลดการใช้สารเคมีทั้งหมด และมองถึงระบบการผลิตสารเคมีเกษตรที่ต้องมีมาตรฐานการผลิตที่ดี ดังนั้นเรื่องการแบนตามมติกรรมการวัตถุอันตรายก็จะเป็นโอกาสต่อไป ระหว่างนี้จึงต้องเร่งเรื่องประกาศไอเอสโอ เพราะจะเป็นการกำหนดให้บริษัทเหล่านั้นต้องปฏิบัติและเจ้าหน้าที่จะสามารถตรวจสอบได้ จะไม่มีเรื่องใต้ดินอีกต่อไป ซึ่งขณะนี้หากใครลองให้เกษตรกรไปซื้อสารเคมีที่จำกัดการใช้ และไม่มีเอกสารใบเขียว ดิฉันก็เชื่อว่าจะมีการขายให้ เกษตรกรก็จะซื้อ ไม่อยากให้มีภาพอย่างนี้เกิดขึ้น" น.ส.มนัญญา กล่าว

...

สำหรับประกาศกำหนดให้เกษตรกรผู้ใช้ลงทะเบียนเพื่ออบรมและระบุชนิดพืชและสารที่ต้องการใช้ ซึ่งพบว่ามีเกษตรกรลงทะเบียน 6 ราย แต่มาอบรมประมาณ 3 แสนราย ซึ่งกลุ่มนี้จะมีหนังสือรับรองหรือใบเขียว สำหรับไปสำแดงเพื่อซื้อสารเคมีเกษตรที่จำกัดการใช้ ซึ่งในการหารือ นายสุกรรจ์ ระบุว่า มีเกษตรกรประมาณ 1.7 ล้านราย ในพืชยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลัง จากที่ลงทะเบียนตามประกาศเพียง 6 แสนราย ควรจะอบรมทั้งหมด ซึ่งในเรื่องนี้จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อจะได้หาทางออกรวมกัน ดังนั้นหากไม่เร่งดำเนินการเปิดฤดูทำการเกษตรจะวุ่นวาย

ในขณะที่ร้านค้าสารเคมีต้องมีการขึ้นทะเบียน การแยกประเภทสารเคมี การทำป้ายสินค้าใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศกะทรวงก็พบว่ายังไม่เรียบร้อย และได้ให้กรมวิชาการเกษตรลงไปเข้มงวดกับร้านจำหน่ายสารเคมีปลอม เพราะมีหนังสือร้องเข้ามามากโดยเฉพาะที่นครปฐมได้ให้กรมวิชาการไปตรวจสอบ