ดูเผาขยะ, พนังกั้นน้ำเมืองโอซากา
“รายงานวันจันทร์” มีโอกาสร่วมคณะเดินทางไปศึกษาดูงานที่มหานครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 19–21 ก.พ. นำทีมโดยนายอุเทน ชาติภิญโญ ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จุดประสงค์เพื่อนำนวัตกรรม และสิ่งแปลกใหม่ของดินแดนปลาดิบมาประยุกต์ปรับใช้ในกรุงเทพมหานคร
โดยเฉพาะแบบอย่าง การกำจัดขยะจำนวนมากของเมืองโอซากา (เมืองมีประชากรรองจากมหานครโตเกียว) ที่โรงงานเผาขยะ “Maishima Incineration Plant” ของบริษัทฮิตาชิ โซเซน ซึ่งกำจัดขยะได้ 20 เปอร์เซ็นต์ของเมืองโอซากา
โรงงานขยะแห่งนี้ออกแบบโดยจิตรกรชายชาวออสเตรียมีสีสันฉูดฉาด โดยเฉพาะตัวอาคารมีลักษณะคล้ายสวนสนุก แต่ที่สำคัญกว่าคือมีการสร้างเตาเผาไฮเทคโนโลยี ที่สามารถนำพลังงานความร้อนจากการเผาไปผลิตไฟฟ้าด้วยระบบแรงดันไอน้ำ
นับเป็นโรงงานแห่งแรกในแดนอาทิตย์อุทัยที่ผลิตไฟฟ้าจากขยะได้ เริ่มเมื่อปี ค.ศ.1965 ด้วยแนวคิดจากการนำพลังงานแฝงในขยะมาใช้ก่อให้เกิดประโยชน์ แทนการเอาไปฝังกลบ เพื่อลดมลพิษดินและน้ำที่อยู่ใต้ดิน
...
โรงงาน Maishima Incineration Plant เผาขยะได้ถึง 900 ตันต่อวัน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้กว่า 40 เมกะวัตต์ นำมาป้อนใช้ในโรงงาน ส่วนที่เกินก็ขายให้การไฟฟ้าของเมือง
กระบวนการเผาขยะใช้อุณหภูมิมากกว่า 850 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการไดออกไซด์ ทั้งนี้ ขยะน้ำหนัก 100 ตัน เมื่อเผาทำลายแล้วจะเหลือขี้เถ้าเพียง 5 ตันเท่านั้น จากนั้นนำไปฝังกลบ ถมที่ดิน หรือผสมซีเมนต์รีไซเคิลทำเป็นอิฐบล็อก เป็นต้น
ควันพิษและฝุ่นจากการเผาจะใช้ถุงกรองขนาดใหญ่ฟอกทำความสะอาดขจัดมลพิษ ก่อนปล่อยสู่อากาศเทียบเท่ามาตรฐานของยุโรป ทำให้ปลอดภัยต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม
ที่น่าทึ่ง...โรงงานไม่มีกลิ่นเหม็นของขยะแม้แต่น้อย!!!
เพราะใช้วิธีดูดเอาอากาศภายในโรงงานเข้าไปในเตาเผารวมกับขยะ เนื่องจากการเผาต้องใช้ออกซิเจนเป็นตัวช่วยทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์ จึงใช้เทคนิคนี้ขจัดกลิ่นไปในคราวเดียวกัน
สำหรับประเทศไทยได้รับการเปิดเผยว่า โรงเผาขยะผลิตไฟฟ้าต้นแบบของญี่ปุ่น อยู่ระหว่างก่อสร้างขึ้นที่ จ.ระยอง เผาขยะได้ 300 ตัน ผลิตไฟฟ้าได้ 9.8 เมกะวัตต์ ส่วนโรงเผาขนาดใหญ่ใน กทม. 2 แห่ง อ่อนนุช-หนองแขม ยักษ์ใหญ่จีนคว้าประมูลการก่อสร้างเมื่อเดือน ส.ค.62 มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท เผาขยะได้ 1,000 ตัน
อีกสิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจ คือ พนังกั้นน้ำอัตโนมัติแบบติดตั้งบนบกใช้ป้องกันอุทกภัย นวัตกรรมใหม่ออกแบบขึ้นมีแนวคิดว่า “ต้องไม่ใช้ไฟฟ้า แรงงาน เครื่องจักรกล และต้องไร้คนควบคุม”
จากการทดสอบ เมื่อเกิดน้ำท่วมน้ำไหลเข้าไปในอุปกรณ์แล้ว แผ่นปูนที่อยู่ระนาบเดียวกับพื้นก็จะค่อยๆยกตัวขึ้นเป็นพนังกั้นน้ำทันทีตามปริมาณความสูงของน้ำ โดยใช้ลูกตุ้มเป็นตัวถ่วงกับแรงดันน้ำเป็นตัวดันยกพนังกั้นไว้ไม่ให้ท่วมพื้นที่ภายใน
ระบบสามารถออกแบบให้ใช้ติดตั้งในโรงงานอุตสาหกรรมรับน้ำหนักรถขนาดใหญ่ ที่อยู่อาศัยและบริษัทไม่ให้เกะกะเดินสะดุด แม้แต่สถานีรถไฟฟ้าที่มีบันไดขึ้น-ลง
อีกทั้งเพิ่มขนาดได้สูงถึง 30 เมตร เป็นพนังกั้นน้ำมหึมาใช้ทำแนวป้องกันมหันตภัยคลื่นสึนามิได้ด้วย
พนังยังเหมาะกับสถานที่ที่อยู่ริมแม่น้ำ หากน้ำทะเลหนุน หรือเกิดพายุฝนตกหนักส่งผลให้น้ำท่วม ระบบพนังกั้นน้ำจะทำงานป้องกันน้ำและพับเก็บอัตโนมัติ
ราคาพนังกั้นน้ำขนาดความยาว 5 เมตร สูง 1.25 เมตร ค่าอุปกรณ์สนนราคา 4 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าแรงติดตั้ง
ทว่า...นวัตกรรมและสิ่งดีๆเหล่านี้จะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ หรือประเทศไทยหรือไม่อย่างไร ต้องขึ้นกับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป.
...