กรมชลฯ ย้ำวางแผนบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งเข้ม ย้ำไม่ขาดแคลนแน่
กรมชลฯ วางแนวบริหารน้ำ เพื่อดูแลประชาชนช่วงฤดูแล้ง ปี 63 เข้ม ย้ำทั่วประเทศไม่ขาดน้ำกิน-น้ำใช้ ด้านแนวตะวันออกใช้โครงการข่ายน้ำป้อนพื้นที่
เมื่อวันที่ 1 มี.ค.63 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้มีการบริหารจัดการน้ำ เพื่อดูแลประชาชนป้องกันการขาดแคลนน้ำในภูมิภาคช่วงฤดูแล้งทั่วประเทศ ตามข้อห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยในส่วนภาคตะวันออกและพื้นที่โครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีความกังวลนั้น ในฤดูแล้งของพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด คือ จ.ชลบุรี จ.ระยอง และ จ.ฉะเชิงเทรา จะใช้น้ำประมาณ 540 ล้านบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยเฉพาะ จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และสวนผลไม้ จะใช้น้ำประมาณ 430 ล้าน ลบ.ม. แต่ปีนี้มีน้ำในอ่างเก็บน้ำในทั้ง 2 จังหวัด ประมาณ 390 ล้าน ลบ.ม. ยังขาดอีก 40 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จึงต้องจัดหาปริมาณน้ำส่วนที่ขาดและสำรองเพื่อกรณีฝนทิ้งช่วงถึง ก.ค. กรมจึงได้บริหารน้ำผ่านโครงข่ายน้ำภาคตะวันออก ซึ่งยืนยันว่าจะมีน้ำอุปโภค-บริโภคเพียงพออย่างแน่นอน
"ขอเรียนว่าน้ำในภาคตะวันออกไม่ได้เหลือใช้ 80 กว่าวันอย่างที่มีการนำตัวเลขมาหารกัน กรมคงไม่ปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ทั้งหมดมีการบริหารจัดการ เช่น จะผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จ.จันทบุรี ระหว่างวันที่ 1-25 มี.ค.2563 มาเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ซึ่งเป็นอ่างหลักที่ใช้ในพื้นที่อีอีซี และได้มีการทำข้อตกลงระหว่างกรมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำคลองวังโตนดแล้ว เนื่องจากเป็นการผันน้ำข้ามลุ่มตามกฎหมายใหม่ เป้าหมาย 10 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างคลองประแกดมีปริมาณน้ำ 40 ล้าน ลบ.ม. แต่มีความต้องการใช้ในพื้นที่ราว 15 ล้าน ลบ.ม. จึงไม่กระทบต่อพื้นที่ อย่างไรก็ตามหากมีผลกระทบจะหยุดผันน้ำทันที และผันจากอ่างคลองหลวงรัชชโลธร 10 ล้าน ลบ.ม.มาเติมอ่างเก็บน้ำบางพระ" ดร.ทองเปลว กล่าว
...
นอกจากนั้นที่ประชุมคีย์แมนวอร์รูมซึ่งมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารน้ำภาคตะวันออก ได้ขอความร่วมมือให้ภาคอุตสาหกรรม และการประปาทุกสาขา ลดการใช้น้ำลงกว่า 10% และในส่วนของบริษัท อีสวอเตอร์ ซึ่งเป็นเอกชนที่ผลิตน้ำป้อนภาคอุตสาหกรรมให้ปรับปรุงระบบจ่ายน้ำ และจัดหาแหล่งน้ำดิบสำรองประมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันทุกภาคส่วนยังบริหารน้ำได้ตามแผน สำหรับน้ำในระบบประปาได้มีการวางแผนขอจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง 6 เดือน ไว้ 900 ล้าน ลบ.ม. สำหรับการประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะประปาภูมิภาคทั้งหมด 234 สาขา 62% จะใช้น้ำจากกรมชลประทาน จึงต้องมีการบริหารจัดการอย่างเข้มงวด และได้ให้สำนักชลประทานทุกโครงการหารือกับกปภ.อย่างใกล้ชิดเพื่อให้มีน้ำดิบเพียงพอ และสำรองน้ำในขุมเหมืองต่างๆไว้ด้วย
ด้านการจัดสรรน้ำตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง 2562/63 มีแผนการจัดสรรน้ำทั่วประเทศ 17,699 ล้าน ลบ.ม. (1 พ.ย.62-30 เม.ย. 63) จัดสรรแล้ว 10,996 ล้านลบ.ม.หรือ 62% ในลุ่มเจ้าพระยาแผนจัดสรร 4,500 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันจัดสรรแล้ว 3,043 ล้านลบ.ม.หรือ 68% ณ ปัจจุบัน การบริหารจัดการยังเป็นไปตามแผน และกรมยังได้สำรองน้ำกรณีฝนทิ้งช่วงไว้ ถึงเดือน ก.ค.63 เพื่อเป็นหลักประกันว่าคนไทยจะไม่ขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคอย่างแน่นอน