จากสถานการณ์ "ไวรัสโคโรน่า" สายพันธุ์ใหม่ 2019 (Covid-19) ที่ยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งเชื้อดังกล่าวสามารถแพร่กระจายผ่านสิ่งของต่างๆ ได้ หากบุคคลนั้นๆ ใช้มือสัมผัสสิ่งของแล้วนำมาแตะบริเวณหน้า หรือหยิบอาหารเข้าปาก ก็สามารถติดเชื้อได้เช่นเดียวกับการสัมผัสเชื้อจากผู้ป่วยโดยตรง

ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจำนวนมากจึงมีความกังวลว่า หากมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ไปสัมผัสเงินที่เป็นธนบัตร หรือเหรียญประเภทต่างๆ จะส่งผลให้ผู้สัมผัสเงินคนต่อๆ ไปติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่?

นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้คำตอบกับทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ว่า “มีโอกาสติดเชื้อ” พร้อมให้เหตุผลว่า “ในกรณีที่เราสัมผัสเงิน ก็ไม่ต่างจากการที่เราไปสัมผัสราวบันได หรือ กดลิฟต์ แต่ต้องบอกก่อนว่า โอกาสที่จะติดเชื้อจากการสัมผัสเงินนั้น ค่อนข้างน้อย

“เหตุที่บอกว่ามีโอกาส แต่โอกาสน้อยนั้น เพราะเงินที่ถูกนำออกมาใช้จ่าย จะถูกความร้อนฆ่าตาย และในขณะเดียวกัน โอกาสที่คนจะไอจาม แล้วมีเสมหะติดอยู่บนแบงก์ หรือเหรียญนั้น ถือว่าค่อนข้างยาก

...

“นอกเสียจาก ผู้ติดเชื้อจะไอจาม โดยเอามือป้องปากตัวเอง จากนั้นผู้ติดเชื้อก็เอามือล้วงเข้าไปในกระเป๋าเพื่อหยิบเงินขึ้นมา และส่งเงินนั้นให้กับคนอื่นๆ ในทันที หากเป็นลักษณะนี้ ผู้รับเงินมีโอกาสติดเชื้อแน่นอน”

ส่วนระยะเวลาที่เชื้อไวรัสโควิด-19 จะติดอยู่บนธนบัตร หรือเหรียญ จะนานแค่ไหนนั้น นายแพทย์ขจรศักดิ์ ให้คำตอบว่า “ไม่สามารถระบุเวลาแน่นอนได้ เพราะขึ้นอยู่กับเสมหะที่ติดอยู่บนธนบัตรหรือเหรียญนั้นๆ หากเสมหะหนา และอยู่ในอุณหภูมิไม่สูง เชื้อไวรัสก็จะอยู่ได้นานหลายวัน หรืออาจหลายเดือน

แต่ถ้าเสมหะน้อย เชื้อไวรัสก็จะอยู่ได้ไม่นาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนบัตรหรือเหรียญที่โดนความร้อน เชื้อไวรัสก็จะหายไปได้ภายในไม่กี่นาที หรือภายในไม่กี่วินาที” นายแพทย์ขจรศักดิ์ กล่าว

วิธีการป้องกัน สัมผัสเงิน ไม่ติดเชื้อโควิด-19

นายแพทย์ขจรศักดิ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 และเพื่อช่วยควบคุมสถานการณ์ของโรค ซึ่งมีข้อแนะนำ ดังต่อไปนี้

  • ติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลักปฏิบัติตามคำแนะนำ
  • ล้างมือทุกวัน
  • กินร้อน ใช้ช้อนกลาง
  • ไม่ไปในสถานที่ที่มีความเสี่ยง.