ศาลอุทธรณ์ ตัดสินจำคุก 2 ชายชุดดำพกอาวุธปืนและระเบิดเข้าป่วนการชุมนุมม็อบเสื้อแดง สี่แยกคอกวัว ปี 53 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คนละ 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 - 5 ยกฟ้องแต่ให้ขังไว้ระหว่างฎีกา
เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ศาลอาญา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.4022/2557 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายกิตติศักดิ์ หรือ อ้วน สุ่มศรี ชาวกรุงเทพฯ, นายปรีชา หรือ ไก่เตี้ย อยู่เย็น ชาวจังหวัดเชียงใหม่, นายรณฤทธิ์ หรือนะ สุริชา ชาวจังหวัดอุบลราชธานี, นายชำนาญ หรือเล็ก ภาคีฉาย ชาวกรุงเทพฯ และนางปุนิกา หรืออร ชูศรี ชาวกรุงเทพฯ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 8 ทวิ 55, 72, 78 และข้อหาพาอาวุธปืนไปในเมือง ที่ชุมชน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 จำเลยทั้ง 5 กับพวกที่ยังหลบหนี และพวกที่ถึงแก่ความตายไปแล้ว ได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยร่วมกันพาอาวุธ เครื่องกระสุน และวัตถุระเบิด ที่สามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินให้เกิดความเสียหายได้ อาทิ เครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 ปืนเอ็ม 16 ปืนเอชเค 33 หรือปืนอาก้า ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ ไปตามบริเวณแยกคอกวัว ถนนตะนาว ถนนประชาธิปไตย แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กทม. ซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งในเวลาเกิดเหตุมีการชุมนุมกันของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งวัน เวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานยึดอาวุธสงครามของกลาง กระทั่งวันที่ 11 ก.ย.57 เจ้าพนักงานติดตามจับกุมพวกจำเลยทั้ง 5 ส่งพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดี
...
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ม.ค.60 พิพากษาว่า นายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 1 และนายปรีชา จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 8 ทวิ 55, 72,78 ให้จำคุกคนละ 8 ปี และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง ที่ชุมชน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-5 นั้น พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์
เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวจำเลยที่ 1-2 จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาศาล ส่วนจำเลยที่ 3-5 ได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาล ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 10 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 3-5 แต่ให้ขังไว้ระหว่างฎีกา.