แพทย์ มธ. เผยเจลล้างมือที่ฆ่าเชื้อ โควิด-19 ได้ ต้องมีความเข้มข้น 70% ให้ชัวร์ต้องใช้แอลกอฮอล์ล้างแผลเพราะไม่เข้มข้นมันไม่ตาย เตือนไม่ควรสัมผัสหน้ากากฝั่งสีเข้มหลังสวมใส่ อาจปนเปื้อนเชื้อได้
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2563 สภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้จัดกิจกรรมการบรรยายหัวข้อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 (COVID-19 : Coronavirus Disease 2019) โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ มธ. ท่ามกลางผู้เข้าร่วมกว่า 50 ราย
ดร.นพ.พลวัฒน์ ติ่งเพ็ชร อาจารย์สาขาวิชาจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา สถานวิทยาศาสตร์พรีคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) บรรยายถึงไวรัส COVID-19 ด้วยการอ้างอิงจากงานวิจัยในหลายประเทศ โดยระบุว่า ทุกวันนี้ระยะฟักตัวของไวรัส COVID-19 ยังอยู่ที่ 14 วัน ตามข้อมูลที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การรับรอง ส่วนตัวเลข 24 วันที่มีการพูดถึงกันนั้น WHO แสดงความคิดเห็นว่า มีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากมีผู้ที่ได้รับเชื้อซ้ำ
สำหรับการติดต่อจากคนสู่คน ไวรัสนี้สามารถติดต่อได้ในระยะน้อยกว่า 2 เมตร เรียกว่าติดต่อผ่านทางละอองฝอย แต่เนื่องจากโรคนี้คือ SARS-CoV-2 ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับ SARS-CoV ฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแพร่ระบาดได้มากกว่าทางละอองฝอย แต่ข้อมูล ณ ปัจจุบันยังอยู่ที่ละอองฝอยเท่านั้น
...
นอกจากนี้ ยังพบว่าเชื้อดังกล่าวยังมีอยู่ในอุจจาระด้วย ฉะนั้นวิธีการป้องกันคือ 1. อย่าอยู่ใกล้กับผู้ป่วย ถ้าอยู่ใกล้กันจำเป็นต้องใส่หน้ากาก 2. ล้างมือก่อนสัมผัสอาหาร หรือสัมผัสส่วนต่างๆ ของร่างกายตัวเอง 3. ปิดฝาก่อนกดชักโครก
อาจารย์สาขาวิชาจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา กล่าวต่อว่า แม้ว่า SARS-CoV-2 หรือ ไวรัส COVID-19 จะเป็นไวรัสที่มีเปลือกหุ้ม ซึ่งตามทฤษฎีจัดว่าอ่อนแอ แต่กลับพบว่ามีความสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานและไม่ตายง่ายๆ โดยผลการศึกษาพบว่า ในอากาศ 20 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 50% เชื้อมีอายุได้ถึง 6 วัน หรือจากการทดลองพบว่าเชื้ออยู่บนพลาสติกได้ 9 วัน และอยู่ในเสื้อกาวน์ได้ถึง 2 วัน
“จากการทดลองในต่างประเทศ พบว่าต้องใช้แอลกอฮอล์เข้มข้นเกิน 70% เชื้อถึงจะตาย ขณะที่เอทานอล (Ethanol) ต้องมีความเข้มข้น 70-95% เชื้อถึงจะตาย ฉะนั้นต้องกลับไปดูเจลล้างมือที่เราใช้ว่าเอทานอลเข้มข้นเท่าใด ถ้าเพียงแค่ 50% หรือ 65% คงไม่พอ เชื้อไม่ตาย ส่วนตัวผมใช้วิธีพกแอลกอฮอล์ขวดเล็กๆ ติดตัวตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยได้มาก” ดร.นพ.พลวัฒน์ กล่าว
ด้าน พญ.พาณิภัค กตเวทิวงศ์ หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มธ. กล่าวถึงอาการและแนวทางการรับมือ การรักษา และการป้องกัน COVID-19 ว่า ผู้ที่ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยคือ 1. ผู้ที่ป่วย 2. ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย 3. ผู้ที่เดินทางไปในแหล่งชุมชนหรือพื้นที่ที่มีความแออัด โดยหน้ากากที่แนะนำคือหน้ากากอนามัย อย่างไรก็ตาม การสวมใส่หน้ากากอนามัยต้องสวมและถอดอย่างถูกวิธี ไม่เช่นนั้นประสิทธิภาพในการป้องกันจะไม่ดีเท่าที่ควร โดยก่อนใส่ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง จับตรงหูด้านข้าง หันฝั่งสีเข้มออกด้านนอก บีบลวดตรงจมูก และคลุมให้ถึงคาง
“หน้ากากฝั่งสีเข้มคือฝั่งที่จะสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรง ฉะนั้นเมื่อสวมใส่หน้ากากไปแล้ว ไม่ควรนำมือไปสัมผัสฝั่งสีเข้มอีกเป็นอันขาด โดยเฉพาะตอนถอด หากเราไปสัมผัสจะทำให้มีการปนเปื้อนเชื้อ” หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มธ. กล่าว
พญ.พาณิภัค กล่าวอีกว่า อาการที่สามารถสังเกตได้ในชีวิตประจำวัน คือ ไข้ ไอ เหนื่อย ร่วมกับประวัติที่น่าสงสัย เช่น เดินทางมาจากพื้นที่การระบาด หรือสัมผัสกับผู้ที่มีความเสี่ยง ก็ควรมาพบแพทย์ ซึ่งจากสถิติพบว่าผู้ป่วย 1 คน มีโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นเฉลี่ยแล้ว 2 ราย โดยระยะการแพร่เชื้อผ่านทางละอองฝอยในสภาวะปกติจะอยู่ที่ 6 ฟุต หรือระยะ 2 เมตร สำหรับคำแนะนำ ได้แก่ 1. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นแหล่งระบาดของโรคตามประกาศ 2.หากไปมาแล้วและเพิ่งเดินทางกลับมา ควรหยุดอยู่บ้าน แยกของใช้ และวัดไข้วันละ 2 ครั้ง หากเกิดไข้ ไอ เหนื่อย ให้รีบไปพบแพทย์
...
“อยากให้ประชาชนติดตามสถานการณ์และประกาศอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เนื่องจากสถานการณ์อาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต” หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มธ. กล่าว.