จากกรณีที่มีการสูญเสียศิลปินตลก นายพรหมพัฒน์ พรหมบริรักษ์ หรือที่ใครหลายคนรู้จักในชื่อ เบียร์ แก๊งค์ข้าวปุ้น หรือ เบียร์ ร็อคข้าวปุ้น ซึ่งเสียชีวิตด้วยอาการไตวาย ตามที่รายงานไปแล้วนั้น
ล่าสุด ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เกี่ยวกับ “ไตวาย” ซึ่งเป็นเรื่องราวใกล้ตัวที่น่าสนใจ และไม่ควรมองข้าม โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญ ดังต่อไปนี้
สาเหตุ “ไตวาย”
โดยสาเหตุอันดับหนึ่งของไตวาย คือ เบาหวาน รองลงมา คือ โรคความดันโลหิตสูง และอีกสาเหตุหนึ่งเกิดมาจากการชอบกินอาหารรสเค็ม
ทั้งนี้ คนไทยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่สมดุลกับความต้องการของร่างกาย เช่น กินมากเกินไป, กินอาหารหวาน, เค็ม, ไขมันสูง, ขาดการออกกำลังกาย และความเครียดสะสม ซึ่งโรคดังกล่าวจะมีผลต่อเส้นเลือดไปเลี้ยงไตทำให้ไตขาดเลือด และการกรองของเสียออกจากร่างกายจะมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง จนเกิดปัญหาไตวาย
โดยสถานการณ์โรคไตวายเรื้อรังของประเทศไทย ในแต่ละปีมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจำนวน 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มากกว่าแสนคน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15-20 ต่อปี
สำหรับผู้ป่วยโรคไตนั้น มีหลากหลายสาเหตุและสามารถป้องกันได้ ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ เช่น การควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้ดี แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้ป่วยโรคไตบางคนละเลยการรักษา ทำให้ไตวายอย่างรวดเร็วจนเสียชีวิต
...
อาการ
เมื่อเกิดภาวะไตวาย ร่างกายจะแสดงอาการต่างๆ ดังต่อไปนี้
คลื่นไส้ อาเจียน ร่างกายอ่อนแรง เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ผิวแห้ง คัน ปัสสาวะลดลง ตัวบวม ตาบวม น้ำท่วมปอด หายใจไม่ถนัด นอนราบไม่ได้ ความดันโลหิตสูง มีภาวะซีด เลือดจาง และอาจถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิตได้
การป้องกัน
- ลดกินอาหารรสหวาน รสมัน และรสเค็ม
- ปรุงอาหารโดยไม่ใช้ผงชูรส ผงปรุงรสต่างๆ
- งดเมนูอาหารที่ทำจากของหมักดองเค็ม เช่น หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง ปลาเค็ม ไข่เค็ม เป็นต้น
- เลิกบุหรี่และงดดื่มสุรา
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
“ส้มตำ ยำต่างๆ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป การปรุงอาหารเหล่านี้จะต้องใช้วัตถุดิบปรุงรสเพิ่มขึ้นทั้งเกลือ น้ำตาล ซึ่งจะมีผลทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น เพราะไตทำงานหนักในการกรองเกลือโซเดียมและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย” นพ.อรรถพล กล่าว
การรักษา
1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม - ในการฟอกเลือดแต่ละครั้งต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ชม. และต้องทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
2. การล้างไตทางผนังช่องท้อง - วิธีนี้จำเป็นต้องทำทุกวัน ผู้ป่วยจึงมักทำที่บ้านและเรียนรู้วิธีการทำด้วยตัวเอง
3. การผ่าตัดปลูกถ่ายไต - เป็นการผ่าตัดเอาไตของผู้อื่นมาใส่ไว้ในร่างกายผู้ป่วยเพื่อทดแทนไตเดิม.