คณะกรรมการควบคุมมลพิษ จ่อออกกฎบังคับรถสิบล้อห้ามวิ่ง ถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกในวันคี่ หลังคนกรุงยังอ่วม “ฝุ่นพิษ” ที่ลอยคลุ้งทั่วกรุง พบเกินมาตรฐาน 9 พื้นที่ ระบุวันที่ 16 ม.ค. ค่าฝุ่นสูงอีก เหตุจากความกดอากาศต่ำ กลุ่มนักศึกษาจุฬาฯ ร้องนายกฯ จี้หามาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 นายกฯชมรถตรวจคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ ชี้ฝุ่น PM 2.5 ปัญหามาจากรถปล่อยควันดำมากที่สุด สั่งย้ำตั้งจุดสกัดรถควันดำแก้ฝุ่นละอองเป็นพิษ ด้านป.ย.ป.เปิดตัวแอป “AirCMI” แจ้งเตือนฝุ่นควัน อนุทินดันไอเดียทำงานที่บ้านลดฝุ่น
คนกรุงยังต้องผจญกับสภาวะ “ฝุ่นพิษ” ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและสุขภาพกันต่อไป ทั้งนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเช้าวันที่ 14 ม.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. รักษาราชการแทน ผอ.สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อนำเสนอผลงานการพัฒนาระบบบริหารจัดการปัญหาฝุ่นควันและแอปพลิเคชัน AirCMI ที่ได้มีการนำร่องในพื้นที่ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เพื่อบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พร้อมกันนี้นายกฯได้เยี่ยมชมการทำงานรถตรวจคุณภาพอากาศในบรรยากาศแบบเคลื่อนที่ พร้อมกล่าวว่า เป็นเครื่องมือวัดค่าฝุ่น PM2.5 ที่ได้มาตรฐานเที่ยงตรงสูงสุด วันนี้สัดส่วนค่าฝุ่น PM2.5 ใน กทม.พบมาจากขนส่งทางถนนถึง 72.5% โดยเป็นรถบรรทุก 28% รองลงมารถปิกอัพ 21% อื่นๆ อาทิ การเผาในที่โล่ง อุตสาหกรรม และในครัวเรือน ดังนั้น กลุ่มใหญ่คือบนท้องถนน ต้องมาช่วยกันแก้ไขจากปัญหารถปล่อยควันดำมากที่สุด ตรงนี้ถึงมีการปรับการขนส่งมวลชน อย่างโครงการรถไฟฟ้าเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ส่วนประชาชนต้องสวมหน้ากากป้องกัน
...
ภายหลังประชุม ครม.เสร็จแล้ว ช่วงบ่าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม กล่าวอีกครั้งถึงการแก้ไขปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 ว่า ประชาชนทุกกลุ่มต้องร่วมมือกัน เพราะทุกคนรู้หมดสาเหตุใด อย่างการเผาวัชพืชทำการเกษตรต้องลดการเผาให้ได้ ได้ย้ำขอให้ตั้งด่านจุดสกัดรถปล่อยควันดำให้มากขึ้น รถคันไหนมีปัญหาไม่ให้วิ่งจนกว่าจะแก้ไข รัฐบาลจะหามาตรการเข้ามาช่วยเหลือ ท้ายสุดมาตรการที่รัฐบาลทำได้เต็มที่คือมาตรการทางกฎหมาย ถ้าไปห้ามรถบรรทุกเข้าเมืองแล้วจะเดือดร้อนไหม ดังนั้นขอให้ช่วยกันก่อน
จากนั้นนายศุภฤกษ์ ภู่พงศ์ศักดิ์ ผอ.กองนวัตกรรม สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) แถลงเปิดตัวระบบบริหารจัดการปัญหาฝุ่นควันและแอปพลิเคชัน (AirCMI) ว่า สำนักงานป.ย.ป.ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ กรมควบคุมมลพิษ กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรมอนามัย และกรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกันเสนอผลการดำเนินงานโครงการป้องกันและบรรเทาปัญหาฝุ่นควันและแอปพลิเคชัน (AirCMI) นำร่องในพื้นที่ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ต่อรัฐบาล เป็นต้นแบบการใช้ระบบสารสนเทศบริหารจัดการปัญหาฝุ่นควันอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถวิเคราะห์และประมวลผล ประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางป้องกันและบรรเทาปัญหาในพื้นที่ภาคเหนือ จากนี้จะขยายโครงการนำร่องไปในพื้นที่ จ.หนองคาย สงขลา และ กทม. ทั้งนี้ นายกฯได้สั่งการให้เร่งขยายการผลิตและติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศที่เป็นฝีมือคนไทย
ช่วงเช้า ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ฝั่งสำนักงาน ก.พ. กลุ่มนักศึกษาแนวร่วมกิจกรรม “วันศุกร์เพื่ออนาคต (Fridays for Future)” ประมาณ 20 คน นำโดย น.ส.อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ นิสิตปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เดินทางมาร้องเรียนปัญหาฝุ่น PM2.5 พร้อมกับยื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ให้เร่งออกมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาประจำสำนักงานปลัดสำนักนายกฯเป็นตัวแทนรับเรื่อง โดยกลุ่มนักศึกษาระบุว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังซ้ำรอยเดิม ภาครัฐตอบสนองเฉื่อยชา ต้องควบคุมให้กิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษทุกชนิดหยุดลงทันที สั่งการให้โรงเรียนและสถานประกอบการต่างๆหยุดงานชั่วคราวจนกว่าปัญหาจะทุเลา โรงงานอุตสาหกรรมต้องจัดทำบัญชีระบายมลพิษ ภาครัฐต้องสนับสนุนและอุดหนุนราคาหน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์ฟอกอากาศ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ ต้องออกกฎหมายอากาศสะอาด ต้องแก้ไขการวางผังเมืองให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงการลดปัญหามลพิษทางอากาศ
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีโพสต์ข้อความลงในเพจเฟซบุ๊ก เสนอให้มีการทำงานที่บ้านเพื่อลดการใช้ยานพาหนะและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ว่า ตนเสนอให้ทำงานที่บ้านเพื่อลดจำนวนการใช้ยาน– พาหนะ อยากขอความร่วมมือภาคเอกชนเริ่มต้น ทำให้เป็นตัวอย่างก่อน เช่น วันเสาร์ให้ทำงานที่บ้าน บริษัทจะสามารถลดค่าใช้จ่ายต่างๆได้ด้วย ขณะที่พนักงานจะลดค่าเดินทาง ภาครัฐต้องมาดูว่าจะมีแรงจูงใจอะไรทำได้บ้าง กระทรวงคมนาคมมีแนวคิด จัดจุดจอดรถสี่มุมเมืองเพื่อลดปัญหาจราจร พยายามทำอยู่ การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองหลายฝ่ายต้องร่วมมือกัน
วันเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จำนวน 52 สถานี ตรวจวัดค่าได้ 28-60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม โดยปริมาณฝุ่นละอองในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่จากช่วงเช้า พื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 9 พื้นที่ ได้แก่ ริมถนนลาดพร้าว ซอยลาดพร้าว 95 เขตวังทองหลาง, ริมถนนพระราม 3 เจริญกรุง เขตบางคอแหลม, ริมถนนนวมินทร์ แยก บางกะปิ, ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน, ริมถนนสามเสน เขตพระนคร, ริมถนนพหลโยธิน เขตบางเขน, แขวงคลองเตย เขตคลองเตย, แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ และแขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม
...
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า มวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกจากจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมส่งผลให้หลายพื้นที่ในไทยมีอุณหภูมิลดลง แต่มั่นใจว่าหลังจากนี้ค่าฝุ่นจะไม่พุ่งสูงแตะระดับสีแดง ยกเว้นวันที่ 16 ม.ค. เนื่องจากความกดอากาศต่ำ และหลังจากวันที่ 16 ม.ค. ค่าฝุ่นจะลดลงตามลำดับ เมื่อถามว่า จะมีการส่งข้อความทางมือถือหรือเอสเอ็มเอสให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ที่ไม่สามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันจากทางภาครัฐได้ ทราบเรื่องฝุ่นหรือไม่ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่กรมกำลังหารือกับเครือข่ายมือถือ ขึ้นอยู่กับภาคเอกชนจะทำได้แค่ไหน คาดว่าช่วงกลางเดือนม.ค.-ก.พ. น่าจะมีความคืบหน้าในเรื่องนี้
ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมมลพิษ ครั้งที่ 1/2563 ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะออกเป็นกฎข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักร ว่าด้วยการกำหนดห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ห้ามเดินรถในเส้นทางถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก ในวันคี่โดยเด็ดขาด อนุญาตให้เดินรถในวันคู่ ช่วงเวลา 10.00-15.00 น. แต่จะยกเว้นรถบรรทุกอาหารสด ต้องขอโทษผู้ประกอบการขนส่งที่ได้รับผลกระทบ แต่เนื่องจากปัญหา ฝุ่นละอองส่วนใหญ่มาจากยานพาหนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องออกกฎเพื่อควบคุมปริมาณฝุ่นละอองไม่ให้สูงเกินค่ามาตรฐาน ถือเป็นมาตรการเร่งด่วน เพียง 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวจะบังคับใช้ถึงสิ้นเดือน ก.พ.