การทำงานอะไรก็แล้วแต่ ต้องฟังเสียงสะท้อน ตรวจสอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา...

โดยเฉพาะหน่วยงานตำรวจ ที่เป็นกลไกหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชน ทำให้ต้องคอยปรับปรุงการทำงานให้เข้ากับสภาพสังคมอยู่ตลอด?

รายงานประจำปี 2562 ของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยสถิติเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่เดือน
ม.ค.-ธ.ค.2562 มีการร้องเรียนเข้ามาถึง 727 เรื่อง

และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีชื่อติดชาร์ตถูกร้องเรียนเป็นอันดับต้นๆทุกเรื่อง!

ประเด็นสิทธิที่ร้องเรียนมากที่สุด 3 อันดับแรก 1.สิทธิในกระบวนการยุติธรรม คิดเป็นร้อยละ 29 เช่น กรณีร้องเรียนตำรวจทำร้ายผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยระหว่างจับกุม การไม่แสดงหมายจับ ไม่แจ้งสิทธิผู้ต้องหาหรือดำเนินคดีล่าช้า

ผู้ต้องขังในเรือนจำได้รับการปฏิบัติไม่เป็นธรรม หรือต้องอาศัยอยู่ในสภาพเรือนจำแออัด ไม่มีสุขอนามัย เป็นต้น

หน่วยงานที่ถูกร้องว่าละเมิดสิทธิด้านนี้ ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานในสังกัดกรมราชทัณฑ์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า

อันดับ 2 การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม คิดเป็นร้อยละ 16 เช่น กรณีกำหนดคุณสมบัติตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่นไม่ตรงกับมาตรฐาน มหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศสภาพ และการกำหนดคุณสมบัติห้ามผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เข้ารับราชการตำรวจ

หน่วยงานที่ถูกร้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ส่วนอันดับ 3 สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล คิดเป็นร้อยละ 12 เช่น กรณีนักเรียนถูกบังคับตัดทรงผมที่ไม่เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด การขอให้ลบประวัติอาชญากรรมของเด็กและเยาวชนจากทะเบียนประวัติอาชญากร และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกคุกคาม

...

หน่วยงานที่ถูกร้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ...

จากข้อมูลการร้องเรียนของ กสม.ทั้งหมด “บิ๊กแป๊ะ” น่าจะเอาไปปรับปรุงการทำงานของตำรวจต่อไปนะครับ?.

สหบาท