ศาลยุติธรรมระบุยังจำเป็นต้องใช้กำไลอีเอ็มไว้ควบคุมติดตามตัวผู้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในปี 63 และตลอดไป เพราะเป็นสิ่งที่ใช้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพทั้งฝ่ายจำเลยและผู้เสียหาย เผยเมื่อปีที่แล้ว ศาล 166 แห่ง ใช้กำไลอีเอ็มเฉียด 1 หมื่นราย โดยศาลอาญาสั่งใช้มากที่สุด

ศาลยืนยัน ยังจำเป็นต้องใช้กำไลอีเอ็มควบคุมผู้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. นายปุณณพัฒน์ มหาลี้ตระกูล ผู้พิพากษาในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ควบคุมการปล่อยตัว ชั่วคราวและบังคับตามคำสั่งศาลโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยกรณีมีข่าวในช่วงปลายปี 2562 ว่า อุปกรณ์ควบคุมการติดตามตัวผู้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรือกำไลอีเอ็ม (Electronic Monitoring : EM) ของส่วนราชการในกระบวนการยุติธรรมชำรุดบกพร่องใช้การไม่ได้ และง่ายต่อการทำลายจนมีข่าวลือว่าจะเลิกใช้กำไลอีเอ็มแล้วนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศาลยุติธรรมมีความมุ่งมั่นต่อไปที่จะใช้อุปกรณ์กำไลอีเอ็มในปี 2563 และตลอดไป เพราะเป็นสิ่งที่ใช้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพทั้งฝ่ายจำเลยและฝ่ายผู้เสียหาย เพราะจำเลยที่ยากจนไม่มีเงินประกันตัว ก็ขอใช้อีเอ็มได้โดยไม่มีการเรียกเงินประกันเครื่องคือฟรีทุกอย่าง

นายปุณณพัฒน์กล่าวต่อว่า เพราะหากไม่ได้ประกันตัว จะขาดโอกาสไปทำงานเช่นคดีนักร้องสาวเคยอยากฆ่าตัวตายเพราะไม่มีเงินประกันตัวที่ศาลจังหวัดนนทบุรี หรือกรณีจำเลยต้องการประกันตัวไปหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดี หรือกรณีผู้ต้องหา หากถูกขังก็มีผลกระทบต่อจิตใจเพราะต้องเข้าเรือนจำ ส่วนผู้เสียหายก็ได้รับการคุ้มครองเพราะอุปกรณ์จะแจ้งเตือนถ้าจำเลยเดินทางมาใกล้ๆ จะได้มีการเตือนในคดีทำร้ายร่างกาย หรือเตือนในคดีประมาท เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด หรือออกจากบ้านเวลากลางคืน ออกนอกพื้นที่ห้าม เป็นต้น ส่วนจำเลยที่มีฐานะดี เช่นคดีเสือดำ ก็ใส่กำไลอีเอ็มเพื่อควบคุมการเดินทางออกนอกประเทศได้ แม้ว่าสัญญาณขาดหายก็สามารถติดตามได้ เป็นต้น

...

นายปุณณพัฒน์กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีศาลถึง 166 แห่ง นำอุปกรณ์อีเอ็ม (กำไลอิเล็กทรอนิกส์) ใช้ไปในปี 2562 รวม 9,033 ราย อยู่ระหว่างหลบหนีและติดตามตัวเพียง 141 ราย ศาลอาญาคือศาลที่สั่งใช้อุปกรณ์มากที่สุด ดังนั้น กำไลอีเอ็มจะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ศาลยุติธรรมให้ความสำคัญสิทธิและเสรีภาพประชาชนตามนโยบายของนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา