สัมมนา "open sky 2020" เปิดมุมมองธุรกิจดาวเทียม "ธนพันธุ์" เผย กสทช.จ่อเปิดตลาด เน้นการแข่งขันเสรี-เป็นธรรม หนุนผู้ประกอบการใช้วงโคจรสัญชาติไทย ขณะที่ "เศรษฐพงค์" มองพัฒนาธุรกิจดาวเทียม เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อย่ามองเฉพาะมิติมั่นคง ด้าน 3 ผู้ประกอบการ แนะรัฐคำนึงความอยู่รอดผู้ประกอบการ-ลดเงื่อนไขออกใบอนุญาต 

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.62 ที่โรงแรมสุโกศล กรุงเทพ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดงานสัมมนา เรื่อง Open sky 2020: Opportunities and Challenges โอกาสและความท้าทายในกิจการดาวเทียมของไทย โดยมีนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม ได้แก่ บริษทอีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) รวมถึงภาคประชาชนที่สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนาอย่างคับคั่ง

โดย พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. ให้สัมภาษณ์ก่อนการสัมมนาว่า วันที่ 24 ธ.ค.นี้ กสทช.เตรียมพิจารณาร่างประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียม จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ร่าง ประกาศ กสทช. เรื่องแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม, ร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และร่างประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศไทย ซึ่งผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนและนำความเห็นปรับปรุงเนื้อหา ทั้งนี้หากที่ประชุม กสทช.พิจารณาและอนุมัติ รวมถึงส่งเนื้อหาประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะสามารถบังคับใช้และเกิดการเปิดเสรีด้านดาวเทียมได้ อย่างไรก็ตามสัมปทานดาวเทียมที่ให้ไว้กับบริษัทไทยคม จะหมดสัญญาสัมปทาน อีก 2 ปี ดังนั้นเมื่อเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับกฎระเบียบแล้ว จะสามารถให้ผู้ประกอบการรายใหม่ยื่นดำเนินการตามกฎหมายใหม่ได้ โดยจะได้รับสิทธิผู้ใดที่ยื่นเสนอก่อนจะได้รับพิจารณาการเข้าใช้วงโคจรก่อน ขณะที่ผู้ที่ให้บริการรายเดิมสามารถยื่นเสนอได้เช่นกัน

...

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการเปิดให้สัมปทานวงโคจรดาวเทียม ที่ กสทช.เป็นผู้รับผิดชอบนั้น ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล รวมถึงคำนึงถึงการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งตนเชื่อว่าเมื่อกิจการดาวเทียมเสรีจะทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโตและภาครัฐได้รับประโยชน์สูงสุด

จากนั้นในเวทียังมีช่วงเสวนา เรื่องธุรกิจได้อะไร เปิดเสรีกิจการดาวเทียม โดยมีผู้เชี่ยวชาญและฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามและตรวจสอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ใน กมธ.การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การเปิดธุรกิจดาวเทียม คงไม่ใช่ต้องมองเฉพาะมิติความมั่นคงเท่านั้น แต่ต้องมองในความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย เพราะยุคดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน จากเดิมโดยดาวเทียมที่ใช้ปัจจุบัน จะใช้เฉพาะด้าน เช่น ส่งสัญญาณคลื่นโทรทัศน์, ดูสภาพอากาศ ทำให้ดาวเทียมไม่มีมูลค่าเพราะคนมักจะเลือกช่องทางอื่นๆ เช่น ดูเน็ตฟลิกซ์แทนโทรทัศน์ เป็นต้น ทั้งนี้การพัฒนาการของดาวเทียมและเทคโนโลยีจำเป็นต้องตอบสนองการพัฒนาของเทคโนโลยีร่วมด้วย

"ดิสรับชั่นทางเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่ คนไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่มีใครดูทีวี หรือคนไม่เข้าใช้บริการธนาคาร แต่ผมมองว่าคือการเชื่อมโยงมนุษยชาติ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทุกอย่างเข้าด้วยกัน หากมีคำถามว่าการเปิดธุรกิจด้านดาวเทียม หรือ โอเพ่น สกาย ห่วง และกังวลว่าจะมีคนล้ำเขตอำนาจอธิปไตย แต่ตอนนี้มันอยู่บนหัวเราเต็มไปหมด ส่วนประเด็นของกองทัพต้องเข้าใจบทบาทของตนเอง ตามพ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่กองทัพต้องให้ความสำคัญ และ กฎหมายว่าด้วยกสทช. ไม่ใช่โยนให้กสทช. ไปทำทั้งหมด เพราะกสทช.เป็นหน่วยงานที่ทำตามกฎหมายกสทช.และภายใต้กฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์" พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

ขณะที่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าวว่า หน้าที่ของ กสทช.กำกับกิจการสื่อสารเป็นหลัก แต่รัฐธรรมนูญและกฎหมายมอบหมายให้ กสทช. มีภารกิจดูแลด้านดาวเทียมด้วย ดังนั้นตนมองว่าการเปิดตลาดธุรกิจดาวเทียม จะให้เกิดการแข่งขันได้อย่างเสรี เป็นธรรม เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งนี้เมื่อสัญญาสัมปทานบริษัทไทยคม หมดสัญญาอีก 2 ปี ต้องพิจารณาถึงโรดแม็ปต่อการเข้าใช้วงโคจร สำหรับกิจการอวกาศ มีมติที่มากกว่าโทรคมนาคม คือ มิติบนอวกาศ และมิติภาคพื้นดิน ดังนั้นจะเปิดโอกาสไทยยิงดาวเทียมสัญชาติไทย บริษัทใหม่ที่จะเข้าแข่งขัน ทั้งไทยและต่างชาติ ต้องแข่งขันเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยยิงดาวเทียมประเทศไทยเพื่อบริการประชาชน นอกจากนั้น กรณีที่มีดาวเทียมของต่างชาติที่อยู่ในวงโคจรและบริการภาคพื้นดินให้กับประเทศไทย แต่ไม่เคยได้รับอนุญาตเพราะติดสัมปทาน ดังนั้นในการแข่งขันต้องเปิดโอกาสให้บริษัทของไทยและบริษัทต่างชาติได้แข่งขัน โดยเสมอภาค เท่าเทียม

"รัฐบาลชุดที่ผ่านมาพยายามผลักดัน แต่ยังมีร่างกฎหมายว่าด้วยอวกาศที่ยังไม่ผ่าน ดังนั้นต้องอาศัย ส.ส.ช่วยผลักดัน ทั้งนี้การบริการระหว่างผู้ให้บริการ ต้องเน้นให้เกิดความเชื่อมโยง เพื่อประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ขณะที่การดูแลผู้ประกอบการที่เท่าเทียมและเป็นธรรมกับทุกรายนั้นต้องใช้เวลาในการปรับ ขณะที่เทคโนโลยีบรอดแบรนด์อินเทอร์เน็ต ต้องการให้บริษัทคนไทย ทั้งแคท, ทีโอที เร่งพัฒนาเพื่อให้เกิดการแข่งขันสู้กับต่างชาาติได้" พล.อ.ท.ดร.ธนพันธ์ุ กล่าว 

...

ด้าน นายศมาธร เทียนกิ่งแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัทมิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า ตนสนับสนุนให้กสทช. ออกประกาศ และเสนอให้คำนึงถึงการใช้งานด้านการบริการ เช่น การออกใบอนุญาต ที่มีข้อจำกัดน้อยที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย ทั้งนี้ขอเรียกร้องไปยังภาครัฐออกนโยบายการเปิดพื้นที่ดังกล่าาว

ขณะที่ นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าาหน้าที่บริหารบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าตนอยากเห็นหน่วยงานรัฐบาลเข้าใจ และพยายามมองภาพของการเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วน กสทช.นั้นตนมองว่าเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลเท่านั้น หากนโยบายไม่มองภาพกว้างอาจไม่เกิดการส่งเสริมหรือพัฒนาได้ 

ส่วน ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธ์ุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานตลาดและบริการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท กล่าวว่า ดาวเทียมมีความจำเป็น เพราะเป็นช่องทางที่คนไทยเข้าถึงแหล่งข้อมูล การสื่อสารอย่างเท่าเทียม และทำให้เกิดการเข้าถึงแหล่งความรู้ ดังนั้นเมื่อตระหนักถึงความจำเป็นแล้ว ควรคำนึงถึงการอยู่รอดของผู้ประกอบการด้วย เช่น การพิจารณาให้ใบอนุญาต ค่าธรรมเนียม ที่เท่ากันของผู้ให้บริการด้านคมนาคมแต่ละราย เพื่อไม่ให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น