“รายงานวันจันทร์” ไม่ใช่แค่ช่วยสัตว์ทะเลแต่ช่วยทั้งโลก

80% ของขยะในทะเลมาจากการทิ้งขยะ จากภาคพื้นดินของประชาชน โดยเฉพาะในสังคมเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร เมืองที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาขยะอุดตัน ตามท่อระบายน้ำ และมีขยะในคลองเป็นจำนวนมากที่เกิดจากการ “ทิ้งขยะไม่ลงถัง และการทิ้งขยะลงคลองโดยตรง”

กรุงเทพฯมีคลองทั้งหมด 948 คลอง มีความยาว 1,319,520 เมตร ที่ใช้เป็นช่องทางหลักในการระบายน้ำจากกรุงเทพมหานครลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและลงสู่ทะเล แต่กลับพบปัญหาขยะจำนวนมาก โดยสถิติการเก็บขยะในคูคลองตั้งแต่ ปี พ.ศ.2558-2562 เป็นระยะเวลา 5 ปี ของสำนักงานเขต สำนักการระบายน้ำ และสำนักสิ่งแวดล้อม พบปริมาณขยะที่เก็บได้ถึง 387,261 ตัน

เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องอย่างสรรเสริญ เรืองฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานระบบโทรมาตร สำนักการ ระบายน้ำ กทม. ระบุว่า หากถามว่าขยะในคลอง มาจากไหน มี 2 แหล่ง คือ แหล่งแรกมาจาก ขยะที่หลุดร่วงจากถังขยะ หรือการทิ้งขยะไม่ลงถัง เวลาฝนตก หรือมีลมพัด ขยะจึงลงสู่ ท่อระบายน้ำ เช่น ถุงพลาสติก หลอด แก้วน้ำ พลาสติก ซึ่งเป็นขยะที่พบมากในท่อระบายน้ำ

...

แหล่งที่สองมาจากการทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง โดยตรง ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ต้องทำแพไม้ไผ่ดักขยะ ตามคลองต่างๆ ซึ่งขยะจะไหลมาติดที่แพดักขยะและจะมีเจ้าหน้าที่กองระบบคลองคอยจัดเก็บทุกวัน ซึ่งขยะที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ พลาสติก โฟม หลอดฯ

ขณะที่นักวิชาการ ผศ.ดร.ภาสิณี วรชนะนันท์ หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีและการจัดการ สิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า ขยะพลาสติกเมื่อหลุดรอดไปตามแหล่งน้ำจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและ ระบบห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากพลาสติกสามารถ เสื่อมสภาพ ฉีกขาดและผุพังกลายเป็น “ไมโครพลาสติก” ขนาดเล็ก เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ เช่น เกลือที่เราบริโภคทำจากน้ำทะเล ถ้าน้ำทะเลปนเปื้อนไมโครพลาสติก มีโอกาสที่เราจะบริโภคไมโครพลาสติกเข้าไปด้วย

ทางที่ดีที่สุดในการลดขยะลงไปในทะเลต้องพยายาม “ลด ละ เลิก” การใช้พลาสติก โดยเฉพาะ พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single Use Plastic) เช่น แก้วน้ำพลาสติก หลอดกาแฟ หูหิ้วพลาสติก

ผศ.ดร.จีมา ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาค วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า การแยกขยะ ควรคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและแยกถุงบรรจุขยะแห้งและขยะเปียกออกจากกัน และควรให้ความรู้แก่ประชาชนว่า ขยะที่แยกแล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านใดต่อได้บ้าง เพื่อสร้างแรงจูงใจในการช่วยแยกขยะก่อนทิ้งลงถัง เช่น ขยะเปียกสามารถนำไปหมักปุ๋ย ขยะแห้งสามารถแยกขยะบางส่วน มารีไซเคิลได้ เช่น แก้ว กระดาษ ขวดน้ำพลาสติก หรือแก้วน้ำพลาสติกบางชนิด โลหะ หรือขยะที่มีตรามาตรฐานรีไซเคิล เป็นต้น

ส่วนขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น ขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว แล้วทิ้ง (Single Use Plastic) ได้แก่ ช้อนส้อมพลาสติก แก้วน้ำหวาน พลาสติก ถุงพลาสติก ถุงขนม เจ้าหน้าที่จะนำไปฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล (Sanitary Landfill) และปล่อยให้ย่อยสลายใต้หลุมฝังกลบ ซึ่งใช้ระยะ เวลาเป็นร้อยๆปี ซึ่งขยะประเภทนี้หากลดการใช้ได้จะยิ่งดี หรือวิธีหนึ่งคือ นำไปเผาเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า

ปัญหาดังกล่าว ทำให้ภาคเอกชนหลาย องค์กรได้จัดกิจกรรมรณรงค์การลดการทิ้ง ขยะ แยกขยะ เช่น ล่าสุด ดร.ภญ.จิรวรรณ โอพรสวัสดิ์ ได้จัดโครงการ “โอลด์ร็อคล้านท่าเพื่อ โลก” โดยทีมงานโครงการ “โอลด์ร็อคล้านท่า เพื่อโลก” ได้ลงพื้นที่เก็บขยะ พร้อมเชิญชวนให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ในการจัดการกับปัญหาขยะและทิ้งขยะลงถัง ผ่านกิจกรรมโซเชียลมีเดีย ได้แก่ Facebook Instagram หรือ Twitter ช่องทางใดก็ได้ ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ม.ค.2563 ด้วยการโพสท่าทิ้งขยะลงถังสุดแปลกและติด #OLOROCK ล้านท่าเพื่อโลก โดยการโพสต์รูปทิ้งขยะ 1 ท่า เท่ากับ 1 ช่วย ในการแก้ปัญหาขยะไหลลงสู่ทะเล ทั้งนี้ แบรนด์โอลด์ร็อคจะบริจาค 1,000,000 บาท เพื่อนำไปสนับสนุน กทม.ซื้อเครื่องมือในการจัดการขยะ.