ทำอย่างนี้กับเด็กได้อย่างไร? เมื่อเด็กหญิงวัย 15 ปี ถูกหนุ่มอ้างเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ ล่อซื้อพาตำรวจเข้าจับกุมละเมิดลิขสิทธิ์การ์ตูนดัง พร้อมเรียกเงินค่าปรับ หลังหนุ่มคนเดียวกันโทรมาสั่งให้ประดิษฐ์กระทงและให้ติดรูปตัวการ์ตูนดังไปด้วย เมื่อข่าวโด่งดังออกไป ปรากฏมีอีกหลายคนถูกล่อซื้อด้วยวิธีนี้โดยคนคนเดียวกัน มีการเรียกเงินเพื่อแลกกับการปล่อยตัวไป ดูแล้วน่าจะเข้าข่ายกรรโชกทรัพย์

ก่อนหน้านี้ยังมีผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีอาชีพค้าขายเล็กๆ น้อย ถูกจับละเมิดลิขสิทธิ์สินค้าเป็นจำนวนไม่น้อย สุดท้ายจบที่การจ่ายเงินค่าปรับหลังมีการเจรจาไกล่เกลี่ย จากเงินหลักแสนเหลือหลักหมื่น หรือจากเงินหลักหมื่น เหลือเพียงหลักพันก็มี

...

เพื่อให้รู้เท่าทันในกรณีถูกจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ควรทำอย่างไร เพราะไม่แน่คนที่ทำทีมาล่อซื้อ อาจแอบอ้างหาประโยชน์กับคนจนก็เป็นไปได้ โดยทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ พูดคุยกับ "ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์" ซึ่งได้ให้ข้อเสนอแนะเบื้องต้นที่ควรรู้

  • หากสมมติถูกเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ เข้าจับละเมิดลิขสิทธิ์สินค้า อันดับแรกให้ขอดูบัตรประจำตัวประชาชน และมีหนังสือที่ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่

  • หากมีหนังสือมอบอำนาจ ให้ดูว่ามีเนื้อหาขอบข่ายในการมอบอำนาจครอบคลุมอย่างไร และการเข้าจับกุมส่วนใหญ่จะต้องมีการแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยไม่มีการเรียกเงินใดๆ ทั้งสิ้น 

  • สิ่งสำคัญแม้หนังสือมอบอำนาจเป็นฉบับจริง แต่ต้องดูอย่างรอบคอบว่าหนังสือฉบับนั้นหมดอายุแล้วหรือไม่ รวมถึงในหนังสือมอบอำนาจ มีเบอร์ของบริษัทหรือทนายความ ดังนั้นควรต้องติดต่อสอบถามอีกครั้ง

  • กรณีหนังสือมอบอำนาจเป็นฉบับจริง และยังไม่หมดอายุ แม้ผู้ถูกจับกุมจะมีความผิดจริง อย่ายอมให้มีการตบทรัพย์ อ้างเป็นการไกล่เกลี่ยเพื่อแลกกับการถูกจับกุมอย่างเด็ดขาด ควรไปเจรจายังโรงพักต่อหน้าตำรวจ

  • ต้องดูว่ามีการแจ้งความบันทึกประจำวันจริงหรือไม่ ซึ่งกรณีเด็กหญิงวัย 15 มองว่าตำรวจที่มาร่วมล่อซื้อจับกุมด้วย อาจมีความผิดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มาตรา 157 หากไม่มีการแจ้งความลงบันทึกประจำวัน

  • การจับกุมเด็กวัย 15 ปี หรือเกิน 15 ปี ไม่เกิน 18 ปี ถือว่าอายุน้อยมาก ยังแยกแยะไม่ออก ซึ่งตามกฎหมายอาจไม่ต้องรับโทษ และกรณีหนุ่มเรียกเงินค่าไกล่เกลี่ย มีการข่มขู่ชัดเจน ถือเป็นการกรรโชกทรัพย์ และมีการล่อซื้อที่ใช้เป็นวิธีสกปรกที่สุด

  • ข้อย้ำเตือน ที่ผ่านมาคดีละเมิดลิขสิทธิ์สินค้า ส่วนใหญ่พบว่าจะจบลงที่ศาลเตี้ย มีการไกล่เกลี่ยจ่ายเงินให้เรื่องจบ ดังนั้นหากทำความผิดจริง ควรไปเจรจาที่โรงพักต่อหน้าตำรวจ เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดที่ยอมความกันได้.