ช่วงนี้ท่านที่อาศัยตลอดแนวถนนจรัญสนิทวงศ์ อาจสังเกตเห็นขบวนรถไฟฟ้าวิ่ง เหนือศีรษะไปมาเป็นระยะๆ รถไฟฟ้าที่ว่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-ท่าพระ

เป็นรถไฟฟ้าที่วิ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งกรุงเทพฯ-ธนบุรี โซนพื้นที่ ตะวันตก เส้นทางที่ 3 ถัดจากรถไฟฟ้า BTS และ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค

ถึงตรงนี้หลายคนคงตั้งคำถามว่า แล้วเมื่อไหร่จะได้นั่งจริงๆ วันนี้ “รายงานวันจันทร์” มีคำตอบจากรองผู้ว่าฝ่ายปฏิบัติการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วิทยา พันธุ์มงคล ดังนี้ครับ

-----------

ถาม-รถไฟฟ้าช่วงเตาปูน-ท่าพระมีความ คืบหน้าล่าสุดอย่างไร

วิทยา - ความคืบหน้าโครงการแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ งานโยธาประกอบด้วย โครงสร้างทางวิ่งยกระดับ จากเตาปูน-ท่าพระ ระยะทาง 11 กม. และสถานี 8 สถานี ขณะนี้แล้วเสร็จ 100% อีกส่วนคือระบบการเดินรถ เช่น ระบบควบคุมการเดินรถ ระบบ อาณัติสัญญาณ การจอดรถ การเปิดปิดประตูรถ ซึ่งต้องสัมพันธ์กับประตูสถานี เริ่มทดสอบเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับนำรถไฟฟ้ามา ทดสอบเดินรถจากเตาปูน-ท่าพระ เพื่อตรวจสอบระบบรางด้วยเป็นระยะๆ ซึ่งผลการทดสอบภาพรวมคืบหน้าประมาณ 85% ส่งผลให้การทดสอบเดินรถไฟฟ้าเสมือนจริงมีความพร้อม และเร็วขึ้นประมาณเดือนครึ่ง หรือเริ่มทดสอบได้ราวๆปลายเดือน พ.ย.นี้ ตามแผนเดิมจะเริ่มทดสอบเดินรถเสมือนจริงเดือน ม.ค.2563 และเปิดให้บริการจริงเดือน มี.ค.2563

ส่วนการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าช่วง เตาปูน-ท่าพระ รฟม. ร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า กรุงเทพ จำกัด หรือ BEM วางแผนการเดินรถไว้ 2 รูปแบบคือ เปิดให้บริการเป็นช่วง ช่วงละ 3-4 สถานี ลักษณะเดียวกับช่วงหัวลำโพง-บางแค หรือเปิดเต็มช่วงตลอดเส้นทางจากเตาปูนถึงท่าพระ เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อขอความเห็นชอบรูปแบบการให้บริการตามความเหมาะสม

...

ถาม-ระบบพร้อม พนักงานพร้อมหรือไม่

วิทยา - การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วง บริษัท BEM เปิดรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นพนักงาน จำนวน 1,000 คน ช่วงแรกรับสมัครและเข้ารับการฝึกอบรมแล้วจำนวน 850 คน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านระบบราง และความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ใช้เวลาอบรมประมาณ 1 ปี หลักสูตรการอบรมขึ้นอยู่กับหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละคน

ทั้งนี้ รฟม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการฝึกอบรมด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน พนักงานที่ผ่านการอบรมจะเริ่มลงพื้นที่ปฏิบัติงานในส่วนที่เปิดให้บริการแล้วและส่วนที่เหลือเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้ บริการจริง อย่างไรก็ตาม หากพนักงานไม่เพียงพอ บริษัท BEM จะต้องจัดหาเพิ่มเติมให้เหมาะสม

ถาม-รถไฟฟ้าช่วงเตาปูน-ท่าพระมีเส้นทางอย่างไร

วิทยา - เนื่องจากโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ ตัวสถานีจึงมีรูปแบบเหมือนกัน จะต่างกันตรงจุดทางขึ้นสถานีบางแห่งจะเข้าไปในพื้นที่ที่เวนคืนแทนการลงที่ทางเท้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เริ่มจากสถานีบางโพ ตั้งคร่อมทางแยกจะมีทางขึ้นลงทุกทิศทางและมีทางเดินเชื่อมต่อกับท่าเรือบางโพ ปัจจุบันไม่ได้เปิดใช้งาน อย่างไร ก็ตาม กรุงเทพมหานครจะปรับปรุงก่อสร้างเพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางทางเรือในอนาคต

จากนั้นรถไฟฟ้าจะวิ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านด้านข้างวิทยาลัยเทคโนโลยีพระรามหก เข้าสู่ถนนจรัญสนิทวงศ์ ตรงเข้าสถานีบางอ้อ ใกล้กับ รพ.ยันฮี ถัดไปเป็นสถานีบางพลัด อยู่ใกล้สำนักงานเขตบางพลัด สถานีสิรินธร ตั้งอยู่ใกล้แยกบางพลัด มีทางขึ้นลง 7 จุด สถานีบางยี่ขัน บริเวณหน้าบ้านคุณบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี จากนั้นรถไฟฟ้าจะยกระดับข้ามทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี เข้าสู่สถานีบางขุนนนท์ สถานีไฟฉาย ตั้งคร่อมแยกไฟฉาย ไปยังสถานีจรัญฯ 13 หรือซอยพาณิชย์ธนบุรี สิ้นสุดสถานีท่าพระ ซึ่งเป็นสถานีร่วมเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารที่ประสงค์ไปหัวลำโพง หรือบางแค

สำหรับค่าโดยสารจัดเก็บเท่าเดิม อัตรา 16-42 บาท โดยระยะทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินสายหลักและส่วนต่อขยายรวมกันทั้งสิ้น 48 กม.